พรชัย ฐีระเวช ผู้ปลุกการเงินรากหญ้า
การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินภาคประชาชน ถือเป็นอีกนโยบายที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ที่ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เดินหน้าเรื่องนี้ให้เป็นรูปประธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการตั้งสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน หรือ สพช. ขึ้นภายในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้ง สพช.เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554
พรชัย ฐีระเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและระบบการคลัง ในฐานะผู้อำนวยการ สพช. กล่าวว่า สพช.จะทำหน้าที่เป็นกลถาวรในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับประชาชนฐานรากให้เข้าถึงแหล่งเงินและสวัสดิการควบคู่กันไปเพื่อให้สามารถพึงพาตนเองอย่างยั่งยืนเข้าถึงการให้บริการทางการเงินและสวัสดิการ
“ต้องเป็นการเข้าถึงที่ต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงได้ในเวลาที่ต้องการ มีจำนวนที่เพียงพอ และต้องเป็นต้นทุนการใช้บริการที่ประชาชนสามารถรับได้” พรชัย ระบุ
โดยผู้อำนวยการ สพช. เชื่อว่า หากดำเนินการได้จะเกิดการพัฒนา เรียกว่า “Inclusive Economy” หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกคน
งานสำคัญที่ สพช.ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูแลได้แก่ นโยบายการแก้หนี้ภาคประชาชน ที่เกิดจากการกู้ยืมจากแหล่งเงินทั้งในและนอกระบบ โดยมีแผนงานสำคัญ เช่น การเตรียมการสำหรับโครงการขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 2 เพื่อต่อยอดการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ที่ดำเนินการในปี 2553
การป้องปรามเงินนอกระบบ ป้องกันไม่ให้ประชาชนในฐานราก ถูกฉ้อโกงจากการใช้บริการทางการเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะเน้นการดำเนินงานเชิงรุก ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534
อีกทั้งยังส่งเสริมหรือวางรากฐานแนวคิดในการป้องกันการเกิดหนี้สินที่มากเกินความจำเป็นด้วยการส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเหมาะสมเพื่อให้มีแหล่งเงินทุนในการสร้างรายได้ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออมก่อนที่จะมีการใช้จ่าย พร้อมกับเสริมสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมหรือสวัสดิการชุมชน
แผนงานสำคัญ เช่น การประเมินและเสนอแนะการส่งเสริมประสิทธิภาพของโครงการหมอหนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขหนี้สินนอกระบบการศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่เป็นเกษตรกรอย่างเป็นระบบ
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดับฐานรากของสถาบันการเงินระดับรากฐาน เช่น การพัฒนาการเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ส่งเสริมระบบเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่มีประโยชน์หรือเงินทุนระหว่างชุมชน
นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านสังคมในชุมชน เพื่อช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐที่มีข้อจำกัดด้านภาระงบประมาณ โดยอาจจะร่วมมือกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีฐานนะการเงินมั่นคงและมีโครงการทำประโยชน์เพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) อยู่แล้ว มาร่วมลงขันเพื่อพัฒนาการเงินระดับฐานราก
การส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันรายย่อย หรือ Micro Insurance ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมระบบสวัสดิการบนหลักการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน และจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในปัจจุบันมีกลไกของคณะกรรมการประสานนโยบายกองทุนเพื่อพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนในการจัดหาเงินทุน เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจากกองทุนหมุนเวียนต่างๆ
รวมถึงการจัดทำแผนที่ความต้องการและการให้บริการทางการเงินภาคประชาชน (Microfinance Inclusion Map) เพื่อใช้ในการวางนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลอย่างเป็นระบบ
“เรื่องการทำแผนที่ความยากจนเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือคิดไว้ว่าอยากทำแผนที่ที่สามารถบอกข้อมูลเรื่องของแหล่งเงิน และความต้องการใช้เงิน โดยจะทำสีแยกกันออกมาเลยว่าสีไหนหมายถึงอะไร ซึ่งตอนนี้จะมีทีมวิจัยเป็นอาจารย์จากเชียงใหม่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ข้อดีของแผนที่นี้จะทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและเพียงพอในแต่ละพื้นที่ได้” พรชัย ระบุ
สำหรับการประเมินผลโครงการแก้หนี้นอกระบบรอบแรก ณ สิ้นเดือน เม.ย.2554 มีผู้มาลงทะเบียนโครงการหนี้นอกระบบทั้งสิ้น 1.18 ล้านราย มีมูลหนี้รวม 1.23 แสนล้านบาท
แบ่งหนี้นอกระบบที่เจรจาสำเร็จจำนวน 5.72 แสนราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 5.67 หมื่นล้านบาท และมีการอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 4.31 แสนราย คิดเป็นยอดสินเชื่อ 3.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 74.27% ของจำนวนผู้ที่ประสงค์จะขอกู้จากโครงการ
โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่ เช่น คุณสมบัติของลูกหนี้ ลักษณะของความเป็นหนี้ ความร่วมมือของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ยังไม่มีความพร้อม
อย่างไรก็ดี ในการเตรียมความพร้อมเพื่อลงทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะเริ่มประมาณเดือน ส.ค. 2554 โดยจะมีการสรุปปัญหาและอุปสรรคของการขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 1 เพื่อวางแผนงาน กำหนดกรอบและแนวทางสำหรับการขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบระยะที่ 2 ร่วมหับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พรชัย ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของ สพช. ว่า มีเป้าหมายในการลดจำนวนคนยากจนซึ่งมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน โดยวัดจากเส้นแบ่งความยากจนของคนที่มีรายได้ไม่ถึง 1,586 บาทต่อคนต่อเดือน และคนจนดักดานที่คาดว่ายังมีอยู่อีก 5.8% เมื่อเทียบจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
เนื่องจากยังพบว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาการกระจายรายได้ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีประชากร 20% ที่รวยที่สุดมีรายได้ถึง 54.2% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ประชากร 20% ที่จนที่สุดกลับมีรายได้เพียง 4.8% ของรายได้ สอดคล้องกับการสำรวจของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมในด้านรายได้สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทยมี Gini index = 0.485ณ สิ้นปี 2552
ขณะที่อินโดนิเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่ำกว่า 0.40) ซึ่งขณะนี้ทาง ADB ได้รับตอบรับเรื่องการสนับสนุนไทยในการทำแผนแม่บททางการเงินฐานราก ในด้านวิชาการและเทคนิค โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบการเงินฐานรากจากประเทศต่างๆ เช่น ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีประสบการณ์และเคยประสบความสำเร็จจากการทำเรื่องนี้มาแล้ว เข้ามาช่วยวางแผนและแนวทางการพัฒนาให้กับประเทศไทย
นอกจากนี้ยังพบว่าระบบการเงินระดับฐานรากของประเทศไทยยังมีขนาดเล็กและยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันโดยจากผลการสำรวจของ Economist Intelligence Unit ได้แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากในประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 54 ของประเทศที่มีการสำรวจซึ่งใช้การประเมินจากกฎระเบียบ ข้อบังคับสภาพแวดล้อมการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ให้การสนับสนุนระบบการเงินฐานรากภายในประเทศไทย ถือเป็นอีกเป้าหมายที่ สพช.อยากจะลดอันดับนี้ลงมา
อย่างไรก็ตาม สพช.ยังไม่มีกำหนดเป้าหมายว่าต้องการลดจำนวนคนจนลงเท่าไหร่ เพราะงานที่ทำยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่ สพช.มีการตั้งสโลแกนในการทำงานว่า “การเงินทั่วถึง ครอบครัวเข้มแข็ง เศรษฐกิจยั่งยืน” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจรากหญ้าให้เป็นฐานรากที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไป