กรณีตัวอย่าง"อับดุลรอฟา" กับ 2 มุมมองการฆ่าที่ชายแดนใต้
การเสียชีวิตของ นายอับดุลรอฟา ปูแทน อดีต สจ.ปัตตานี เขต อ.ยะรัง 3 สมัย อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และผู้อำนวยการโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิ กำลังถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ และเหตุผลของการก่อความรุนแรงต่อเนื่องมา
14 ส.ค.2556 นายอับดุลรอฟา ถูกคนร้ายที่มีรถกระบะเป็นพาหนะ ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มจนเสียชีวิตคารถ ขณะกำลังเดินทางกลับบ้านที่ปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เหตุเกิดที่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง ห่างจากบ้านประมาณ 10 กิโลเมตร
19 ส.ค.2556 นายอธิคม อติวงศ์ ครูโรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายที่มีรถกระบะเป็นพาหนะเช่นกัน ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มจนเสียชีวิตคาถนนขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์ออกจากโรงเรียน ในที่เกิดเหตุพบใบปลิวเขียนข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหาร นายอับดุลรอฟา โดยเรียกขานอดีต สจ.ผู้ล่วงลับว่า "ท่าน" ทุกคำ พร้อมประกาศเอาชีวิตคนไทยพุทธหากเกิดการฆ่าชาวมลายูมุสลิมอีก
22 ส.ค.2556 ปรากฏป้ายผ้าถูกนำไปขึงติดไว้ที่หน้า กศน.ยะลา หรือศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.ยะลา เขียนข้อความว่า "อยากรู้มั้ยใครฆ่า อับดุลรอฟา ถามไอ้พวกยิง ยะโก๊ป ซิ...มันรู้ดี"
ยะโก๊ป ที่ถูกระบุถึงในป้ายผ้า คือ นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตย่านจะบังติกอ กลางเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2556 หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจับภาพผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับผู้ต้องหา
นี่คือแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากเหตุการณ์สังหาร นายอับดุลรอฟา เฉพาะที่สังคมรับรู้และมองเห็นได้ เปรียบเสมือนความเคลื่อนไหวบนผิวน้ำ แต่สำหรับ "คลื่นใต้น้ำ" ที่มองไม่เห็นนั้น ดูจะน่าหวั่นสะพรึงยิ่งกว่า!
ครอบครัวปัดรับเงินเยียวยา
17 ส.ค.2556 หลังจากเหตุสังหาร นายอับดุลรอฟา ได้ 4 วัน "ทีมข่าวอิศรา" เดินทางไปที่บ้านของเขาที่หมู่ 4 บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง ปรากฏว่ายังคงมีญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหา และประชาชนทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวร้ายเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของอดีต สจ.อย่างไม่ขาดสาย
อับดุลรอฟาเป็นทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและครูสอนศาสนาที่คนจำนวนมากให้การยอมรับ เขาเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังสอนหนังสืออยู่ที่นั่นนานกว่า 10 ปี ก่อนจะหันเหชีวิตสู่เส้นทางการเมือง เคยเป็น สจ.ถึง 3 สมัย เป็นอดีตประธานสภา อบจ.ปัตตานี ทั้งยังเปิดโรงเรียนสอนศาสนาระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาในหมู่บ้านปูลากาซิง ชื่อโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยนับถือศรัทธาในตัวเขา
น.ส.มูนีเราะห์ ปูแทน ลูกสาวคนโตของอับดุลรอฟา เล่าว่า 4 วันแล้วที่แม่ไม่ได้ออกจากบ้าน เพราะต้องคอยต้อนรับคนที่มาเยี่ยม เนื่องจากอิสลามมีหลักว่าหากสามีเสียชีวิต ภรรยาต้องไม่ออกจากบ้านเป็นเวลา 100 วัน
"การที่ต้องอยู่บ้านทุกวันทำให้ต้องรับเงินเยียวยาเบื้องต้นจากทางอำเภอยะรังโดยไม่ได้ตั้งใจ วันนั้นเจ้าหน้าที่จากอำเภอมาเยี่ยมและมอบของให้ ภายหลังทราบว่าเป็นเงินเยียวยา จากนั้นพวกเราได้หารือกันและสรุปว่าจะไม่รับ เพราะคิดว่าเงินจำนวน 5 แสนบาทไม่สามารถซื้อหรือทดแทนความสุขของครอบครัวได้หลังจากที่พ่อต้องเสียชีวิตไป อีกทั้งเครือญาติก็ถูกยิงตายไปแล้วรวมทั้งพ่อด้วยก็ 3 รายในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน"
เครือญาติของอับดุลรอฟาอีก 2 คนที่เพิ่งถูกยิงและลูกสาวของเขาพูดถึงก็คือ นายตอเละ ปูแทน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปูลากาซิง มีศักดิ์เป็นหลานของอับดุลรอฟา เสียชีวิตเมื่อ 12 เม.ย.2556 กับ นายอิสมะแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ บาบอแห่งปอเนาะปูลากาซิง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าเขยของอับดุลรอฟา เสียชีวิตเมื่อ 25 มิ.ย.ปีเดียวกัน และหากนับคนในหมู่บ้านปูลากาซิงที่ต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยความรุนแรง ก็จะพบข้อมูลน่าตกใจว่ามีผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วมากถึง 15 ราย รวมนายอับดุลรอฟาและเครือญาติ
"พ่อเป็นรายที่ 15 ของคนในหมู่บ้านที่ต้องจบชีวิตลงอย่างไร้ร่องรอยของคนร้าย เจ้าหน้าที่ยังจับกุมใครไม่ได้แม้แต่คนเดียว จึงทำให้ญาติๆ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะรัฐไม่สามารถนำความยุติธรรมมาให้กับชาวบ้านได้มากกว่าการจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกและความมั่นคงของครอบครัวผู้สูญเสีย" น.ส.มูนีเราะห์ กล่าว
พ่อยังอยู่...พ่อยังไม่ตาย
นางอาแอเสาะ ปูแทน ภรรยาของอับดุลรอฟา บอกว่า อยากให้หน่วยงานที่นำเงินเยียวยามาให้ ช่วยกลับมารับเช็คคืนด้วย เนื่องจากครอบครัวไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้
"ถ้าข่าวนี้สามารถส่งไปถึงได้ก็อยากให้รีบมา แม้ที่ผ่านมาแบฟา (อับดุลรอฟา สามี) จะบอกพวกเรามาตลอดให้ดูแลลูกให้ดี เพราะแบฟาต้องอยู่อย่างระวังตัวมาตลอด แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเขาเร็วขนาดนี้"
"วันเกิดเหตุแบฟาได้ไปติดต่อเพื่อขอจดทะเบียนปอเนาะของบาบอ (อิสมะแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ น้าเขยที่ถูกยิงเสียชีวิตไปก่อน) และได้ไปประชุมที่ อ.ยะรัง ฉันเห็นว่า 5 โมงเย็นแล้วยังไม่กลับ ก็เลยโทรไปหาเพื่อจะบอกว่าให้กลับไปเปิดปอซอ (ละศีลอด) ที่บ้านแม่ แต่โทรไปสิบกว่าสายก็ไม่มีการตอบรับ คิดว่าตอนนั้นเขาคงเกิดเหตุการณ์แล้ว" อาแอเสาะเล่าถึงวันที่สามีถูกยิง
วันที่ 14 ส.ค.ซึ่งนายอับดุลรอฟาถูกยิงนั้น แม้จะสิ้นสุดเดือนรอมฎอนไปแล้ว แต่ยังมีช่วงของการถือศีลอดต่อโดยไม่บังคับอีก 6 วันนับจากวันรายอ (วันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน) จากนั้นจึงมีวันรายออีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า "รายอแน" หรือ "รายอหก" ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 15 ส.ค.ตามปฏิทินไทย ฉะนั้นวันที่ 14 ส.ค.จึงเป็นวันถือศีลอดวันสุดท้ายก่อนรายอแน
ด.ช.มูอัซเวส ปูแทน ลูกชายวัย 6 ขวบของอับดุลรอฟา พูดถึงบิดาที่จากไป โดยเขาเชื่อเพราะความเป็นเด็กว่าบิดายังไม่ตาย เพียงแต่ไปอยู่ที่กุโบร์ (สุสาน) เท่านั้นเอง
"พ่อไม่ได้ตาย พ่อยังอยู่กับพวกเรา แต่พ่อไปอยู่กุโบร์ก่อน ผมได้ไปเยี่ยมกุโบร์พ่อทุกวันและวันละหลายครั้งด้วย รู้สึกเสียใจที่พ่อต้องถูกยิง"
"ไอโอ"ของขบวนการฯ
การฆ่า-สังหารผู้คนที่ชายแดนใต้กลายเป็น "วงจร" ของความน่ากลัว เพราะในบางมุมได้ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่าต่อๆ ไป และกลายเป็นมุมมองที่ต่างกันสุดขั้วระหว่าง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มนิยมขบวนการฯ และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือเจ้าหน้าที่รัฐ
กลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสรุปว่า เหตุรุนแรงจำนวนหนึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเป้าหมายที่เป็นคนมลายูมุสลิม ทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา การยิงในมัสยิด และกราดยิงร้านน้ำชา โดยเหตุรุนแรงเหล่านี้เกือบทั้งหมดจับกุมคนร้ายไม่ได้ เมื่อกลุ่มขบวนการฯสรุปเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นความชอบธรรมในการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลามต่อไปเพื่อล้างแค้น
กรณีของอดีต สจ.อับดุลรอฟา ปูแทน คือตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะนอกจากจะถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลของการฆ่าครูอธิคม (ตามใบปลิวซึ่งเชื่อว่าเป็นของฝ่ายขบวนการฯ) แล้ว ยังถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งภาษาทางทหารเรียกว่า "ไอโอ" ด้วยการขึ้นป้ายผ้ากล่าวหารัฐ โยงไปถึงเหตุสังหารผู้นำศาสนาคนสำคัญก่อนหน้านี้ด้วย โดยหวังผลให้ประชาชน "ผู้รับสาร" เชื่อว่าทั้งหมดคือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายรัฐนั่นแหละคือต้นเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องขับไล่ทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ไป
การก่อเหตุรุนแรงในลักษณะของการ "แก้แค้น-ตอบโต้" นี้ ยังถูกนำมาใช้เมื่อเจ้าหน้าที่กระทำวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยจากปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นแล้วมีการยิงปะทะกันด้วย
ความเชื่อของ จนท.รัฐ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมุมมองที่ว่าทั้งหมดนี้คือ "ยุทธวิธี" ของกลุ่มขบวนการฯ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำนั้น จริงๆ แล้วฝ่ายขบวนการฯอาจจะทำเสียเองด้วยเหตุผลความขัดแย้งภายใน หรืออาจเป็นการฆ่าด้วยสาเหตุอื่น เช่น ขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมคนร้ายไม่ได้ ก็ฉวยโอกาสสวมรอยกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำเสียเลย ซึ่งกลุ่มขบวนการฯก็จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของความชอบธรรมในการดำรงความรุนแรงต่อไป และในแง่ของปฏิบัติการ "ไอโอ" โจมตีลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายรัฐด้วย
แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่รัฐคิดในมุมนี้...พิจารณาได้จากคำแถลงของ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ทั้งกรณีการสังหารนายอับดุลรอฟา การสังหารครูอธิคม และการฆ่า นายฮูมัยดี มูซอ อุสตาซโรงเรียนมุสลิมชุมชนอิสลามศึกษา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 21 ส.ค.
หากกล่าวเฉพาะคดียิงถล่มอดีต สจ. โดยตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ จะพบแง่คิดในมุมเดียวกันนี้อย่างชัดเจน...
พ.อ.บุญสิน พาดกลาง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 รับผิดชอบพื้นที่ อ.ยะรัง กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า อดีต สจ.เคยโดนคดีความมั่นคง แต่นานมาแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกลอบยิงครั้งนี้ สาเหตุน่าจะมาจากเรื่องการเมืองมากกว่า เพราะกำลังจะสมัครลงเล่นการเมืองอีกรอบ มีข่าวว่าจะลงนายก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องสร้างสถานการณ์
ขณะที่ พ.ต.อ.วสันต์ พวงน้อย ผู้กำกับการ สภ.ยะรัง ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้คดียังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้สอบถามญาติผู้ตายเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ แต่ยังระบุตัวคนร้ายไม่ได้ ทราบเพียงว่าคนร้ายใช้รถกระบะยี่ห้อมิซูบิชิ สีดำ ส่วนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ในละแวกที่เกิดเหตุก็ไม่สามารถใช้การได้ เพราะถูกวางเพลิงเผาจนหมดเกลี้ยง คงต้องรอผลตรวจปลอกกระสุนปืนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
และการเผาทำลายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เจ้าหน้าที่ก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการฯเช่นกัน ทั้งหมดจึงเป็นการวางแผนที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง...
2 ทฤษฎีไขปม"ฆ่า"
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้นานหลายปี และได้พูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมขบวนการฯ ตลอดจนผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวนนับพันคน เขายืนยันว่าปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนการฆ่าและคดีคาใจต่างๆ มาจาก 2 ปมเหตุใหญ่ๆ กล่าวคือ
1.การแก้แค้นของลูกหลานคนที่ถูกอาร์เคเคสังหาร (อาร์เคเค หมายถึงหน่วยรบขนาดเล็กของกลุ่มขบวนการฯ) ลูกหลานเหล่านี้ก็เป็นคนมลายู แต่พ่อหรือคนในครอบครัวถูกอาร์เคเคฆ่าโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เมื่อลูกหลานของคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาก็คิดแก้แค้น แต่ไม่มีโอกาส ฉะนั้นเมื่อรัฐเปิดรับคนในพื้นที่เข้าไปเป็นทหารพราน หรือ อส. (อาสารักษาดินแดน) ลูกหลานที่สะสมความแค้นอยู่ในใจก็สมัครทันที เพราะจะได้รับการฝึกยุทธวิธีและได้ถือปืนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วก็ใช้ปืนนั้นไปแก้แค้น
"เขาไม่รู้หรอกว่าใครฆ่าพ่อของเขา แต่เขารู้ว่าคนในหมู่บ้านคนไหนที่เป็นแนวร่วมคอยช่วยเหลือ ให้พี่พักกับอาร์เคเค หรือพาอาร์เคเคหนี คนกลุ่มนี้ซึ่งกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้วก็ไปตามฆ่า ตามเก็บ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องนโยบาย หากกองทัพจับได้ก็จะปลดทุกราย และดำเนินคดีไม่มีละเว้น ซึ่งเรื่องแบบนี้มีอยู่จริง และถ้าทำก็ปิดกันไม่อยู่ เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีมาก ก็จะคอยจับตากันเอง"
2.การตามเก็บคนที่หันหลังให้กับขบวนการฯ โดยได้รับการยืนยันว่าฝ่ายขบวนการฯเปลี่ยนนโยบาย จากเดิมที่อาร์เคเคหรือแนวร่วมรายใดต้องการออกจากขบวนการฯก็สามารถออกได้ และไม่มีใครไปทำอะไรตราบเท่าที่ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐ ทว่าปัจจุบันนโยบายนี้เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากขบวนการฯถูกเปิดตัวว่าคือ "บีอาร์เอ็น" ทำให้ "เสียลับ"
"พอขบวนการฯถูกเปิดตัว ก็อาจทำให้แนวร่วมบางกลุ่มไม่ยอมทำงานต่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยโดนคดีความมั่นคง เคยติดคุก ซึ่งภาษาในกลุ่มขบวนการฯเรียกว่า 'ไปพักผ่อน' เมื่อพวกนี้พ้นโทษออกมา หรือคดียกฟ้อง ก็ไม่อยากทำงานต่อแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเมีย มีลูกเล็กๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะขบวนการฯเองก็ไม่เคยช่วยเหลืออะไร ซึ่งเมื่อก่อนฝ่ายขบวนการฯไม่ว่าอะไร แต่ปัจจุบันเมื่อองค์กรเสียลับจากการพูดคุยสันติภาพ จึงยอมไม่ได้หากจะออกจากขบวนการฯ ก็ต้องตามเก็บกัน นี่คือสาเหตุที่ให้เกิดการฆ่า โดยเฉพาะในกลุ่มอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง" พล.อ.สำเร็จ อธิบาย
ทำไมชาวบ้านไม่เชื่อ?
ทฤษฎีของฝ่ายรัฐมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์รองรับตามสมควร อย่างเช่น ผลตรวจปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิง 3 กรณีสำคัญ คือ นายตอเละ ปูแทน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นหลานของนายอับดุลรอฟา, นายอธิคม อติวงศ์ ครูโรงเรียนบ้านประจัน และนายฮูมัยดี มูซอ อุสตาซโรงเรียนมุสลิมชุมชนอิสลามศึกษา ได้รับการยืนยันแล้วว่าถูกยิงจากปืนกระบอกเดียวกัน
แต่ปัญหาก็คือชาวบ้านเชื่อข้อมูลของเจ้าหน้าที่หรือเปล่า เพราะการสู้รบที่ชายแดนใต้เนื้อแท้แล้วก็เป็น "สงครามแย่งชิงมวลชน" ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นแม้จะมีพยานหลักฐานยืนยัน แต่หากชาวบ้านไม่เชื่อ ก็แทบจะไร้ประโยชน์
นายอับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า เรื่องการแก้แค้นกันเองของคนในพื้นที่จนทำให้เกิดวงจรการฆ่านั้น มีความเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีมิติที่ซับซ้อน ที่สำคัญไม่ค่อยถูกพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่รัฐให้รู้ดำรู้แดงว่าเกิดจากการกระทำของใคร แล้วขยายให้สังคมได้รับรู้ เมื่อไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นกันชัดๆ คนจึงเชื่อข่าวในแง่ลบของเจ้าหน้าที่มากกว่า
"หลายๆ ครั้งชาวบ้านเองก็รู้อะไรว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าเรื่องไหนที่พูดไปแล้วเป็นบวกกับเจ้าหน้าที่ ก็มักจะเลือกอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าเรื่องไหนเป็นลบ ก็จะยิ่งประโคมให้กลายเป็นเงื่อนไข ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในพื้นที่มีชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมของขบวนการฯจำนวนไม่น้อยซึ่งพร้อมจะปล่อยข่าวทำลายเจ้าหน้าที่ ประกอบกับสภาพจริงในพื้นที่ที่มีตำรวจ ทหารมากมาย มีด่านตรวจเต็มไปหมด แต่เวลาเกิดเหตุกลับไม่สามารถสกัดจับคนร้ายได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้ไม่เห็นกับการสังหาร
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเกือบทุกเหตุการณ์ ฝ่ายที่กระทำมีกระบวนการตรวจสอบพื้นที่ก่อน และฉวยจังหวะที่เจ้าหน้าที่เปิดช่องโหว่...ไม่ว่าจะเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนเวร การเปลี่ยนจุดตั้งด่าน หรือแม้แต่การเทกำลังไปรักษาความปลอดภัยบางจุดเป็นพิเศษ...เพื่อลงมือในช่วงเวลานั้น แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้สังเกตพื้นที่อย่างละเอียดก็จะทราบ และตัดสินจากสภาพที่เคยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ รปภ.อยู่ตามถนนเต็มพื้นที่ แต่ทำไมจึงยังเกิดเหตุได้
ชาวบ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา รายหนึ่ง พูดเหมือนชาวบ้านอีกหลายๆ คนว่า พวกเขาไม่เชื่อเรื่องคนในขบวนการฯตามเก็บกันเอง เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่คนที่สั่งเก็บน่าจะเป็นฝ่ายรัฐมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่รู้สึกไม่พอใจมาก
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้ว่า ปัญหาหลักคือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ อย่างเช่น อิหม่ามยะโก๊ป ทำให้ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐลดต่ำลง
ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ต้องคลี่คลายให้ได้โดยเร็วที่สุด!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายผ้าเขียนข้อความตั้งคำถามถึงการสังหาร นายอับดุลรอฟา ปูแทน อดีต สจ. 3 สมัยของ จ.ปัตตานี ซึ่งมีการนำไปโยงกับเหตุคนร้ายยิง นายยะโก๊ป หร่ายมณี ผู้นำศาสนาคนดังที่ถูกยิงเสียชีวิตก่อนนายอับดุลรอฟาเพียง 9 วัน