4 จุดอ่อน 40 วันหยุดยิง
ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี พ.ศ.2556 ซึ่งตั้งขึ้นโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ในห้วงลดเหตุรุนแรง 40 วันตามข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ
กรอบเวลา 40 วันนับจากวันที่ 10 ก.ค.2556 ซึ่งเป็นวันแรกของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม จนถึงวันที่ 18 ส.ค.2556 ซึ่งจะครอบคลุมเดือนรอมฎอนทั้งเดือน และต่อเนื่องถึงเดือนเซาวาล หรือเดือนต่อจากเดือนรอมฎอนอีกราว 10 วัน
รายงานดังกล่าวสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
@ สถิติเหตุการณ์รุนแรง เกิดเหตุจำนวน 79 ครั้ง ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยน้อยกว่าปีก่อนๆ โดยลดลงร้อยละ 25.26 (อัตราเฉลี่ยในรอบ 10 ปี เกิดจำนวน 105.70 ครั้ง)
@ สถิติการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรง มีจำนวน 29 ราย ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยน้อยกว่าปีก่อนๆ ในรอบ 10 ปี โดยลดลงร้อยละ 35.26 (อัตราเฉลี่ยในรอบ 10 ปี มีจำนวน 44.80 ราย)
@ สถิติการเสียชีวิตเฉพาะที่เป็นประชาชน มีจำนวน 9 ราย ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีอัตราเฉลี่ยลดลงร้อยละ 68.85 (อัตราเฉลี่ยในรอบ 10 ปี มีจำนวน 28.90 ราย)
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่หลังริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (28 ก.พ.2556) สามารถแยกสถานการณ์ออกเป็น 4 ช่วงเวลา ได้แก่
1.ช่วงภายหลังการลงนามความร่วมมือการพูดคุยสันติภาพ ถึงก่อนเดือนรอมฎอน (ระหว่าง 28 ก.พ.ถึง 9 ก.ค.2556) เมื่อเทียบเคียงกับห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ พบว่าสถิติการก่อเหตุร้ายเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการสูญเสียลดลง โดยในกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ในขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ถูกโจมตีมากขึ้น
2.ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอน (ระหว่างวันที่ 10-16 ก.ค.2556) มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง นับเป็นปรากฏการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 10 ปี
3.ช่วงสัปดาห์ที่สองและสามของเดือนรอมฎอน (ระหว่าง 17-30 ก.ค.2556) มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น 13 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสถิติที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2555 ที่เกิดเหตุรุนแรงรวม 30 ครั้ง
4.ช่วงวันที่ 31 ก.ค.2556 เป็นต้นมาถึงสิ้นสุดข้อตกลงลดเหตุรุนแรง 18 ส.ค.2556 เกิดเหตุรุนแรงในความถี่สูงมาก เหตุผลน่าจะมาจากวงจรของการตอบโต้ความรุนแรงจากเชื้อของเหตุการณ์ใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เช่น การตอบโต้จากฝ่ายบีอาร์เอ็นซึ่งอ้างว่ามาจากการยั่วยุจากฝ่ายรัฐ การก่อเหตุของกลุ่มที่ต้องการบ่อนทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือกองกำลังของกลุ่มที่เห็นต่าง และเหตุจากอาชญากรรมปกติที่เป็นภัยแทรกซ้อนซึ่งยังสืบหาผู้กระทำผิดไม่ได้
เหตุการณ์ในช่วงที่ 4 ดังกล่าวมีผลทำให้สถิติการก่อเหตุในห้วงเวลา 40 วันของข้อตกลงหยุดยิง มีอัตราเฉลี่ยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2555
สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ ประชาชนทุกกลุ่มทั้งไทยพุทธ มุสลิม ขานรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ขณะที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนก็มีกระแสตื่นตัวมากขึ้่นในการแสดงบทบาทของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) กับสถานการณ์ความขัดแย้ง และต้องการให้ฝ่ายรัฐกดดันกลุ่มผู้เห็นต่างให้ลดการใช้ความรุนแรง ด้านสื่อมวลชนก็เปิดพื้นที่ข่าวสนับสนุนบรรยากาศการพูดคุย
อย่างไรก็ดี การดำเนินการทั้งหมดพบจุดอ่อนและข้อจำกัด ดังนี้
1.การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในเรื่องหลักการของการยุติความรุนแรงห้วงรอมฎอนตลอดจนกระบวนการพูดคุยสันติภาพยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้โอกาสในการสร้างปัจจัยสนับสนุนบรรยากาศการพูดคุยและการลดความรุนแรงยังไม่เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
2.มีความเห็นที่ยังไม่ตรงกันของแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการคงอยู่ของปฏิบัติการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่มที่ยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการพูดคุย
3.การตีความที่อาจไม่ตรงกันเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่น การปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ หรือการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากเหตุปะทะด้วยกำลัง ซึ่งความเข้าใจของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นคนละแบบกับเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้วงจรของความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งหลังความสงบในช่วงเริ่มต้นของรอมฎอน
4.การที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้จัดตั้งกลไกประสานงานในลักษณะ real time หรือการติดต่อสื่อสารแบบ hotline ทำให้การป้องกันความเข้าใจผิดมีข้อจำกัด และความหวาดระแวงต่อกันขยายตัว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่ปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 9 ส.ค.2556 และจบลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหากับผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เป็นประเด็นหนึ่งที่ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนฯ ชี้ว่าเป็นการตีความที่อาจไม่ตรงกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ กระทั่งส่งผลให้วงจรความรุนแรงปะทุขึ้น