พลิกฟื้น...ทำนาบนเกาะสมุย ก่อนเหลือไว้แค่ตำนาน !
จากไร่นา... สู่สวนไม้ผล แปรเปลี่ยนเป็นไร่ยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ไล่เรียงมาถึงรีสอร์ต โรงแรมหรูและสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลจากการรับรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของ 'เกาะสมุย' จ.สุราษฎร์ธานี ไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของคนสมุยที่ต้องปรับตามเช่นกัน...
หากกล่าวถึง 'เกาะสมุย' ณ ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่คืบคลานเข้ามาในวิถีชีวิตคนที่นี่ จึงไม่แปลกนักที่พื้นที่นาจะกลายสภาพเป็นสวนพืชเศรษฐกิจ ทั้งมะพร้าว ทุเรียน เงาะ รวมถึงพืชเชิงเดี่ยวอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน แม้กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ปลูกสร้างรีสอร์ตหรือโรงแรม จนแทบไม่เหลือพื้นที่นาข้าว ทั้งๆ ที่เกาะสมุยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เคยมีที่นานับพันไร่
"เมื่อ 30 ปีก่อน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ยังทำนาเป็นหลัก มีทั้งนาดำ ในที่ลุ่ม และนาไร่ในที่ดอน มีวัฒนธรรมการปลูกข้าวของชาวเกาะ ประกอบพิธีกรรมในการทำขวัญข้าวจะต้องเตรียมธูป เทียน ทำพิธีนำตะปูเสียบขมิ้น อ้อย มะกรูด ออกชื่อพระแม่โพสพ ฝากกับนางธรณี ด้วยเชื่อว่าขมิ้นจะช่วยป้องกันรักษาโรคในข้าว และมะกรูดจะช่วยป้องกันแมลงได้
จากนั้นเริ่มต้นการ 'น่ำข้าว' หรือการทำนาแบบหยอดหลุม โดยใช้ไม้ทิ่มดินให้เป็นหลุม แล้วนำข้าวเปลือกหยอด จากนั้นใช้ไม้กดเกลี่ยปิดหลุมเป็นอันเสร็จสิ้น" นายมนัส จันทร์ผ่อง หมอยา และหมอทำขวัญ วัย 82 ปี ผู้เคยทำพิธีกรรมการปลูกข้าวเริ่มต้นเล่าย้อนถึงวิธีการปลูกข้าวไร่แบบภูมิปัญญาดั้งเดิม
และนี่เป็นที่มาส่วนหนึ่งของแนวความคิด 'ส่งเสริมการปลูกข้าวไร่แซมยาง' ที่นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการสืบสานประเพณีและภูมิปัญญาการ 'น่ำข้าวไว้กิน'
นายชัยฤทธิ์ ฉายภาพเบื้องต้นถึงสถิติการปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกข้าวไร่ที่ใช้ประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคงทางอาหารทั้งหมด 668,486 ไร่
สำหรับภาคใต้เหลือเพียง 38,370 ไร่ และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และสวนไม้ผล ส่งผลให้ข้าว ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค จะต้องซื้อข้าวเพื่อบริโภคจากภาคกลางหรือภาคอื่นๆ ในราคาสูง
สอดคล้องกับข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของไทย พ.ศ. 2548-2554 โดยสำนักสถิติแห่งชาติ FAO และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2554 ครัวเรือนในภาคใต้บริโภคอาหารที่ผลิตเอง หรือได้รับฟรีเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้น
และเหลือเพียง 2 จังหวัดที่ปลูกข้าวได้พอบริโภคภายในจังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช และจ.พัทลุง
โครงการนี้ กรมการข้าวร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ฟื้นคืนวิถีชีวิตปลูกข้าวไร่บนเกาะสมุย เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวมาบริโภค อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์วัฒนธรรมข้าวของชาวเกาะ
โดยเริ่มต้นในพื้นที่นำร่อง 10 ไร่ ใจกลางเกาะสมุย... เดิมเป็นสวนมะพร้าวที่เจ้าของกำลังจะผันไปปลูกยางพารา มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมการทำนาของคนเกาะสมุย ริเริ่มการปลูกข้าวไร่แซมในสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน
สำหรับพันธุ์ข้าวที่ใช้ มีทั้ง ข้าวไร่พันธุ์ดอกพะยอม ที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ข้าวพันธุ์สามเดือน ที่เป็นข้าวอายุสั้นเหมาะแก่การปลูกแซมระหว่างรอพืชหลักเติบโต และ ข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้
อธิบดีกรมการข้าว มุ่งหวังด้วยว่า โครงการนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังเกษตรกร 14 จังหวัดภาคใต้ ให้หันมาปลูกข้าวไร่เพื่อการบริโภค โดยสามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมได้ คาดว่าสามารถปลูกต่อเนื่องได้ถึง 3 ปี ระหว่างรอยางพาราและปาล์มน้ำมันเติบโต หรือปลูกไว้บริโภคในระดับครัวเรือนก็ยังได้
ทั้งนี้ ยังสามารถเป็นจุดขายใหม่ของการท่องเที่ยวที่เกาะสมุย ในการเปิดให้เยี่ยมชมแปลงข้าว กระบวนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปข้าว ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติอย่างมาก
"ไม่ใช่ว่าคนสมุยไม่สนใจปลูกข้าวแล้ว แต่คนสมุยก็เหมือนที่อื่นๆ อาชีพอะไรที่ทำแล้วได้เงินมากกว่าก็ต้องทำ คนที่นี่ส่วนมากก็ปลูกยางพารา ปลูกมะพร้าว ขายที่ทำรีสอร์ตหรือลงทุนเองได้เยอะกว่า จะให้กลับมาปลูกข้าวไร่กันหมดก็กลัวว่าจะไม่คุ้ม ทุกวันนี้ฝนฟ้าไม่เหมือนเมื่อก่อน วัชพืชและสัตว์ที่ทำลายนาข้าวก็มีมาก กลัวจะสู้ต้นทุนไม่ไหว มองแล้วคงทำตามได้ยาก" นายอำพล แซ่ฮั่น ชาวบ้านใน อ.เกาะสมุย สะท้อนมุมมอง หากจะนำแนวคิดนี้ลงไปทำจริง
ด้านผศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการวิจัยข้าวไร่ คณะพืชสวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เน้นย้ำว่า... 'ข้าวไร่' จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรภาคใต้ในสถานการณ์ที่แนวโน้มการปลูกข้าวลดลง และข้าวไม่พอบริโภคในจังหวัด
เนื่องจากเกาะสมุยมีสภาพพื้นที่เป็นดอนไหล่เขา เหมาะสมกับการปลูกข้าวไร่ ที่ไม่ต้องมีน้ำขังเหมือนนาข้าวทั่วไป อาศัยเพียงน้ำค้าง น้ำฝน และความชื้นในดินก็สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ อีกทั้ง ยังสามารถปลูกแซมในที่ว่างตามสวนปาล์ม หรือสวนยางพารา โดยการทำนาแบบหยอดหลุม หรือที่เรียกว่าการ 'น่ำข้าว' ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและการทำนาของเกาะสมุย
"ข้าวไร่ปลูกได้ทุกที่ แม้แต่ที่ดินแห้งก็ไม่มีปัญหา เพราะอาศัยเพียงน้ำค้าง ที่น่าส่งเสริมคือการปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน โดยสละพื้นที่เพียงเล็กน้อย ที่ไม่มีร่มไม้บังแสงแดดหรือแม้แต่ข้างเสาไฟฟ้า"
ผศ.ดร.ร่วมจิตร บอกด้วยว่า การปลูกข้าวไร่มีต้นทุนต่ำ เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ แต่ปัญหาอยู่ที่การกำจัดวัชพืช ที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นขั้นตอนการเตรียมดินจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
"ข้าวไร่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และมีราคาดี ราคาข้าวไร่จาก อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่ปลูกนำร่องได้ผลสำเร็จสามารถขายได้ในราคา 54,000 บาทต่อเกวียน หากเกษตรกรลองทำจะรู้ว่า จริงๆ แล้วทำเงินต่อไร่ได้ดีกว่าปลูกยางพารา หรือปาล์มเสียอีก ทั้งนี้จะต้องสีข้าวเอง"
สำหรับเกษตรกรในโครงการ ทางสถาบันฯ จะรับซื้อข้าวคืนมาสั่งสีแปรขายในรูปของข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกษตรกรยอมรับ หรือยอมโค่นปาล์มน้ำมันมาปลูกข้าวนั้น ผศ.ดร.ร่วมจิตร บอกว่า คงทำได้ยากในระยะสั้น แต่มั่นใจว่าหากเกษตรกรลองโค่นปาล์มน้ำมัน 6-10 ต้น มาลองปลูกข้าวไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินในครัวเรือนไปได้ตลอดทั้งปี
และในฐานะเจ้าของพื้นที่ 10 ไร่... ของแปลงทดลองน่ำข้าวข้าวไร่ นายศุภชัย ช่อวิชิต คนหนุ่มรุ่นใหม่ในเกาะสมุย บอกว่า สมุยเคยมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมการน่ำข้าวที่ดี มีพื้นที่ปลูกข้าวหลายร้อยไร่ แต่ทุกวันนี้คนสมุยเลิกทำนาหมดแล้ว จะเห็นได้ว่ามีนาร้างหลายแห่ง ดังนั้น แนวคิดรณรงค์ปลูกข้าวไร่แซมยางพาราของกรมการข้าวครั้งนี้จึงนับเป็นการฟื้นคืนวิถีชีวิตแบบเดิมที่น่าสนใจ และน่าจะพอทำได้
"หากผมจะปลูกข้าวไร่ให้อยู่รอดได้ อาจต้องเน้นเชิงธุรกิจ... ปลูกแซมกับยางพารา และทำควบคู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือเพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมถึงให้เป็นพื้นที่นำร่องแก่ผู้ที่สนใจมาศึกษา เพราะหากจะปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวคงไม่คุ้มนัก เพราะคาดว่า การปลูกข้าวไร่แซมยางพาราในพื้นที่ 10 ไร่นี้จะมีต้นทุนค่าแรง และค่าเมล็ดพันธุ์ประมาณ 10,000 กว่าบาท"
เช่นเดียวกับ นายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเกาะสมุย ที่เห็นตรงกันว่า ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา พูดได้ 100% ว่า ที่เกาะสมุยไม่มีการปลูกข้าวเลย สถานการณ์ข้าวไม่พอกินของภาคใต้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล การฟื้นฟูนาไร่แซมยางพาราครั้งนี้มีความน่าสนใจ แต่เห็นว่าควรทำเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพราะหากทำนาเพียงอย่างเดียวอาจดึงความสนใจได้น้อย เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตที่ห่างหายไปเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการปลุกกระแสความสนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป