‘วราเทพ’ ประชุมขั้นตอนขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบปี 2556/57 ภาคอีสาน
“วราเทพ” เรียกประชุมเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลภาคอีสาน ซักซ้อมความเข้าใจและขั้นตอนการปฎิบัติการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบปี 2556/57 เน้นชี้แจงเกษตรกรพร้อมใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประกอบ หวังให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ป้องกันการทุจริต และ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เร็ว ๆ นี้ โรงแรมเซ็นทาราแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ว่า ขณะนี้กษ. โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับขึ้นทะเบียน เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ปี 2556/57 แล้ว โดยสามารถขึ้นทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2556 - 30 มิ.ย. 2557 การประชาคมตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2556 -14 ก.ค. 2557 และการออกใบรับรองตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2556 -15 ก.ย. 2557
ทั้งนี้ ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2555/56 ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2555 - 31 พ.ค. 2556 (ตัดยอดข้อมูลวันที่ 12 ส.ค. 2556) พบว่า มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4,215,426 ครัวเรือน ผ่านประชาคม 4,170,049 ครัวเรือน ออกใบรับรอง 4,129,104 ครัวเรือน สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด (ตัดยอดข้อมูลวันที่ 12 ส.ค. 2556) พบว่า มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 2,391,899 ครัวเรือน ผ่านประชาคม 2,375,393 ครัวเรือน ออกใบรับรอง 2,364,603 ครัวเรือน
รมช.กษ. กล่าวต่อว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการซักซ้อมความเข้าใจและขั้นตอนการปฎิบัติในการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบปี 2556/57 ให้แก่เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ซึ่งกษ. โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการทบทวนและปรับปรุงการขึ้นทะเบียน ทั้ง 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การรับขึ้นทะเบียน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและตระหนักถึงโทษในการแจ้งข้อมูลหรือใช้เอกสารเท็จ พร้อมทั้งเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเกษตรกรที่ขอขยายครัวเรือนจะต้องนาเอกสารการรับรองการขยายครัวเรือนจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมาแสดง และเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนต้องเป็นหัวหน้าครัวเรือน และเป็นเจ้าของผลผลิตในแปลง หากไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเอง ให้มอบอำนาจให้สมาชิกที่มีชื่อใน ทบก. ไปขึ้นทะเบียนแทน
ขั้นตอนที่ 2 การประชาคม แบ่งเป็น การประชาคมกลุ่มย่อย 5 - 10 ราย และลงชื่อรับรองข้อมูลร่วมกัน หากแจ้งข้อมูลเท็จ จะตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการทั้งกลุ่ม และการประชาคมภาพรวม จะมีมาตรการเข้มงวด โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายตำบล และแผนที่ภาษีที่ดินของ อบต. (ถ้ามี) ประกอบการประชาคมภาพรวมทุกราย และให้เกษตรกรชี้ที่ตั้งแปลงบนภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนั้น ในการตรวจสอบพื้นที่ จะมีการเพิ่มการสุ่มตรวจวัดพื้นที่ปลูกจาก 10% เป็น 20% โดยเน้นให้ตรวจสอบกลุ่มที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดงร้อยละ 70 และตรวจสอบพื้นที่จริงด้วย GPS จาก 10% เป็น 20% โดยเน้นให้ตรวจสอบกลุ่มที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดงร้อยละ 70 และ
ขั้นตอนที่ 3 การออกใบรับรอง มีการเข้มงวดการพิมพ์และการจ่ายใบรับรองให้ถูกต้องและทันเวลา ซึ่งเกษตรกรที่มารับใบรับรองแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ที่มารับแทนและเพิ่มคำเตือนในใบรับรอง “ให้ใช้สิทธิจำนำผลผลิตตามจำนวน ที่ได้จากการปลูกจริงเท่านั้น การขายใบรับรองและยินยอมให้ผู้อื่นใช้สิทธิในใบรับรองของตัวเอง มีความผิดตามกฎหมาย”
"โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้มีการยกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โดยต้องการให้เม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการรับขึ้นทะเบียน เพื่อให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีประสิทธิภาพ รัดกุม และได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ในการแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ให้ใครมาใช้สิทธิแทน กรณีที่เกษตรกรแจ้งข้อมูลเท็จ จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวจาก เดิม 1 ปี เป็น 3 ปี และมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย" นายวราเทพ กล่าว