ไขปมใต้เดือด-คาดบีบรับ5ข้อBRN จี้ สมช.เปิดเอกสารฉบับจริง
สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ห้วงนี้ต้องยอมรับว่ารุนแรงหนักข้อ...
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.2556 คนร้ายยิงถล่มรถตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อย่างโหดเหี้ยม ทำให้ตำรวจเสียชีวิตในคราวเดียวถึง 4 นาย
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. มีเหตุลอบวางระเบิดโรงบรรจุแก๊สขนาดใหญ่ใน อ.เมืองนราธิวาส แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนประชาชนพังเสียหาย 10 หลัง ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 3 ราย
5 ส.ค.คนร้ายจ่อยิง นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เสียชีวิตกลางเมือง และในวันเดียวกันยังมีเหตุปาระเบิดถล่มร้านอาหารที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ทำให้ครูระดับผู้อำนวยการโรงเรียน 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส ครูน้อยบาดเจ็บ 1 ราย และชาวบ้านอีก 2 คน
2 ส.ค. วางเพลิงเผาโรงงาน สถานประกอบการ ร้านค้ารวม 13 จุด และก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ 9 เหตุการณ์ เป็นระเบิด 7 เหตุการณ์ ซุ่มยิง 2 เหตุการณ์ กำลังพลเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 18 นาย
1 ส.ค. มีระเบิด 6 จุด หนักที่สุดคือ อ.ธารโต จ.ยะลา เพราะทำให้ ตชด.พลีชีพ 2 นาย
31 ก.ค. คนร้ายลอบวางระเบิด 5 จุด ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีกเพียบ ฯลฯ
ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่าง...แน่นอนว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุรุนแรงมาแล้วเกือบทุกประเภท แต่หากผู้เกี่ยวข้องมองเพียงว่าเคยเกิดมาแล้ว และมาเกิดอีกในช่วงนี้จึงไม่มีอะไรต้องจับตาเป็นพิเศษ ก็อาจจะถือเป็นการมองข้ามสถานการณ์หรือเงื่อนไขสำคัญมากเกินไปหรือไม่
คำถามถือเหตุใดสถานการณ์จึงร้อนแรงขึ้นทั้งๆ ที่ทุกฝ่าย (รัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น และทางการมาเลเซีย) ยังยืนกรานว่าจะเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อไป...
ถอดรหัสคลิป-บีบรับ5ข้อ
ข้อน่าสังเกตประการแรก ต้องไม่ลืมว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างหนักนี้ คือช่วงของการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น มีการยื่นเงื่อนไขกันแล้ว ซ้ำยังมีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันในห้วงเดือนรอมฎอนบวก 10 (รวมเป็น 40 วัน) อีกด้วย โดยเหตุรุนแรงใหญ่ๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เกิดขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (30 ก.ค.ถึง 7 ส.ค.) กับช่วงสิ้นสุดเดือนรอมฎอนต่อเนื่องมา แต่ยังอยู่ในห้วงเวลาของข้อตกลงลดเหตุรุนแรง 40 วัน ซึ่งนับถึงวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.
สรุปเบื้องต้นโดยไม่ต้องดูตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงก็พอจะบอกได้ว่าสถานการณ์ในภาพรวมไม่ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งบีอาร์เอ็นก็แสดงท่าทีโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด
ข้อสังเกตประการที่สอง มีปรากฏการณ์แปลกประหลาดและไม่เคยเกิดขึ้นเลย ก็คือการสื่อสารผ่านคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ YouTube ของกลุ่มที่ไม่ใช่ทีมงานของนายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น แม้ที่ผ่านมาสังคมไทยและรัฐบาลเริ่มคุ้นชินกับการแพร่คลิปของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน แต่กับกลุ่มอื่นยังไม่เคยปรากฏ (ยกเว้นวีดีโอกล่าวหารัฐละเมิดสิทธิ หรือตีแผ่ความสูญเสียของฝ่ายรัฐ) มีแต่ทิ้งใบปลิวเท่านั้น
คลิปดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวเมื่อราวๆ วันที่ 6-7 ส.ค. โดยบุคคลที่ปิดบังใบหน้า 3 คน ถือปืน อ่านข้อความเป็นภาษามลายูอ้างมติสภาซูรอ (สภาที่ปรึกษาอาวุโส) ของบีอาร์เอ็น และมีการแปลเป็นภาษาไทยสรุปว่า จะไม่สานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และจะไม่มีตัวแทนของบีอาร์เอ็นในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนของทางการไทย "ตลอดไป" เพราะฝ่ายไทยผิดข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ตลอดจนเงื่อนไข 7 ข้อที่เสนอก่อนหน้านี้เลยแม้แต่ข้อเดียว
จนถึงขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงของไทยยังประเมินความเป็นไปได้ของคลิปเป็น 2 แนวทาง คือ
1.ถ้าเป็นคลิปของสมาชิกบีอาร์เอ็นจริง และเนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องจริง ก็เท่ากับว่ามีการเปิดตัวองค์กรนำอีกองค์กรหนึ่งในบีอาร์เอ็น คือ "สภาซูรอ" อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจากในพื้นที่ก็ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า "ซูรอ" อาจหมายถึงการปรึกษาหารือกันของผู้อาวุโสในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวจากแรงผลักดันของกลุ่มที่ไม่อยากเห็นการเจรจายืดเยื้อต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ เพราะเนื้อหาชัดเจนว่าไม่มีทางออกสำหรับการพูดคุยเจรจาต่อรองเลย รัฐบาลไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องทุกข้อเท่านั้น
2.ถ้าไม่ใช่คลิปจริง คือคนทำไม่ใช่สมาชิกบีอาร์เอ็น หรือหากใช่ แต่เนื้อหาเป็นเรื่องเท็จ (คือไม่มีมติสภาซูรอ) ฝ่ายความมั่นคงก็ประเมินว่านี่คือแผนกดดันอีกทางหนึ่งให้ไทยรีบรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เพราะเมื่อ นายฮัสซัน อยู่บนโต๊ะพูดคุยเจรจา อาจพูดอะไรมากไม่ได้ จึงต้องใช้คนนอกโต๊ะมาพูด
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือเป็นการพูดในท่วงทำนองของนักรบที่เป็นฝ่ายทหาร มีการปิดบังหน้าตาเหมือนกลุ่มก่อการร้ายสากล ถือเป็นการส่งสัญญาณมุ่งใช้ความรุนแรง หรือขู่เป็นนัยๆ ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะใช้ความรุนแรง
บทสรุปจากคลิปปริศนานี้ก็คือ ไม่ว่าบีอาร์เอ็นแตกแยกกันเองจริงหรือไม่ แต่พวกเขาก็ยังดำรงความมุ่งหมายเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง!
บี้ สมช.เปิดเอกสารภาษาอังกฤษ
ย้อนกลับไปดูคลิปที่ปล่อยจากกลุ่มนายฮัสซันบ้าง นับตั้งแต่ตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.2556 ฝ่ายบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน เคยสื่อสารผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ YouTube มาแล้ว 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งแรก ประกอบด้วย ช่วงประมาณวันที่ 26-27 เม.ย. (ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพรอบที่ 2 ราว 2-3 วัน) วันที่ 24 พ.ค. และ 28 พ.ค.2556 (ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพรอบ 3)
เนื้อหาในคลิปแรกคือการประกาศข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ส่วนในอีก 2 คลิปถัดมาเป็นการขยายความในแง่ของเหตุผล และโจมตีรัฐบาลไทยจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ สรุปง่ายๆ ประกอบด้วย 1.ให้มาเลเซียมีสถานะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย (mediator) แทนผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) 2.ให้ยอมรับสถานะของบีอาร์เอ็นว่าเป็น "ผู้ปลดปล่อย" ไม่ใช่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" และบีอาร์เอ็นคือตัวแทนของชาวมลายูปัตตานีในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย 3.ให้ประชาคมอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และเอ็นจีโอ ร่วมในกระบวนการพูดคุย 4.ต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ของชาวมลายูปัตตานี และ 5.ให้ปล่อยนักโทษกับเพิกถอนหมายจับของผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังทั้งหมด
สำหรับคลิปที่ 4 ซึ่งนับเป็นคลิปล่าสุดของกลุ่มนายฮัสซัน เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยพอดี เนื้อหาในคลิปเป็นการยื่นเงื่อนไขใหม่ 7-8 ข้อเพื่อแลกกับการลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน และย้ำในตอนท้ายว่ารัฐบาลไทยต้องรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อที่เคยยื่นไป โดยต้องนำเข้ารับรองในรัฐสภา มิฉะนั้นจะไม่มีการพูดคุยครั้งต่อไปอีก
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาท่าทีของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ผ่านทางคลิปปริศนา (ถ้ามีจริง) และความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกความเคลื่อนไหวมุ่งไปที่การบีบให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อโดยไม่มีเงื่อนไข
นั่นย่อมแสดงว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งต่อการพูดคุยเจรจาของบีอาร์เอ็น!
มีข่าวกระเซ็นกระสายจากฝั่งมาเลเซียว่า จนถึงขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงของไทยและผู้ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพเกือบทั้งหมดยังได้รับทราบข้อเรียกร้องเพียงกว้างๆ ที่แปลเป็นภาษาไทยจากคำแถลงผ่านเว็บไซต์ YouTube ของกลุ่มนายฮัสซันเท่านั้น แต่ยังแทบไม่มีใครได้เห็นเอกสารฉบับจริง ซึ่งว่ากันว่ามีเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษด้วย
คำแปลภาษาไทยที่ถอดความจากภาษามลายูอาจไม่ชัดเจนนัก แต่เนื้อความในเอกสารภาษาอังกฤษ ข่าวแจ้งว่าแจ่มชัดอย่างยิ่งว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการไปไกลเกินกว่า "เขตปกครองพิเศษ" ที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึงกัน
ที่สำคัญเอกสารฉบับนี้ถูกส่งถึงหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. แต่กลับไม่มีการนำมาเปิดเผยแม้แต่ในที่ประชุมฝ่ายความมั่นคง หรือว่าข้อเรียกร้องมันแรงเกินรับ?
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา นายกฯก็ยังไม่กล้าฟันธง แต่ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณา
สอดรับกับการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) นัดพิเศษที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.กปต.เป็นประธาน เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ส.ค. มีการเชิญตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะ "ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล" เข้าร่วมประชุมด้วย
ได้เวลาแล้วที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องนำเอกสารฉบับจริง โดยเฉพาะที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมาเปิดให้สังคมไทยได้พิจารณาร่วมกัน อย่ามุบมิบทำๆ รับๆ กันตามที่มีการพยายามผลักดันให้ยอมรับบางข้อไปก่อน...
มิฉะนั้นอาจรับผิดชอบกันไม่ไหวเมื่อเรื่องแดงขึ้นมา!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อาคารที่พังเสียหายอย่างยับเยินจากเหตุลอบวางระเบิดโรงบรรจุแก๊สและโกดังเก็บถังแก๊สในเขต อ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ซึ่งยังอยู่ในห้วงเวลาลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน