“ข้าวยังไม่ขาย ก็ขาดทุนได้” วิศวกรการเงิน เปิดสูตร-ใช้ศาสตร์วิเคราะห์จำนำข้าว
ปัจจุบันนโยบายสาธารณะต่างๆ ของรัฐบาลได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคส่วนต่างๆ “จำนำข้าวเปลือก” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ยังอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการบริหารธุรกิจ ซึ่งทำหน้าที่ชี้นำด้านวิชาการให้กับสังคม นำโดยศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมคณะผู้วิจัย ร่วมกันศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อเท็จจริง “วิศวกรรมการเงินว่าด้วยโครงการจำนำข้าวไทย” โดยมีการใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรมทางการเงิน ทำแบบจำลอง หาความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ เพื่อมาวิเคราะห์จนทำให้เราได้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ และเห็นชัดถึงตัวเลขขาดทุนจากโครงการนี้ลงลึกถึงระดับ...จุดทศนิยม
การวิเคราะห์โครงการจำนำข้าวทั้งหมดนี้ ได้จำกัดความสนใจเฉพาะกระแสเงินที่รับจ่าย และข้าวเปลือกที่รับมอบส่งมอบระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกรเท่านั้น โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดจากการดำเนินโครงการ การเน่าเสีย หรือเสื่อมสภาพของข้าว หรือความเสียหายจากการทุจริต (ถ้ามี)
สัญญาจำนำข้าว เทียบเท่าหุ้นกู้อนุพันธ์ชนิดมีหลักประกัน
ตั้งต้นค้นหาคำตอบ ศ.ดร.อัญญา วิเคราะห์โครงการจำนำข้าวตามมุมมองของวิศวกรการเงิน โดยไล่เรียงความหมายของการจำนำข้าวตามโครงการรัฐบาลนี้ว่า มีข้อต่างจากการจำนำปกติ พร้อมกับพิจารณาให้การจำนำข้าว เป็น Financial Engineered Product
จากนั้น มีการใช้ศาสตร์ด้านวิศวกรรมการเงิน วิเคราะห์ “สัญญาจำนำข้าว” ด้านกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมกับความเสี่ยง จนเห็นภาพชัดว่า “สัญญาจำนำข้าว” หน้าตาเหมือน “หุ้นกู้อนุพันธ์ ชนิดมีหลักประกัน” (Collateralized Structured Note) ไม่มีผิด
กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกถึงเหตุผลที่ได้ข้อสรุปแบบนี้เพราะมองในแง่กระแสเงินก็ไม่เห็นความแตกต่าง ยิ่งเมื่อวิเคราะห์สัญญาจำนำข้าวกับวิเคราะห์หุ้นกู้อนุพันธ์ด้วยแล้ว แทบจะเป็นของอย่างเดียวกัน
“มีเพียงสิ่งเดียวที่ ผมไม่รู้ คือไม่รู้ว่า เขาโกงหรือไม่โกง”
การวิเคราะห์สัญญาจำนำข้าวโดยใช้ศาสตร์ด้านวิศวกรรมการเงินนั้น เขายังพบความน่ามหัศจรรย์ คือ เกษตรกรไทยออก Financial Engineered Product หรือ ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ชนิดมีหลักประกัน โดยมีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ หรือเท่ากับศูนย์ !!
ศ.ดร.อัญญา บอกว่า ข้อความจริงนี้ได้ลบล้างความเชื่อที่ว่า เกษตรกรเป็นบุคคลซึ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิตน้อยไปเลย
“แม้เกษตรกรจะเป็นบุคคลซึ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิต แต่หุ้นกู้อนุพันธ์ชนิดมีหลักประกัน ซึ่งเกษตรกรเป็นผู้ออก ในฐานะกลุ่มหลักทรัพย์ที่เทียบเคียงได้กับการจำนำข้าว ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต คือ มีระดับความน่าเชื่อถือเท่ากับรัฐบาลไทย เนื่องจากงานนี้เกษตรกรไม่มีโอกาสบิดพลิ้ว และไม่มีความจำเป็นต้องบิดพลิ้ว เหตุผล 1.รัฐบาลให้เกษตรกรเลือกได้ว่า จะชำระเป็นเงินสด คือ การไถ่ถอนข้าวเปลือกที่จำนำ หรือจะชำระเป็นข้าวเปลือกที่จำนำไว้ และ 2. ข้าวเปลือกที่จำนำอยู่ในมือรัฐบาลแล้ว”
99.3900% จำนำข้าว น่าจะประสบผลขาดทุน
ส่วนคำถามที่สังคมกำลังต้องการคำตอบอยู่ ณ เวลานี้... เมื่อมีโครงการจำนำข้าวแล้ว “มูลค่าทางการเงิน” ที่รัฐบาลใช้อุดหนุนโครงการจำนำข้าวเท่ากับเท่าไหร่ ?, มีโอกาสมากหรือน้อยแค่ไหนที่จะประสบผลขาดทุน, ขนาดของผลขาดทุน และขนาดของผลขาดทุน "สูงสุด" ที่รัฐอาจต้องแบกรับภาระจากโครงการนี้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
ซึ่งเวทีนี้ก็มีตัวอย่างผลการวิเคราะห์การจำนำข้าว มาให้เราเห็น...
หากเกษตรกรจำนำข้าว วันนี้ ตามโครงการปี 2555/2556 สิ้นสุด ก.ย.56 (ดูตารางประกอบ)
- มูลค่าของหุ้นกู้อนุพันธ์ฯ ที่เกษตรกรเอาไปขายให้รัฐบาล หรือเรียกว่า ทำสัญญาจำนำข้าว 15,022.07 บาท
- หัก ด้วยมูลค่าพุทธออฟชั่นที่แฝง (การเลือกจ่ายเป็นข้าว หรือเป็นเงินก็ได้) 5,125.08 บาท
- เท่ากับ มูลค่าของหุ้นกู้อนุพันธ์ 9,896.99 บาท (สิ่งที่รัฐบาลซื้อผ่านสัญญาจำนำข้าวจากเกษตร)
- หัก ราคาจำนำ 15,000 บาท
- เท่ากับ มูลค่าทางการเงินที่รัฐบาลใช้เพื่อนสนับสนุนโครงการจำนำข้าว ณ วันนี้ –5,103.01 บาท
แต่ในเมื่อ “สัญญาจำนำข้าว” ไม่ได้สิ้นสุด ณ วันนี้
ดังนั้น ต้องมีการวิเคราะห์ผลประกอบการที่อาจเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้าต่อด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้น ? กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำลองเหตุการณ์เสมือนจริงในอนาคต โดยใช้พฤติกรรมราคาข้าวเปลือกที่ประเทศไทยมีฐานข้อมูลอยู่ทั้งหมด จนกระทั่งพบว่า
- ความน่าจะเป็นที่เกษตรกรจะมา “ไถ่ถอน” ข้าวที่จำนำอยู่ที่ 0.3200%
- ความน่าจะเป็นที่โครงการจะประสบ “ผลขาดทุน” 99.3900%
- ผลขาดทุนที่คาด -4,936.50 บาทต่อตัน หรือคิดเป็น -40.4450%
“เราคำนวณด้วยว่า หากในอนาคต เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ข้าวราคาตกอย่างมาก ผลขาดทุนสูงสุดสามารถไหลไปได้ถึง -7,058.78 บาทต่อตัน หรือ -63.598%” ศ.ดร.อัญญา วิเคราะห์ตัวเลขที่ผ่านมาแล้ว
จำนำรอบใหม่ ก็ยังขาดทุน สูงสุดไหลไปเฉียดแสนล.
ตามไปดูการวิเคราะห์อนาคตกันบ้าง กับ โครงการจำนำข้าวปี 2556/2557 (1 ก.พ.-15 ก.ย.57) ที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และเกษตรกรยอมรับแล้ว ในราคารับจำนำตันละ 13,500 บาท (ณ สิ้นเดือน มิ.ย.56 ราคาข้าวเปลือกยู่ที่ตันละ 9,897 บาท)
ศ.ดร.อัญญา ได้ใช้เทคนิค Monte Carlo Simulation และเทคนิค Bootstrapping เพื่อวิเคราะห์อนาคต และหลังจากโครงการเริ่ม ต่อเนื่องไปอีก 4 เดือน เมื่อครบระยะเวลาการไถ่ถอน
ตัวเลขที่จับต้องได้ เขาพบว่า มูลค่าทางการเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนโครงการนี้ อยู่ที่ 3,437.19 บาทต่อตัน หรือ 51,557.85 บาท( 15 ล้านตัน)
- ความน่าจะเป็นที่เกษตรจะนำมาข้าวมาจำนำ 99.5000%
- ความน่าจะเป็นที่โครงการจะประสบผลขาดทุน 94.7000%
- ผลขาดทุนที่คาด –3,210.12 บาทต่อตัน หรือ -48,151.84 ล้านบาท (15ล้านตัน) คิดเป็น -28.2645%
“หากราคาข้าวตกต่ำไปกว่าระดับที่มีการคาดการณ์ โครงการจำนำข้าวปี 2556/2557 จะขาดทุนหนักเข้าไปอีก อาจไหลไปได้ถึง -6,150.74 บาทต่อตัน หรือ -92,261.09 ล้านบาท (15 ล้านตัน) คิดเป็น -60.8090%” ศ.ดร.อัญญา ใช้ศาสตร์วิศวกรรมทางการเงินวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา พร้อมถามกลับว่า หากเรารู้แบบนี้จะนั่งกอดอกอยู่เฉยๆ หรือไม่ หรือจะทำอะไรได้บ้าง
ในเมื่อ ข้าวยังไม่ขาย ก็ขาดทุนได้ เขาเรียกกันว่า ความเสียหายที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริง (Unrealized loss) สวนทางกับสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์พูดก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับหลักวิชาการแต่อย่างใด
หรือแม้กระทั่ง กรณีมีคนตั้งข้อสังเกต และยกไปเปรียบเทียบกันบ่อยๆ ระหว่างโครงการรับจำนำข้าว กับโครงการประกันราคาข้าวนั้น ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันและการวิเคราะห์ทางการเงิน ทั้งลักษณะทางการเงิน ราคารับจำนำ ราคาประกัน มูลค่าทางการเงินที่รัฐบาลสนับสนุน ความน่าจะเป็นที่เกษตรกรมาใช้สิทธิ์ ความน่าจะเป็นที่ขาดทุน ผลขาดทุนที่คาด และผลขาดทุนสูงสุด
วิศวกรการเงิน ท่านนี้ ได้คลี่คลายความสงสัยทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "ไม่แตกต่างกันมากนัก และหากจะถามว่าโครงการไหนดีกว่ากันทางการเงิน ผมว่า มันใกล้กันค่อนข้างมาก แต่ราคารับจำนำ และราคาประกัน จะเป็นตัวแปรทำให้ผลขาดทุนของโครงการนั้นๆ ขาดทุนมากหรือขาดทุนน้อย เท่านั้นเอง”
“มูลค่าทางการเงิน” ที่รัฐบาลอุดหนุน หมายถึง มูลค่าทางการเงินที่รัฐบาลจะจ่ายให้เกษตรกรเป็นกรณีสุทธิ รัฐบาลสัญญาว่า จะรับจำนำข้าว แต่เมื่อรัฐบาลประกาศว่ามีโครงการแล้ว ก็เกิดภาระผูกพันต้องทำตามสัญญา ภายใต้โครงการจำนำข้าวนี้ มีมูลค่าทางการเงิน แม้ว่า วันนี้สัญญาเกิดขึ้นและรัฐบาลยังไม่ได้เงินออกไปจริง