การศึกษาทางเลือกบ้านมอวาคี ความพยายามท่ามกลางกระแสพัฒนา
บ้านมอวาคี เป็นชุมชนชาวปกาเก่อญอที่ยังคงสืบทอดการดำรงวิถีชีวิตการทำมาหากิน และถือความเชื่อดั้งเดิมตามอย่างปู่ย่าตายาย แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสภายนอกบ้างอย่างช้าๆ หรือน้อยที่สุด เป็นชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเทือกเขาอินทนนท์ เพราะชุมชนช่วยกันดูแลรักษา และขณะเดียวกัน ชุมชนอยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่วาง
ปกาเก่อญอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มากที่สุดในประเทศไทย ประชากรเกือบ 4 แสนคน ซึ่งมักจะอาศัยในเขตป่าและพื้นที่สูง ที่ผ่านมาเรามักจะรู้จักคนปกาเก่อญอในนาม“นักอนุรักษ์ป่า”
จากภาพของสื่อต่างๆที่ออกมานานกว่า 20 ปี ที่บ้านมอวาคีนอกจากพวกเขาจะเป็นนักอนุรักษ์ป่าตัวยงแล้ว คนมอวาคียังช่วยกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบให้กับลูกหลาน ของตนเองอีกด้วย เช่น การทำหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน การเรียนรู้ในครอบครัว การเรียนรู้กับวิถีการผลิต ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายชุมชน และ หน่วยงานการศึกษาในท้องถิ่น
ทำไมคนมอวาคีต้องสร้างการศึกษาทางเลือกของตนเอง
การศึกษาของรัฐไทยหรือการศึกษากระแสหลัก ที่จัดให้ประชาชนนั้น มีเป้าหมายเพื่อการควบคุมปกครอง การผสมกลมกลืนให้เป็นไทย และ รับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มากกว่าจะทำให้คนที่เข้ารับการศึกษาสามารถหาเลี้ยงชีพตนเองได้ โดยการศึกษาจะถูกกำหนดจากส่วนกลาง ให้มีเนื้อหาหลักสูตรเดียวกันใช้กับทุกคนทั่วประเทศ และครูก็จะถูกส่งมาจากส่วนกลางเช่นกัน การศึกษาแบบนี้จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นชุมชน ที่มีความหลากหลายต่างกันได้อย่างแท้จริง
การศึกษาที่รัฐจัดขึ้นจึงไม่ใช่สิ่งที่คนจน คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือคนที่บ้านมอวาคีต้องการ เพราะพวกเขาไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลังมากพอที่จะเข้าไปแข่งขันในระบบแบบนั้นกับคนอื่นได้ อีกทั้งยังทำให้ลูกหลานของพวกเขาทำมาหากินไม่เป็น ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมความเชื่อของตนเอง ตามกระแสภายนอก ดูถูกตนเองและพ่อแม่ นอกจากนั้นนโยบายของรัฐ เช่น การเตรียมประกาศอุทยานฯ การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง ยังกดดันให้คนบนพื้นที่สูงไร้ทางเลือกทุกทาง
ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแรงผลักให้กับคนมอวาคีพยายามที่จะสร้างการศึกษาของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างการยอมรับของคนในสังคม และการดำรงอยู่ของชุมชนและ ต่อสู้กับนโยบายของรัฐ
การศึกษาทางเลือกของบ้านมอวาคี
หลังจากที่โรงเรียนมอวาคีเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 และเริ่มมีการนำหลักสูตรท้องถิ่นเข้ามาสอนในโรงเรียนในปี พ.ศ.2538 ทำให้คนในหมู่บ้านตื่นตัวและเห็นคุณค่าความสำคัญขององค์ความรู้ภูมิปัญญาของ ชนเผ่าและปู่ย่าตายายของตนเองมากขึ้น จึงมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ท้องถิ่น เช่น เรื่อง ประวัติศาสตร์ สมุนไพร วัฒนธรรมประเพณี ดนตรี-บทเพลง-นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ เข้าไปช่วยครูสอนเด็กในโรงเรียน
นอกจากการชวนชาวบ้านเข้าไปช่วยสอนใน โรงเรียนแล้ว ทางครูในโรงเรียนเองยังให้เด็กออกมาเรียนกับครูผู้รู้ในหมู่บ้าน เข้าร่วมเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ เช่น
งานมัดมือ พิธีเลี้ยงผีน้ำ ฯลฯ ออกไปเรียนนอกชุมชน อีกทั้งในชุมชนยังมีกลุ่มเยาวชนได้ช่วยกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ที่จบในระดับประถมศึกษา ให้มีการเรียนรู้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเท่าทันกระแสสังคม
พอในปีพ.ศ. 2540 เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กฎหมายก็ได้เปิดช่องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกๆด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา บวกกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่คลอดออกมาในปีพ.ศ.2542 จึงเป็นช่องทางให้คนมอวาคีได้มีสิทธิและส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแบบที่พวก เขาต้องการให้ลูกหลานของตนเองได้เต็มที่
การศึกษาทางเลือก...ทางออกของคนจน
พะตีจอนิ แห่งบ้านหนองเต่า ได้กล่าวไว้ว่า “การศึกษาของคนจน คือ จะต้องหาความรู้ไปด้วยทำกินไปด้วย” ที่มอวาคีเด็กและเยาวชนที่นี่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริงของพวกเขา คือ การทำไร่ทำนา การเลี้ยงวัวควาย การหาของป่า การเอามื้อเอาวัน การเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆของชุมชน การปฏิบัติตามจารีตความเชื่อของชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่กินได้อย่างเห็นได้ชัดเจน
ในขณะที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการศึกษาที่ภาครัฐบังคับแล้ว การเรียนรู้จากการใช้ชีวิตจริง จึงทำให้คนมาวาคียังสามารถดำรงสืบทอดวิถีวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษตนเองได้ และที่สำคัญการศึกษาทางเลือกได้ทำให้เด็กและเยาวชนมอวาคีมีความสุขในการไป เรียนรู้นอกห้องเรียน และมีทางเลือกให้กับพวกเขาในการใช้ชีวิตมากขึ้น มากกว่าการลงไปรับจ้างในเมือง
นี่คงเป็นความพยายามของคนมอวาคี แม้ว่าจะเป็นแรงต้านของกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ถ่างโถมเข้ามาในชุมชน แต่มันอาจจะเป็นพลังที่สามารถเป็นเชื้อไฟให้กับชุมชนอื่น ๆ ลุกขึ้นมาสร้างการศึกษาของตนเอง....