ฝันร้ายของชาวบ้านกอลำ...กับการตายซ้ำๆ 15 ศพที่ยังไร้คำตอบ
"จะให้อยู่เหมือนเดิมคงยากแล้ว เมื่อเกิดเหตุก็จะมีการโยงไปยังที่ใดที่หนึ่งอย่างมีจิตวิทยา ในพื้นที่ไม่มีใครทำร้ายโต๊ะครูอยู่แล้ว ฟันธงล้านเปอร์เซ็นต์ว่ามีคนเห็นผู้ลงมือ แต่ไม่กล้าพูด"
เป็นคำสัมภาษณ์ที่ให้ไว้กับ "ทีมข่าวอิศรา" ของ อับดุลรอฟา ปูแทน วัย 48 ปี ซึ่งคนในพื้นที่มักเรียกเขาติดปากว่า "สจ." เพราะเขาเป็นอดีต สจ.ถึง 3 สมัย และยังเป็นอดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ปัตตานีด้วย
อับดุลรอฟา พูดเรื่องนี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2556 ซึ่งมีการเปิดเวทีที่บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของ อิสมะแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ บาบอแห่งปอเนาะปูลากาซิง ที่ถูกคนร้ายบุกยิงถึงบ้านซึ่งด้านข้างเป็นบาลัย (สถานที่สำหรับละหมาด) ใต้ถุนเป็นโรงเรียนสอนกีตาบ (หนังสือเรียนเกี่ยวกับศาสนา) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2556
เหตุการณ์สังหารบาบออิสมะแอ ซึ่งชาวบ้านที่คุ้นเคยเรียกกันว่า "เป๊าะจิ๊" ถือได้ว่าสะเทือนขวัญ และหลังเกิดเหตุก็มีเสียงลือไปต่างๆ เพราะมีพยานเห็นคนร้ายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) ขณะที่ก่อนเกิดเรื่องร้ายนี้ไม่นาน ก็มีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดหวังสังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายหนึ่งใน ต.กอลำ แต่เจ้าหน้าที่รายนั้นรอดไปได้ แม้จะมีการยิงปะทะกันระหว่างกองกำลังที่ รปภ.เจ้าหน้าที่รายนี้กับคนร้ายก็ตาม
เรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นใน ต.กอลำ และหมู่บ้านปูลากาซิง เสมือนหนึ่งเมฆหมอกมึดดำที่ปกคลุมพื้นที่แห่งนี้ เพราะตลอดหลายปีที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ มีคนในตำบลต้องสังเวยชีวิตไปกับเหตุรุนแรงแล้วถึง 14 คน โดย "เป๊าะจิ๊" คือคนที่ 14
เมื่อคนระดับบาบอยังถูกสังหาร ชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานรำลึกถึงการเสียชีวิตของ "เป๊าะจิ๊" มีการเปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง มาร่วมและกล่าวเป็นสัญญาประชาคมกับชาวบ้านด้วย
เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะพยายามไม่ให้มีผู้เสียชีวิตรายที่ 15...
เวทีในวันนั้น อับดุลรอฟา อดีต สจ.ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย เพราะ "เป๊าะจิ๊" มีศักดิ์เป็นน้าเขยของเขา และแม้เขาจะไม่ได้พูดอะไรต่อสาธารณะ แต่ก็ได้นั่งคุยระบายความรู้สึกกับ "ทีมข่าวอิศรา"
"จะให้อยู่เหมือนเดิมคงยากแล้ว เมื่อเกิดเหตุก็จะมีการโยงไปยังที่ใดที่หนึ่งอย่างมีจิตวิทยา ในพื้นที่ไม่มีใครทำร้ายโต๊ะครูอยู่แล้ว ฟันธงล้านเปอร์เซ็นต์ว่ามีคนเห็นผู้ลงมือ แต่ไม่กล้าพูด ถือเป็นกรณีตัวอย่างให้สังคมได้ฉุกคิด ผมเห็นด้วยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นที่บอกว่าให้เอาทหารออกไป แล้วเอาเงินมาสนับสนุนพี่น้องเราดีกว่า เพราะถึงจะมีเจ้าหน้าที่อยู่เยอะ แต่เกิดเหตุทีไรก็จับใครไม่ได้ เสียดายเม็ดเงินที่ลงมาในพื้นที่แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด" เป็นคำกล่าวของอดีต สจ.
เชื่อหรือไม่ว่าถัดมาเพียงเดือนเศษ คือวันที่ 14 ส.ค.2556 อับดุลรอฟาก็ถูกดักยิงเสียชีวิตขณะเดินทางกลับบ้านที่ปูลากาซิง ต.กอลำ!
เส้นทางชีวิตอดีต สจ.
อับดุลรอฟา เคยเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ก่อนจะหันเหเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการลงสมัครสภาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เขต อ.ยะรัง และได้รับชัยชนะถึง 3 ครั้ง ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภา อบจ.ปัตตานี ด้วย
เมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระ เขาก็กลับมาเปิดโรงเรียนสอนศาสนาระดับอนุบาลและประถม ชื่อ โรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิ เปิดมาได้ 3 ปีแล้ว
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา อับดุลรอฟาถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ เขาเคยถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง
"ตอนนี้เรามีเด็กนักเรียนถึงชั้น ป.3 ยังไม่มี ป.4-6 ตามหลักจะเปิดถึง ป.6 นักเรียนรวมๆ แล้วก็ 300 คน สำหรับ สจ.ก็ทุ่มเทให้กับโรงเรียนอย่างเต็มที่ นั่งบริหารด้วยตัวเอง เพราะปีที่แล้วลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งแต่แพ้" พนักงานในโรงเรียนรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
เขาบอกต่อว่า อับดุลรอฟาเคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ พอจบมาก็สอนที่นั่นกว่า 10 ปี ระหว่างที่สอนอยู่ก็ได้เป็นประธานชมรมตาดีกาของ จ.ปัตตานี ด้วย จากนั้นก็ออกจากโรงเรียนมาลงเล่นการเมือง พอครบวาระก็มาเปิดโรงเรียน
"หลานชาย-น้าเขย"โดนก่อน
"ก่อนที่ สจ.จะเสียชีวิต หลานชายของท่านคือ นายตอเละ ปูแทน เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ไม่นานก็ถูกยิง หลังจากนั้นบาบออิสมะแอ (เป๊าะจิ๊) ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าเขยก็โดนยิงอีก ที่ผ่านมา สจ.เองก็เคยโดนคดีความมั่นคง แต่ศาลยกฟ้องแล้ว สาเหตุที่ทำให้ถูกยิงคิดว่าเหมือนกับหลานและน้าชายของท่าน" พนักงานของโรงเรียนรายเดิมกล่าว
เขาบอกด้วยว่า เท่าที่ทราบเหตุการณ์ที่ สจ.โดนยิง คนร้ายมากัน 2 คันรถ คิดว่าน่าขับรถตามมาจากตัวเมืองปัตตานี และพอถึงจุดเกิดเหตุซึ่งอยู่ก่อนถึงบ้านประมาณ 10 กิโลเมตร คนร้ายก็ยิงถล่ม
"ตอนนี้ที่บ้านปูลากาซิงและ ต.กอลำ มีคนถูกยิงรวม สจ.ด้วยก็ 15 คนแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีใครทำให้เรื่องนี้กระจ่างได้ ชาวบ้านก็คิดของเขาไป พอฝังศพเสร็จก็จะเงียบ ไม่มีใครกล้า คนในพื้นที่พูดกันว่าหลังจากนี้เป้าหมายที่น่าจะโดนแบบเดียวกันยังมีอีก 3 คน หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นนายก อบต.กอลำ เพราะมีศักดิ์เป็นน้าของ สจ. คนทำก็คนเดิมๆ คนสั่งการก็กลุ่มเดิมๆ ชาวบ้านรู้แต่ทำอะไรไม่ได้"
กำลังหาปืนป้องกันตัว
แหล่งข่าวอีกรายเป็นลูกศิษย์ของ สจ.สมัยยังสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เขาเล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า สจ.เป็นอุสตาซที่มีความรู้ เรียนด้วยแล้วเข้าใจง่าย นึกภาพออกได้ โดยเฉพาะวิชาหลักๆ ที่ สจ.สอน คือ วิชาสังคมกับประวัติศาสตร์ นักเรียนและเพื่อนๆ ทุกคนชอบเรียนกับ สจ. เพราะสอนเข้าใจง่าย เอาสิ่งรอบตัวมาสอน มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
"ช่วงที่ สจ.ออกมาเล่นการเมือง ก็ได้ยินข่าวคราว ทราบว่าปีที่แล้วแพ้เลือกตั้ง ส่วนเมื่อวันที่ถูกยิง ได้ยินเพื่อนๆ พูดกันว่าก่อนเกิดเหตุ สจ.ไปหาเพื่อน ไปคุยเรื่องอาวุธปืน หลังจากนั้นก็ไปที่จังหวัด (ตัวเมืองปัตตานี) ไม่แน่ใจว่าไปเอาใบอนุญาตพกปืนหรือไปทำใบอนุญาต คิดว่า สจ.ก็ระวังตัวพอสมควร ผมมองว่าคนร้ายน่าจะมุ่งสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่"
ทหารเชื่อคนร้ายมุ่งตอกลิ่ม
พ.อ.บุญสิน พาดกลาง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 (ผบ.ฉก.ทพ.22) รับผิดชอบพื้นที่ อ.ยะรัง เปรยขึ้นทันทีเมื่อถูกถามเรื่องการเสียชีวิตของ อดีต สจ.อับดุลรอฟา เพราะเขาคือผู้เสียชีวิตรายที่ 15 ของบ้านปูลากาซิง และ ต.กอลำ
"ไม่รู้จะถูกชาวบ้านต่อว่าอะไรหรือเปล่า เพราะเคยรับปากกับชาวบ้านไว้ว่าจะพยายามไม่ให้มีรายที่ 15 แต่ก็มีจนได้ เราก็ทำกันเต็มที่แล้ว"
พ.อ.บุญสิน บอกว่า อดีต สจ.เคยโดนคดีความมั่นคงจริง แต่นานมาแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกลอบยิงครั้งนี้
"สาเหตุน่าจะมาจากการเมือง เพราะกำลังจะสมัครลงเล่นการเมืองอีกรอบ มีข่าวว่าแกจะลงนายก อบต. แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องสร้างสถานการณ์ โดยเบื้องต้นเราสรุปว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ และได้มอบเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับญาติไปแล้ว 1 แสนบาท ตอนที่นำเงินเยียวยาไปให้ก็ได้เข้าไปเยี่ยมครอบครัว ทุกคนก็คุยดี เป็นกันเอง หลังเกิดเหตุมีหลายหน่วยงานเข้าไป เอาเงินเยียวยาไปให้"
ผบ.ฉก.ทพ.22 กล่าวอีกว่า คนที่กอเหตุต้องการสร้างความแตกแยก เพราะที่ผ่านมาอดีต สจ.ร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี เคยเชิญไปพบปะกัน อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่ทำให้บางกลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยก
"สจ.มีลูก 2 คน เบื้องต้นได้คุยกับลูกของ สจ.แล้ว ทราบว่าอยากได้ทุนการศึกษา พี่คนโตเรียนระดับปริญญาตรี ส่วนคนน้องเรียนมัธยมในพื้นที่ ยืนยันว่าครอบครัวเข้าใจดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร"
ส่วนความคืบหน้าทางคดีนั้น พ.อ.บุญสิน บอกว่า กำลังรอผลตรวจวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ แต่ที่น่าเสียดายคือกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเสีย ใช้การไม่ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการก่อเหตุเผาทำลายกล้องก่อนหน้านี้
ยุติธรรมต่างมุมมอง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งมีเวทีสาธารณะ "พลังเครือข่ายประชาชนป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิต ท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ" อันเป็นเวทีที่จัดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์สังหาร "เป๊าะจิ๊" หรือ บาบออิสมะแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ ครานั้นหลายคนได้ลุกขึ้นพูดอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อความยุติธรรมในพื้นที่
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การจากไปของบาบอสร้างปรากฏการณ์ให้ชุมชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิเรียกร้องความยุติธรรมอย่างกล้าหาญ ถือเป็นครั้งแรกที่เรามีสิทธิพูดอย่างเสรี
ขณะที่ อดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เป็นมิติใหม่ที่ชาวบ้านแสดงพลังรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐให้ความสนใจกับชุมชน ร้องขอให้รัฐลงมารับทราบปัญหา
ด้าน พ.อ.บุญสิน กล่าวบนเวทีในวันนั้นว่า เรื่องที่เกิดขึ้น (เหตุสังหารบาบอ) ถ้าเกิดมาจากเจ้าหน้าที่ทหารจริงก็พร้อมที่จะจับเข้าแถวแล้วให้พี่น้องชี้ตัว ยืนยันว่าเราให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สงสัยใครก็สงสัยได้ แต่กระบวนการที่เข้าสู่ชั้นศาลจะต้องชี้ด้วยพยานหลักฐาน
เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ปพนวัฒน์ ขัตติยะวรานันท์ ผู้กำกับการ สภ.บ้านโสร่ง อ.ยะรัง ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ ที่บอกว่า ใครที่เห็นว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ขอให้บอกมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไหน เพราะในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมกันทำงานอยู่ เพียงแค่อยากให้มาชี้ตัวหรือให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เท่านั้นเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ อย่าง ปาอีซะ วันเย็น ภรรยาของบาบอที่จากไป เธอบอกว่าไม่เคยคิดพึ่งพากระบวนการยุติธรรม แต่ยังเชื่อว่าความยุติธรรมมีจริง หากไม่พบในโลกนี้ก็ต้องพบในโลกหน้า ฉะนั้นจะอดทนเพื่อโลกหน้า ทุกอย่างที่ใครทำไม่ดีกับเรา อัลลอฮ์รู้
ส่วน อัยเสาะ ปูแทน หลานสาวของบาบอ กล่าวว่า เราไม่ต้องการสิ่งอื่นนอกจากความเป็นธรรม การมีเวทีและเชิญเจ้าหน้าที่มาก็ดี ชาวบ้านจะได้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มองอย่างไร...
แต่เท่าที่ฟังมารู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ยังเข้าใจไม่ตรงกับที่เราเข้าใจ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หญิงมุสลิมยืนดูบอร์ดที่จัดขึ้นในวันเปิดเวทีสาธารณะที่บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ โดยพื้นที่แห่งนี้มีผู้เสียชีวิตในห้วงสถานการณ์ความไม่สงบถึง 15 รายแล้ว
2 รถกระบะของนายอับดุลรอฟา ปูแทน ที่ถูกยิงถล่มอย่างโหดเหี้ยม
3-4 บรรยากาศในงานวันรำลึกบาบออิสมะแอ หรือ "เป๊าะจิ๊" ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตก่อนอับดุลรอฟาเพียงไม่ถึง 2 เดือน