"อารีเพ็ญ"กับประเด็นคาใจเหตุบึ้มจะแนะสังเวยชีวิตครู
"ถ้ารัฐพูดความจริงตั้งแต่ต้นว่ายิงจริงก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมาเป็นแบบนี้ในตอนหลัง ต้องถือเป็นการชี้แจงที่ไม่ครบตามกระบวนการที่เกิดขึ้น การมารับสารภาพตอนหลังแม้ยิงไม่ถูกคนแต่ในแง่กฏหมายก็คือการพยายามฆ่าหรือไม่ ผู้เสียหายอาจต่อสู้ในแง่สำคัญผิดว่าเจตนา ต้นทุนความเชื่อของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ก็ลดลงอีก"
เป็นคำกล่าวเปิดใจของ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส หลายสมัย และแกนนำกลุ่มวาดะห์ ซึ่งถูกหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงมองอย่างไม่เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียตรวจสอบเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดรถตำรวจชุด รปภ.ครู ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำให้ครูสตรีมุสลิมเสียชีวิต 2 ราย และครูชายได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย
เหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความสับสนและตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นานนับสัปดาห์ที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 24 ก.ค.2556 คนร้ายลอบจุดชนวนระเบิดที่เชื่อว่าพุ่งเป้าโจมตีรถสายตรวจของรองสารวัตรปราบปราม (รอง สวป.) สภ.จะแนะ บนถนนหน้าโรงพยาบาลจะแนะ ทว่ามีรถยนต์เก๋งคันเล็กยี่ห้อไดฮัทสุ มิร่า ของครูโรงเรียนพิทักษ์วิทยากูมุง อ.จะแนะ แล่นตามมา
ข้อมูลของฝ่ายเจ้าหน้าที่ระบุว่าแรงระเบิดทำให้รถเสียหลักชนร้านค้าริมทางและพุ่งตกลงไปในคูน้ำข้างทาง ครูที่นั่งมาในรถเสียชีวิต 2 ราย คือ ครูนายีหะห์ ยีระ อายุ 38 ปี กับ ครูนุรยาฮาน อาแว อายุ 44 ปี นอกจากนั้นยังมีครูได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย คือ ครูอภิชาต เบ็ญจุฬามาศ อายุ 31 ปี ทั้งหมดถูกสะเก็ดระเบิดฝังที่ศีรษะและตามร่างกาย ขณะที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
ส่วนข้อมูลที่กลายเป็นข่าวลือสะพัดไปทั่วพื้นที่ คือ ครูสตรี 2 คนที่ตาย เธอตายเพราะกระสุนปืนของตำรวจ ข่าวนี้แรงถึงขั้นมีการขึ้นป้ายผ้าโจมตีในพื้นที่ทำนองว่า "ตำรวจฆ่าครูมลายู ใครจะรับผิดชอบ"
รัฐแจง - ลือไม่จบ
เจ้าหน้าที่รัฐนำทีมโดย นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เดินสายชี้แจงทำความเข้าใจแทบจะทันทีหลังเกิดเหตุและข่าวลือเริ่มแพร่สะพัด โดยได้พบปะกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และครอบครัวของผู้สูญเสียโดยตรง หลักฐานสำคัญคือผลเอ็กซเรย์สมองของครูที่เสียชีวิต พบว่ามีเศษเหล็กตัดท่อนที่คนร้ายใช้เป็นสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ โดยที่ตามร่างกายไม่พบร่องรอยกระสุนปืนหรือบาดแผลจากวัตถุหรืออาวุธอื่นใด
ทว่ากระแสข่าวลือและเสียงวิจารณ์ก็ยังไม่จบ...สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเห็นในเชิงไม่เชื่อถือข้อมูลเจ้าหน้าที่ของ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ด้วย เพราะเขาเป็นถึงอดีตผู้แทนราษฎร เป็นนักการเมืองชื่อดัง ทำให้ข่าวลือมีน้ำหนักขึ้นมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางรายถึงกับบ่นอย่างหัวเสียว่า "บ้าหรือเปล่า!" และเริ่มมองอารีเพ็ญอย่างไม่ไว้ใจว่า "ทำไปเพื่ออะไร มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่?"
แต่ความเคลื่อนไหวของอารีเพ็ญ ไม่ได้มีลักษณะจู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาโพสต์ข้อความ เพราะเขาเดินทางลงพื้นที่ไปดูจุดเกิดเหตุในวันถัดมา และรับทราบข้อเท็จจริงบางส่วนจากประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่ามีการยิงปืนจากฝ่ายตำรวจ
จากนั้นเขาก็เริ่มแสดงความคิดเห็น โดยเครื่องมือที่อารีเพ็ญใช้สื่อสารไม่ใช่สื่อกระแสหลัก แต่เป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง "เฟซบุ๊ค" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสนามรบย่อยๆ จากการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงของฝ่ายหนุนและค้าน
"ผมรู้ว่าในเฟชบุ๊คมีกันหลายฝ่าย ไม่รู้ใครเป็นใครบ้าง แต่สาเหตุที่เอาเรื่องนี้มาพูดเพราะผมเป็นนักการเมือง ถ้าเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายขบวนการถูกยิงตายผมก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไร บางวันมีเหตุเกิดขึ้นหลายเหตุ ผู้สูญเสียหลายราย ถ้าผมไปเยี่ยมฝ่ายหนึ่งก็ต้องไปอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน ถ้าผมไม่รู้อะไรในพื้นที่ผมก็เป็นนักการเมืองไม่ได้ อย่างตอนที่เกิดเหตุวิสามัญฯ มะรอโซ (วิสามัญฆาตกรรม นายมะรอโซ จันทรวดี แกนนำผู้ก่อความไม่สงบ พร้อมพวกรวม 16 ศพเมื่อ 12 ก.พ.2556) ผมก็ไปเยี่ยมภรรยาของเขาในเดือนบวชนี้ (หมายถึงเดือนรอมฎอน) เพราะเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนมะรอโซจะต่อสู้ถูกหรือไม่ตัวเขารู้เอง"
"จริงๆ เจ้าหน้าที่ก็หวาดระแวงพวกเราอยู่แล้ว ผมรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ได้เป็นพวกใดพวกหนึ่ง ผมวางกรอบการทำงานของตัวเอง เดินทางสายกลาง ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัว ความเป็นธรรมเกิดจากการไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มุ่งใช้อาวุธในการต่อสู้ เพราะจะเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย"
อารีเพ็ญกับประเด็นคาใจ
อารีเพ็ญ บอกว่า เจ้าหน้าที่น่าจะมองนักการเมืองอย่างเขาในแง่บวกมากกว่านี้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเขา เนื่องจากเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของชาวบ้าน ประเด็นของเขาไม่ได้สรุปว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายผิดหรือสังหารครู แต่ประเด็นคือเจ้าหน้าที่ชี้แจงไม่ครบถ้วนตามความจริงตั้งแต่แรก ทำให้เกิดปัญหาและความหวาดระแวงตามมา
"เจ้าหน้าที่รัฐต้องเชื่อถือนักการเมืองเพราะต่อสู้ในที่สว่าง อย่าไปตีความว่านักการเมืองในพื้นที่เข้าข้างฝ่ายขบวนการ ถ้าเชื่อเช่นนั้นบ้านเมืองนี้จะไม่มีใครเป็นนักการเมืองได้ ผมเป็นประชาชนที่เป็นนักการเมือง และไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธ สาเหตุที่ออกมาแสดงความเห็นเพราะกระแสความไม่เข้าใจของชาวบ้านที่คิดและพูดกันไปว่าเจ้าหน้าที่ยิง เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ทางการต้องชี้แจงทำความเข้าใจโดยใช้ความจริง หรือให้เลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มาพูดก็ได้ เพราะในพื้นที่เขาเป็นขวัญใจของชาวบ้าน ไม่อย่างนั้นก็จะถูกโยงไปต่างๆ นานา"
อารีเพ็ญ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ต้องเปิดใจกว้าง ต้องยอมรับว่ารัฐไทยทำบางเรื่องผิดมาตั้งแต่ในอดีต มีการตัดสินคนโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ฉะนั้นต้องอย่าปกปิดความจริง เพราะปัญหาจะไม่สิ้นสุด ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งในแง่ความถูกต้องและการเยียวยา แต่การดำเนินการทางกฎหมายอยู่ที่เจ้าทุกข์ หากติดใจก็ทำได้ ส่วนคนอื่นไม่มีสิทธิ์
เมื่อถามถึงกรณีที่มุสลิมต้องรีบนำศพไปทำพิธีฝังตามหลักศาสนาภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้หลายกรณีไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการผ่าพิสูจน์ศพเพื่อตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง จนกลายเป็นปัญหาในการพิสูจน์ความจริงในหลายกรณีนั้น อารีเพ็ญ บอกว่า สำนักจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาต้องฟัตวา (ตัดสินหรือวินิจฉัย) ให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี
"กรณีแบบนี้มีเยอะ ผมเป็นทนายด้วยจึงเห็นมาเยอะว่าการไม่ได้พิสูจน์ศพอย่างละเอียดทำให้หลายคดีผู้เสียหายพ่ายแพ้ แต่การชันสูตรศพก็ต้องชันสูตรด้วยความสัตย์จริง ส่วนกรณีของครูจะแนะที่เสียชีวิต ต้องให้ความเป็นธรรมกับแพทย์ด้วย เพราะมีหลักฐานการตรวจที่ชัดเจนและผลเอ็กซเรย์ยืนยัน"
ปากคำผู้เห็นเหตุการณ์
ชายคนหนึ่งซึ่งขอสงวนนามและถิ่นพำนัก ที่ได้เห็นเกือบจะทั้งหมดของเหตุการณ์อันสับสนนี้ ยอมเปิดปากถ่ายทอดรายละเอียดออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจน...
"พอได้ยินเสียงระเบิดก็เดินไปดู เห็นรถตำรวจจอดเสียหลักอยู่ที่หน้าร้านขายของ ถัดจากนั้นแป๊บเดียวก็มีรถยนต์สีขาว (รถยนต์เก๋งของครู) วิ่งไปชนประตูรถของตำรวจ คิดว่าน่าจะโดนระเบิดมา พอรถถูกชนก็เห็นตำรวจเปิดประตูลงมา แต่รถสีขาวยังไม่หยุด วิ่งไปชนซุ้มขายของหน้าบ้านหลังหนึ่ง ชนเต็นท์ และเสียหลักหมุนตกไปในคูข้างถนน"
"หลังจากที่รถตกไปในคู ก็เห็นครูผู้หญิงมุสลิมกระเด็นออกจากรถ ทีแรกเขายังไม่ได้ เขาก็คลานไปจนถึงต้นมะม่วงข้างร้านขายของ ยังได้ยินเสียงร้องให้ช่วยอยู่ คนแถวนั้นกำลังจะวิ่งไปช่วย แต่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ไม่รู้มาจากไหน ก็เลยสติแตกรีบวิ่งไปกัน เพราะไม่รู้ว่าใครยิงใคร ผมเข้าไปหลบในร้านค้าแล้วแอบดูเห็นครูยังนอนร้องอยู่แต่ไม่มีใครเข้าไปช่วยเพราะกลัว เหตุการณ์มันเร็วมาก ทั้งหมดนี้เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น"
ชายที่เห็นเหตุการณ์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นประมาณ 10 นาทีจึงมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลจะแนะเข้าไปช่วยคนในรถ ส่วนครูที่นอนใต้ต้นมะม่วงได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่าเสียชีวิตแล้ว เห็นกันชนรถตกอยู่หน้าร้านค้า ก็เลยเดินไปดูรถที่ตกคูเห็นว่ากระจกแตกหมด คิดว่าเขาคงโดนสะเก็ดระเบิดมาแล้วบังคับรถไม่อยู่
เมื่อถามถึงเรื่องเสียงปืน ชายคนนี้ตอบตามตรงว่า ไม่รู้ว่าตำรวจยิงหรือเปล่าเพราะเขาวิ่งเข้าไปหลบในร้านค้าก่อน พอออกมาก็เห็นแต่รอยกระสุนหลายจุดบริเวณหน้าร้าน รู้สึกกลัวมาก ร้านค้าบริเวณนั้นเสียหายหมด ทราบว่าทางจังหวัดจะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้
ความในใจของภรรยาครูอภิชาต
หลายคนอาจสงสัยว่าในเมื่อตำรวจทำหน้าที่ รปภ.ครู เหตุใดตามข่าวจึงกลายเป็นผู้ที่จะทำร้ายครูเสียเอง เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย...
แต่เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงที่พออธิบายได้จากคำบอกเล่าของ รอกายะห์ ลือแบซา ภรรยาวัย 30 ปีของครูอภิชาต เบ็ญจุฬามาศ ครูชายวัย 31 ปีที่รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว และปัจจุบันยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส
รอกายะห์ เล่าว่า เธอกับครูอภิชาต หรือ แบแอ พักอยู่ด้วยกันที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทุกเช้าที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนก็จะขึ้นรถไฟจากสถานีสุไหงโก-ลก ไปลงที่สถานีตันหยงมัส อ.ระแงะ เพื่อไปรวมกับครูคนอื่นๆ ที่สถานีรถไฟตันหยงมัส แล้วก็นั่งรถไปด้วยกัน โดยครูโรงเรียนพิทักษ์วิทยากูมุงไม่ต้องการเดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่ เพราะเห็นตรงกันว่าอาจจะไม่ปลอดภัย การ รปภ.ครู จึงเป็นการวางกำลังหรือลาดตระเวนตามเส้นทางที่ครูต้องผ่านเท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ขับรถนำขบวนครู
"เข้าใจว่าวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นรถของครู เพราะนอกจากจะไม่ได้ใช้วิธีขับรถนำขบวนครูแล้ว ครูผู้หญิงที่สามีติดรถไปพร้อมกันยังเพิ่งเปลี่ยนรถด้วย"
แต่กระนั้น ข่าวลือแบบปากต่อปากที่แรงจัด ไม่เพียงทำให้เกิดกระแสคาใจในพื้นที่ แต่ยังสร้างความสับสนในหัวใจแก่รอกายะห์ไม่น้อย เธอยอมรับว่าไม่ได้ไปดูสะเก็ดระเบิดตอนที่แพทย์ผ่าออกมาจากศีรษะของสามี
"บอกไม่ถูกเหมือนกัน เพราะชาวบ้านในพื้นที่พูดว่าเจ้าหน้าที่ยิงใส่รถ เพื่อนที่โรงเรียนก็เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง" เธอกล่าวด้วยท่าทีเหนื่อยหน่ายเหมือนท้อที่จะคิด
ตำรวจไม่หนักใจ
เมื่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้เป็นครูถึง 3 คน ทำให้เสียงวิเคราะห์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ แพร่กระจายอยู่ในแวดวงครูไม่น้อยเลย
เช่น ไม่ได้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่กระทำ แต่ก็ไม่มั่นว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบ, มีชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ยิงใส่รถ, เป็นไปได้ไหมที่โรงพยาบาลรู้เห็นเป็นใจกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่พอลองสอบถามถึงต้นตอหรือที่มาของข่าว กลับไม่มีใครยืนยันได้ บอกได้แต่เพียงว่า "ได้ยินเขาพูดกันต่อๆ มา"
แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงปืนปริศนาซึ่งหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดพูดถึง คือสาเหตุสำคัญของปมคาใจในครั้งนี้ แม้ต่อมาจะมีตำรวจออกมายอมรับว่าเป็นผู้ยิงปืนขณะเกิดเหตุชุลมุนจริง แต่เป็นการยิงขึ้นฟ้า ไม่ได้ยิงใส่รถยนต์ของครู และสาเหตุที่ต้องยิงก็เพราะเป็นยุทธวิธีรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนตามที่ได้รับการฝึกมาก็ตาม
พ.ต.อ.ปัตตะ มะดาวา ผู้กำกับการ สภ.จะแนะ กล่าวว่า การที่สังคมตัดสินเจ้าหน้าที่จากปฏิบัติการครั้งนี้ไปแล้วนั้น ไม่ได้ทำให้รู้สึกกังวล เพราะได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน และข้อเท็จจริงก็ชัดเจน มีหลักฐานยืนยันทั้งหมด
"ผมไม่ได้กังวลอะไรเพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏ พยานวัตถุและหลักฐานอื่นๆ ก็ชัดว่าครูผู้หญิง 2 คนไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นยุทธวิธีปกติของตำรวจ เขาไม่ได้ตั้งใจ ตอนนี้ขวัญและกำลังใจยังดีเหมือนเดิม เมื่อลงพื้นที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา ทุกคนก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และสาเหตุที่เกิดเรื่องทั้งหมด"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
2 จุดที่รถไดฮัทสุ มิร่า ของครูเสียหลักตกลงไป
3 รอยกระสุนบริเวณเสาร้านค้าในละแวกจุดเกิดเหตุ
4 ป้ายชื่อครูอภิชาตหน้าห้องอภิบาลผู้ป่วย