เปิดคำถาม “ทำไมเพศเดียวกันถึง ‘แต่งงานกันไม่ได้’ ?”
แม้สังคมไทยจะมีพื้นที่แสดงออกให้กับไบ เกย์ ทอม ดี้ เลสเบี้ยน มากขึ้น แต่ยังถูกตีกรอบจำกัดสิทธิห้ามแต่งงานเช่นชายหญิงทั่วไป จึงส่งผลต่อการทำนิติกรรมร่วมของคู่ชีวิต แม้จะมีความพยายามเรียกร้องให้เกิดกม.แล้วก็ตาม
ภายหลังรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ตอน ทำไมแต่งงานกันไม่ได้ ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ 14 ส.ค. 56 เพื่อหวังตีแผ่กลุ่มเพศสภาวะ(กระเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย) ที่รักและอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่กลับไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เพราะตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 1448 ระบุว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” และถึงแม้จะมีการแปลงเพศแล้วก็ไม่สามารถจะจดทะเบียนสมรสได้ เนื่องจากกฎหมายจะยึดตามสภาพเพศกำเนิด
แต่เมื่อพลิกอ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 กลับมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”
ทำให้กลุ่มเพศสภาวะหลายองค์กรต่างพากันรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมี โดยชูประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เทียบเช่นชายหญิงทั่วไป สู่การผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจดทะเบียนคู่ชีวิต แม้ขณะนี้จะเงียบเฉียบ ไม่ค่อยคึกคักเหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็มั่นใจเหลือเกินว่าอนาคตไทยจะต้องคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาอย่างแน่นอน
ดังเช่นหลายประเทศในโลก โดย ‘เดนมาร์ก’ เป็นชาติแรกที่ยอมออกกฎหมายให้คู่เกย์แต่งงานกันได้ในปี 2532 ตามมาด้วยนอร์เวย์ สวีเดน และไอร์แลนด์ ปี 2539 เนเธอร์แลนด์ ปี 2544 ฟินแลนด์ ปี 2545 เบลเยี่ยม ปี 2546 สเปน ปี 2548 (สามารถขอเด็กเป็นลูกบุญธรรมได้) ลักเซมเบิร์ก ปี 2547 อังกฤษ ปี 2548 (ได้สิทธิบำเหน็จบำนาญ บริการประกันสังคม ซื้อบ้าน และอสังหาริมทรัพย์
รวมถึงบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ รัฐเวอร์มองต์, คอนเนกติกัต, แคลิฟอร์เนีย, แมสซาซูเซสต์, โอเรกอน และโคโลราโด ขณะที่แถบละตินอเมริกา ‘อาร์เจนตินา’ เป็นประเทศแรกที่ให้สิทธิเทียบเท่าชายหญิง ยกเว้นขอเด็กเป็นลูกบุญธรรมและรับมรดก นอกจากนี้ยังมีนิวซีแลนด์ ปี 2547 และแอฟริกาใต้ ปี 2548 อีกด้วย
ที่สำคัญเหนือชัยชนะของกลุ่มเพศสภาวะโลก เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกย์ในมหานครนิวยอร์กร่วมกันฉลองเมื่อศาลสูงอเมริกาตัดสินว่าการลิดรอนสิทธิชาวเกย์เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ สร้างความสุขแก่มวลหมู่เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ การที่กฎหมายไทยไม่รับรองให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสนั้น นอกจากส่งผลต่อภาวะทางจิตใจแล้ว ยังส่งผลต่อการทำนิติกรรมร่วมอีกด้วย เห็นได้ชัดจากความพยายามนำเสนอเหตุการณ์โดยการบอกเล่าของกลุ่มเพศสภาวะผ่านรายการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีการตีพิมพ์เหตุการณ์กรณีเดียวกันในหนังสือ ‘ชีวิตที่ถูกละเมิด:เรื่องเล่า กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ’ ที่หยิบยกเรื่องราวที่เสี่ยงขัดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศสำหรับกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ดังนี้
-คู่ชีวิต ทอม ดี้ ถูกปฏิเสธไม่รับพิจารณาสินเชื่อจากธนาคาร โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่สามีภรรยากัน จึงทำสัญญากู้ร่วมไม่ได้ จึงขัดตามหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ 2 ด้านสิทธิในความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะธนาคารเลือกไม่พิจารณาสินเชื่อให้คู่ชีวิตที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน ทั้งที่หญิงชายที่สมรสกัน โดยไม่จดทะเบียนกัน ธนาคารกลับให้สินเชื่อได้
ข้อ 3 สิทธิในการรับรองทางกฎหมาย รัฐต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้อัตลักษณ์ทางเพศที่บุคคลเลือกได้รับความเคารพและรับรองตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ข้อ 6 สิทธิในความเป็นส่วนบุคคล กำหนดให้รัฐพิทักษ์สิทธิของบุคคลทุกคนในการเลือกว่าจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของตนให้กับใครเมื่อไหร่ หรือด้วยวิธีใด
ข้อ 24 สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เนื่องจากตามหลักการแล้วครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ควรให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศจากด้านต่าง ๆ เช่น สวัสดิการสังคมในครอบครัว หรือสิทธิประโยชน์จากรัฐ
-ดี้ไม่มีสิทธิให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลคู่ชีวิตและไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจนเกือบสูญเสียชีวิตคู่ ซึ่งแพทย์ระบุว่าบุคคลที่จะเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลได้ต้องเป็นญาติกันเท่านั้น ประกอบกับสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล ตามระเบียบกระทรวงการคลังมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลที่ใช้ชีวิตคู่กับคนเพศเดียวกัน
เหตุการณ์นี้นอกจากขัดกับหลักยอกยาการ์ตาข้อ 2 และข้อ 24 แล้ว ยังขัดข้อ 13 ด้านสิทธิในประกันสังคมและมาตรการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพราะได้กำหนดให้รัฐใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อรับรองความเสมอภาคในการได้รับสวัสดิการทางสังคมและมาตรการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการจ้างงาน การประกันสุขภาพ หรือการดูแลหรือสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และสิทธิประโยชน์ให้กับคู่สมรสหรือคู่ชีวิตในกรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
ข้อ 17 สิทธิในการจัดให้มีมาตรฐานสูงสุดด้านสุขภาพ ที่กำหนดให้รัฐใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อรับรองสิทธิในการมีสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมาตรฐานสูงสุดตามสมควร โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยการอ้างสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ และกำหนดให้รัฐออกแบบสถานพยาบาล เวชภัณฑ์ และบริการสาธารณสุข เพื่อพัฒนาสุขภาพและตอบสนองต่อความจำเป็นของทุกคน รวมถึงให้ผู้มีหน้าที่บริการสาธารณสุขปฏิบัติต่อผู้ป่วยและคู่สมรสหรือคู่ชีวิตโดยไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งต้องให้สิทธิเข้าเยี่ยมและสิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์แทนในภาวะวิกฤต
-เกย์ถูกบริษัทประกันชีวิตให้ทำสัญญาประกันได้ แต่ปฏิเสธที่จะให้ยกผลประโยชน์แก่คู่รัก เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะหลอกเพื่อหวังผลประโยชน์ ขัดต่อหลักยอกยาการ์ต้า ข้อ 2 ข้อ 13 และข้อ 24
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ไทยจะเกิดกฎหมายอนุญาตให้กลุ่มเพศสภาวะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้เฉกเช่นนานาประเทศที่เจริญแล้ว เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 30 และไม่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ตามหลักการยอกยาการ์ตา...วันนั้นไทยคงเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างเต็มภาคภูมิ .
|
ที่มาภาพ: http://www.tang-mo.com/moveforums.php?action=viewtopic&topicid=1622694