เปิดผลสอบเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง ฉบับ "คุณหญิงทองทิพ"
เปิดผลสอบเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง ฉบับ "คุณหญิงทองทิพ" ระบุชัดสาเหตุจาก "ท่อ" - ประมาณปริมาณน้ำมันดิบแค่ 54,341 ลิตร
(ภาพประกอบจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์)
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ที่กระทรวงพลังงาน คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลจังหวัดระยอง พร้อมด้วย ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้
โดย คุณหญิงทองทิพ อธิบายข้อเท็จจริงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหรือแบบไทม์ไลน์ใน 3 ประเด็นหลัก คือการเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล, การรับมือกับเหตุการณ์และการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน สรุปได้ดังนี้
คุณหญิงทองทิพ อธิบายว่า เรือขนถ่ายน้ำมันเข้ามาเวลา 4 : 00 น. ของวันที่ 27 ก.ค. จากนั้น เวลา 4 : 24 น.มีเรือเล็กเข้าไปลากปลายท่อที่จะเข้าไปเชื่อมต่อเรือขนถ่ายน้ำมัน
เวลา 5 : 48 น. ต่อท่อขนส่งน้ำมันดิบแล้วเสร็จ ท่อของเรือ PTTGC มีวาล์วที่เตรียมเปิด-ปิดและพร้อมส่งน้ำมันตามปกติ
6 :00 เจ้าหน้าที่ผู้คุมการขนส่งน้ำมันบนเรือแจ้งเจ้าหน้าที่บนฝั่งว่าจะส่งน้ำมันแล้วและได้รับการยืนยันจากฝั่ง เจ้าของเรือ ต้นเรือ ได้รับแจ้ง จึงเปิดวาล์ว เปิดปั๊ม เริ่มส่งน้ำมัน
6 : 30 น. ต้นเรือกับ เจ้าหน้าที่บนเรือได้รับแจ้งว่าลูกเรือเห็นน้ำมันปลิวขึ้นมาเนื่องแรงลมในวันนั้น ทำให้ทราบว่ามีน้ำมันรั่ว เจ้าหน้าที่สั่งเรือเร็ว ให้ไปปิดวาล์ว
“ตอนนี้ ต้นเรือรับแจ้ง ต้นเรือกดปุ่มอัตโนมิติปิด สั่งปิดวาวหมายเลข 1 ของท่อที่เชื่อมต่อท่อน้ำมันของเรือ ทุกอย่างสั่งปิดหมดแล้ว ที่ทุ่นก็สั่งปิด แต่ในเวลานั้นการปิดวาล์วต้องใช้เวลา กว่าจะปิดการเชื่อมต่อได้ต้องใช้เวลา 20 วินาที ซึ่งน้ำมันก็มีสิทธิรั่วไหลออกมา ดังนั้น ภายใน 6 โมง 30 นาที 20 วินาที จึงปิดวาวแล้วเสร็จ จากนั้นจึงปิดวาล์วบนทุ่น เมื่อระบบชัตดาวน์หมด เมื่อท่อรั่วหรือระเบิด โฟมที่พันอยู่รอยท่อและทำให้ท่อนี้ลอยอยู่ได้ก็ฉีกขาดกระเด็น ท่อจึงจมน้ำ น้ำมันก็ไหลออกมา เมื่อถึงตรงนี้ คณะกรรมการฯ สรุปว่า ระบบวาล์วปิดโดยสมบูรณ์ แล้วไม่ว่าวาล์วที่ทุ่นหรือวาล์วส่งน้ำมันก็ปิดหมดแล้ว หมายความว่าน้ำมันถ้าจะไหลออก ก็จะไหลออกจากท่อที่แตก”
คุณหญิงทองทิพกล่าวว่าน้ำมันในเรือไม่สามารถรั่วไหลได้ เพราะปิดปั๊ม ปิดวาล์ว ส่วนน้ำมันในท่ออ่อนใต้ทะเลไม่สามารถไหลออกสู่ทะเลได้ จึงสรุปได้ว่ามีเพียงน้ำมันที่ค้างอยู่ในท่อ บริเวณเชื่อมต่อน้ำมัน ดังนั้น น้ำมันที่รั่วไหล มี 2 ส่วน คือส่วนที่ค้างในท่อ และส่วนที่ไหลหลังจากปิดวาล์ว
สำหรับท่อที่เชื่อมต่อน้ำมันบนเรือกับทุ่นรับน้ำมัน มี 2 ท่อ คือท่อขนาด 16 นิ้ว กับ 24 นิ้ว
ปริมาณน้ำมันเต็มท่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 นิ้ว ยาว 245 เมตร มีปริมาณน้ำมัน 67,247 ลิตร
ปริมาณน้ำมันเต็มท่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 นิ้ว ยาว 55 เมตร มีปริมาณน้ำมัน 6,465 ลิตร
รวมปริมาณน้ำมันดิบ300 เมตร มีปริมาณน้ำมันทั้งสิ้น 73,712 ลิตร
เมื่อท่อแตก โฟมที่พยุงรอบท่อเพื่อไม่ให้จมน้ำก็แตกไปด้วย บริเวณท่อในส่วนที่โฟมแตกจึงจมน้ำ โดยท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 นิ้ว ซึ่งอยู่ในแนวนอน และมีความยาวกว่า 245 เมตรนี้
คุณหญิงทองทิพตั้งสมมติฐานให้มีน้ำมันไหลออกเป็นจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แท้จริง ดังนั้นจากเดิม 67,247 จะเท่ากับ 40,348 ลิตร
ส่วนท่อขนาด 16 นิ้ว ยาว 55 เมตร บางส่วนของท่ออยู่ในแนวตั้งและบางส่วนอยู่ในแนวนอน จึงตั้งสมมติฐานให้น้ำมันรั่วไหลออกทั้งหมด 6,465 ลิตร
สำหรับปริมาณน้ำมันที่ไหลออกในช่วง 20 วินาที ขณะที่ปิดวาล์วจ่ายบนเรือ
อัตราการสูบถ่ายเมื่อวาล์วเปิดเต็มที่ ที่ความดัน 8.5 กก./ตร.ซม. เท่ากับมีปริมาณน้ำมัน 4,000,000 ลิตร ต่อชั่วโมงต่อท่อ หรือเท่ากับ 1,111 ลิตร /วินาที/ท่อ
“ดังนั้น เมื่อคำนวณปริมาณน้ำมันตามคุณลักษณะของการปิด-เปิดวาล์วที่จุดเชื่อมต่อบนเรือ จะได้ปริมาณน้ำมันที่ไหลออกระหว่างปิดวาล์วเท่ากับ 7,528 ลิตร รวมแล้ว คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จึงใช้ตัวเลข 54341 ลิตร ปริมาณน้ำมันนี้ คณะกรรมการฯ ประมาณการ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป๊ะๆ เพราะนี่คือชีวิตจริง หลายอย่างเราวัดไม่ได้ จากประวัติศาสตร์ของน้ำมันรั่วที่ดิฉันได้จากกรมเจ้าท่า ล้วนเป็นการประมาณการเท่านั้น อย่าไปจริงจังกับตัวเลขขนาดนั้น นี่คือตัวเลขที่คณะกรรมการฯ ประมาณการว่าไหลสู่ทะเล” คุณหญิงทองทิพกล่าว
ส่วนลำดับขั้นตอนของการจัดการน้ำมันที่รั่วไหลนั้น คุณหญิงทองทิพอธิบายว่า
“วันที่ 27 ก.ค. เมื่อรู้ว่าน้ำมันรั่ว 6 : 30 น. พนักงาน PTTGC เคลียร์พื้นที่ เอาเรือเข้าไปแก้การเกิดเหตุตามลำดับขั้น ของ ปตท. และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง พีทีทีจีซี กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ เริ่มฉีดสารละลายที่มีอยู่ในบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่บนบกก็พิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรกับคราบน้ำมัน โดยมี 2 วิธี ถ้าคลื่นลมไม่แรง จะใช้วิธีทุ่นล้อมแล้วนำเครื่องปั๊มดูดเก็บ และสารขจัดคราบเพื่อให้น้ำมันแตกตัวเป็นก้อนเล็กๆ โดยสารนี้ จะไปลดความตึงผิว ทำหน้าที่เหมือนสบู่ ซักผ้า ที่ไปคลายความตึงและคราบสกปรกหลุดออกไปได้ ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศที่เราได้ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้เห็นแล้วว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจใช้สารเคมี เพราะคลื่นสูงถึง 2 เมตร วอร์รูมของพีทีทีจีซี จึงตัดสินใจว่าถ้าใช้ทุ่นล้อมคงไม่ได้ จึงขอการสนับสนุนให้มีการส่งเรือมาช่วย รวมทั้งสิ้น 7 ลำ ส่วนวันที่ 28 รวมมีเรือ 10 ลำ โดยมีเรือจากกรมเจ้าท่าด้วย”
นอกจากนั้น พีทีทีจีซีได้ขอความช่วยเหลือไปยังบริษัทขจัดคราบน้ำมันของสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อบริษัทที่สิงคโปร์ส่งภาพประเมิณการเคลื่อนตัวของน้ำมันมาให้ แสดงให้เห็นว่าน้ำมันจะเคลื่อนต่อไปใต้เกาะเสม็ดและจะไปขึ้นที่เกาะมันนอก วันที่ 30 จะไปอ่าวคุ้งกระเบน
“ทีมวอร์รูมของพีทีทีจีซีจึงขจัดไม่ให้น้ำมันทันขึ้นฝั่ง ยืนยันว่าให้เอาเรือเข้ามาเพื่อฉีดสารขจัดคราบน้ำมัน”
วันที่ 28 เจ้าหน้าที่ของพีทีทีจีซียืนยันกับคุณหญิงทองทิพว่าพยายามไม่ให้น้ำมันเข้าหาดและเร่งติดตามเรือบินหรือเครื่องบินพ่นสารเคมีของสิงคโปร์ คาดว่าถ้าพีทีทีจีซีไม่ทำอะไรเลยน้ำมันดิบจะขึ้นฝั่งแหลมหญ้า
จากนั้นคณะทำงานของพีทีทีจีซียืนยันว่าเรือบินจากสิงคโปร์มาถึง 12:00 น. แต่กว่าจะได้รับอนุญาตในเมืองไทย กว่าจะได้ขึ้นบิน เป็นเวลา 15:30 น.
ขณะที่นายวิเชียร กล่าวถึงการใช้สารเคมีว่าเมื่อมีน้ำมันดิบรั่วจากท่อ 54,341 ลิตร คำนวณแล้วต้องใช้สารเคมี 10,692ลิตร สำหรับอัตราส่วนที่ทางบริษัทกำหนดว่าเมื่อใช้ ต้องใช้ 1 ส่วน ต่อน้ำมัน 10 ส่วน
แต่เพราะเรือพ่นสารเคมีจากสิงคโปร์ยังมาไม่ถึง ลำพังเรือที่พีทีทีจีซีมี และด้วยสภาพลมแรง อีกทั้งเป็นน้ำมันดิบที่มีความหนืดสูง
เมื่อคำณวนแล้ว จากที่สารเคมีจะขจัดคราบน้ำมันได้แสนลิตรก็จะขจัดได้เพียงแค่ 1 หมื่นลิตรเท่านั้น มีการใช้สารนี้บนเครื่องบิน 12,000 ลิตร รวมแล้ว 28,000 ในวันแรก
ส่วนวันที่ 2 ขจัดคราบน้ำมันไปได้ 21,096 จะเหลือขึ้นอ่าวพร้าว 11,700 กว่าลิตร แต่เป็นเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น
อย่างไรก็ตา่ม ยืนยันว่าน้ำมันที่รั่วตอบได้จริงว่าประมาณ 50,000 ลิตร ขจัดคราบไปได้ 40,000 กว่าลิตร ที่เหลือก็อาจกระจายอยู่ในท้องทะเลและรวมตัวกับน้ำขึ้นสู่อ่าวพร้าว นอกจากนี้ยังมีการใช้ Super-dispersant 25 จำนวน 6,930 ลิตร
สำหรับสารเคมีที่ใช้ คือ Slickgone NS ที่ใช้ไป 30,612 ลิตรนั้น นายวิเชียรกล่าวว่า สารตัวนี้ เป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก ความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์น้อย จนถึงไม่มีพิษ ไม่ถือว่าเป็นสารอันตราย มีการทดลองสารตัวนี้ในหลายประเทศ ไม่พบรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็ง กลายพันธุ์ หรือไม่สามารถสืบพันธุ์ ยืนยันว่าสารนี้จำเป็นต้องใช้ และปริมาณที่ใช้ ไม่มีอันตราย
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตั้งคำถามว่าข้อมูลของนายวิเชียรและคุณหญิงทองทิพที่ยืนยันว่าสารสลิคกอร์นไม่มีอันตรายนั้น ขัดแย้งกับงานวิจัยของนักวิจัยชาวอิสราเอลที่ศึกษาตัวอย่างจากปะการังหมื่นตัวอย่างและพบว่าปะการังตายทั้งหมดเมื่อใช้สารเคมีตามอัตราส่วนที่บริษัทกำหนด หรือแม้ใช้น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนด ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ปะการังก็ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตัวอ่อนปะการังตาย
นอกจากนั้น น้ำมันดิบปกติก็ไม่ได้อันตรายกับตัวอ่อนของสัตว์ทะเล เทียบเท่ากับสารเคมีกระจายคราบและน้ำมันที่ถูกทำให้กระจายตัว ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะตัวอ่อนของสัตว์น้ำได้ดีขึ้น
คุณหญิงทองทิพตอบว่า “ดิฉันสอนนักเรียนเสมอว่าเมื่อเราอ่านอะไรเราต้องศึกษาให้ละเอียด มีการเข้าใจผิดเยอะมาก เมื่ออ่านอะไร ต้องรู้ให้จริง วิธีการทำงานของสารเคมีนี้ มันไม่มีอะไรพิสดาร มันทำหน้าที่เหมือนสบู่ เราอยากให้ก้อนน้ำมันแยก เพราะอะไรที่เล็กมันก็จัดการง่าย ผลพวงจากสารเคมี มันไปดึงน้ำมันให้เป็นก้อนเล็ก หน้าที่ของสารเคมีคือไปลดความตึงผิว ทำให้ได้น้ำมันเป็นก้อนเล็กๆ แต่ถ้ามีคลื่นลมแรง ก้อนน้ำมันเล็กๆ มันจะรวมกันเป็นก้อนใหญ่ได้ ก็คิดดูว่าการที่เล็กลง แบคทีเรียก็จะย่อยสลายได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเล็กแล้ว ธรรมชาติจะสลายมันเอง”
สุดท้าย คุณหญิงทองทิพกล่าวว่า “คณะกรรมการฯ สรุปว่าเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วเพราะท่อรั่ว ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จากการดูเอกสาร ไม่พบปัจจัยภายนอกที่ทำให้ท่อแตก เหตุอื่นๆที่จะทำให้ท่อแตก เช่น เกิดการกระแทก คนมาเจาะท่อ เท่าที่ประเมินการสืบสวนครั้งนี้ ดิฉันไม่พบ ดังนั้นคงเป็นเหตุทางเทคนิคที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป”