แกะรอย “มือสังหาร” เหนือทีมอุ้มฆ่า “เอกยุทธ"- วินาทีชีวิต “บอล-เบิ้ม”?
แกะรอย “มือสังหาร” เหนือทีมอุ้มฆ่า “เอกยุทธ อัญชันบุตร”- วินาทีชีวิต “บอล-เบิ้ม”? กับความลับที่ซ่อนไว้ใน รถตู้ และ คอมพิวเตอร์ ส่วนตัว
คำแถลงของ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีฆาตกรรม "นายเอกยุทธ อัญชัณบุตร" อดีตนักธุรกิจชื่อดัง
กำลังทำให้สังคมได้รับรู้ความจริงอีกด้านที่ตรงกันข้ามกับสำนวนของตำรวจนครบาล
โดยเฉพาะ “สาเหตุ" ที่แท้จริง แห่งเงื่อนปมการเสียชีวิตของ “นายเอกยุทธ"
เพราะผลการชันสูตรศพที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า การเสียชีวิตของนายเอกยุทธ มิใช่เป็นการฆ่าชิงทรัพย์ธรรมดาทั่วไป
แต่หากการเสียชีวิตครั้งนี้ เป็นการฆาตกรรม ที่ดำเนินการโดย “ทีมฆ่า” มืออาชีพ
บุคคลผู้ร่วมแผนการและลงมือสังหารนายเอกยุทธเป็นใคร? ตำรวจจะสามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่? ในเมื่อขั้นตอน กระบวนการ และวิธีการฆ่า หาใช่ “บุคคลธรรมดา” แต่เป็นผู้ได้รับการฝึกฝน เชี่ยวชาญ และชำนาญในการฆาตกรรมอำพรางอย่างยิ่ง
เหล่านี้จึงล้วนเป็นคำถามสำคัญที่สังคมกำลังเฝ้าจับตามอง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ จากนายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” รายหนึ่ง ถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมอำพรางครั้งนี้
“ทีมฆ่าทีมนี้ น่าจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ทีม โดยคนในแต่ละทีมอาจไม่รู้ว่าทีมอื่นๆ มีใครบ้าง ทีมที่ว่านี้จะแยกออกเป็นทีมสังหาร ทีมอำพรางหรือเก็บกวาดหลักฐาน ทีมทำลายศพ ทีมแกะรอยนายเอกยุทธเพื่อบงการวางแผนฆ่า”
“ในแผนเดิมนั้น นายบอล (คนขับรถ) น่าจะต้องตายตั้งแต่แรก ไม่ได้มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ แต่เกิดเหตุผิดพลาดขึ้น เพราะเขาไม่รู้กัน นายบอลถูกเปิดเผยต่อสื่อมวลชนในฐานะผู้ต้องสงสัยไปก่อน ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่รายหนึ่ง หัวเสียมากกับการให้ข่าวเช่นนี้"
“ สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือ คำให้การที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ขัดแย้งกันไปมาระหว่างนายเบิ้มและนายบอล และนายบอลก็ไม่คิดเช่นกัน ว่าตัวเองจะต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาและไม่รู้ด้วยว่าตัวเองต้องถูกฆ่าตั้งแต่แรก และตอนนี้ก็ถูกหลอกขอให้จำยอมไปก่อน"
นายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” รายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า นายบอลคงยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นแค่หมากตัวหนึ่ง หรือไม่ก็อาจจะเริ่มรู้ระแคะระคาย และอีกไม่นานทั้งบอลและเบิ้มอาจถูก “เก็บ”
ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันจับตา เพราะคนที่บงการและลงมือ เขาไม่กลัวกฎหมายแต่อาจจะกลัวคำพิพากษาและแรงกดดันจากสังคม
“สังคมต้องช่วยกันจับตาคดีนี้ และกดดันเขา อันตรายอย่างหนึ่งคือ อาจมีการฆ่าปิดปากนายบอลและนายเบิ้ม ก่อนคดีจะขึ้นสู่ศาล เพราะถึงที่สุดแล้วคนทุกคนก็รักชีวิต เมื่ออยู่ต่อหน้าศาล เบิ้มและบอลอาจสารภาพและเปิดเผยความจริงว่าใครเป็นผู้จ้างวาน ใครเป็นคนฆ่า เพราะเดิม นายบอลก็ไม่คาดคิด ว่าตัวเองจะต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ซึ่ง "เขา” ก็กลัวกันอยู่ อยากเก็บ 2 คนนี้ แต่ก็ยังรีรอ กลัวกระแสสังคม”
นายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” รายนี้ ยังระบุด้วยว่า เขาสนใจคดีนี้และติดตามการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และได้แกะรอยไปที่ร้านครัวกระแต และบริเวณปากซอยทางเข้าร้านย่านสะพานควาย ก็พบว่า ที่ริมถนนก่อนเข้าร้าน มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่
“น่าแปลกไหม มีกล้องวงจรปิดที่ริมถนน แต่ไม่สามารถตรวจพบได้ ว่าใคร ที่มายืนรอนายเบิ้ม นายบอล”
นายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” รายนี้ ยังกล่าวด้วยว่า การฆาตกรรมอำพรางนายเอกยุทธ มีการวางแผนเป็นขบวนการใหญ่ และวางแผนมานาน โดยทีมวางแผนและทีมฆ่า ล้วนเป็นมืออาชีพ และการย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ก็อาจเป็นหนึ่งในแผนการนี้ เพื่อไม่ให้คุณหญิงเข้ามาก้าวก่าย หรือมีส่วนในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน
แต่ท้ายที่สุด น.พ.นิรันด์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ก็เชิญคุณหญิงหมอมาเป็นที่ปรึกษา อีกทั้งรายงานผลการชันสูตรศพโดยพ.ต.ท.ปิยะพงศ์ สุดสาครเย็น แพทย์ที่ชันสูตรศพนายเอกยุทธ ก็ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า การฆาตกรรมครั้งนี้ กระทำโดยนักฆ่าที่มีความเชี่ยวชาญกระทั่งสามารถรัดคอคนตัวใหญ่อย่างนายเอกยุทธจนเสียชีวิตได้
“คดีนี้ ถูกเบี่ยงประเด็นให้เป็นการฆ่าชิงทรัพย์ คนฆ่าชิงทรัพย์ที่ไหน จะย้อนกลับไปที่บ้านเพื่อไปเอาคอมพิวเตอร์ ดังนั้น สังคมต้องไม่ถูกลวงให้เขว เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญในการฆ่าเอกยุทธก็คือคอมพ์พิวเตอร์เครื่องนี้ แล้วตอนนี้คอมพ์พิวเตอร์อยู่ที่ไหน มีข้อมูลอะไรอยู่ในนั้นบ้าง และสังคมต้องไม่ลืมว่านายเอกยุทธมีบทบาทอีกด้านหนึ่งคือการเป็นสื่อมวลชนที่ตีแผ่ความจริงอีกด้านของรัฐบาล การที่นายเอกยุทธซึ่งเป็นสื่อมวลชนถูกฆาตกรรม จึงสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง การที่คอมพ์พิวเตอร์หายไป ก็เพราะมีข้อมูลสำคัญอยู่ในนั้น แล้วตอนนี้ไปอยู่ไหน พนักงานสอบสวน หัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังแค่ไหน”
แหล่งข่าวรายนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงหลักฐานสำคัญอีกชิ้น นั่นก็คือ ร่องรอยการต่อสู้ในรถตู้คันเกิดเหตุ
“ร่องรอยของ “บุคคลที่ 3” ยังอยู่ในรถ หลังจากฆาตกรรมนายเอกยุทธและเคลื่อนย้ายศพออกจากรถแล้ว นายเบิ้มก็นำรถไปล้างที่ปั๊ม ค่าล้างรถ 4,900 บาท ใครที่ไหนจะล้างรถด้วยราคาขนาดนั้น ยิ่งเมื่อเป็นนายเบิ้ม การล้างรถในราคานี้ก็ยิ่งน่าสงสัย ว่าจะเป็นการล้างเพื่อทำลายหลักฐานทั้งหมด ทั้งรอยเลือด เส้นผม หรือร่องรอยหลักฐานต่างๆ ที่สามารถนำไปพิสูจน์DNA หรือลายนิ้วมือ แต่หลักฐานหนึ่งที่ล้างไม่ออก คือรอยรองเท้าคอมแบทที่จิกลงไปในเนื้อผิวของรถ หมายความว่ามีการต่อสู้ นายเอกยุทธอาจดิ้นรนอย่างรุนแรง การปะทะกันจึงหนัก ทำให้รอยรองเท้าคอมแบทจิกลงไป ไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่"
ส่วนข้อคิดเห็นต่อคดีนายเอกยุทธ นายตำรวจยศสูงผู้นี้กล่าวย้ำว่า ต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวนและถ้าละเลยหลักฐานสำคัญเช่น คอมพิวเตอร์และร่องรอยรองเท้าคอมแบทในรถตู้ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในสำนวนคดี ก็หมายความว่าพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนั้น ระบบและการทำหน้าที่ของอัยการในเมืองไทยก็ควรปรังเปลี่ยนให้เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ที่อัยการก้าวเข้ามาตรวจสอบหลักฐาน และแสวงหาข้อเท็จจริงคู่ขนานไปกับพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นการกำกับดูแล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน
“ อัยการก็ต้องมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกครอบงำหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของตำรวจเสียเอง ขณะเดียวกัน คดีฆาตกรรมอำพรางนายเอกยุทธครั้งนี้ สังคมไทยก็ไม่ควรปล่อยให้เงียบหาย แต่ต้องตรวจสอบและเรียกร้องให้มีการแสวงหาตัวคนผิด ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างถึงที่สุด"
ขณะที่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า อนุกรรมการฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบรถตู้คันดังกล่าว
นี่คือเงื่อนงำ และปมปริศนา ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับคดีฆาตกรรม “นายเอกยุทธ"