เสียงคนเล็กคนน้อยชายแดนใต้...ไม่เชื่อนโยบายขายฝันนักการเมือง
ในห้วงเวลาที่ปี่กลองเลือกตั้งเริ่มอึกทึก พรรคการเมืองกำลังคึกเรียงแถวกันออกมาเสนอนโยบายมัดใจชาวบ้าน แน่นอนว่าการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมเป็น "วาระแห่งชาติ" ประการหนึ่งที่หลายพรรคชูขึ้นเป็นประเด็นหาเสียงเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. 11 ที่นั่งในสามจังหวัดปลายสุดด้ามขวาน
แต่คำถามที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้เสียก่อนก็คือ ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่คืออะไรแน่ เพราะหลายๆ ครั้งฝ่ายการเมืองก็อาจหลงลืมไปเหมือนกัน เนื่องจากระบบการบริหารและการปกครองของบ้านเรามักไม่ค่อยยึด "ประชาชน" เป็นศูนย์กลาง
เหตุนี้เอง "ทีมข่าวอิศรา" จึงลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น และนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองมากหน้าหลายตา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมค้นหาความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน
คนบันนังสตาบ่นเบื่อนักการเมืองไม่จริงใจ
นายยูโซ๊ะ มะ อายุ 50 ปี อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกาสัง ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภา และมีการเปิดรับสมัครผู้ที่ลงสมัคร ส.ส. ชาวบ้านที่บันนังสตาไม่ค่อยจับกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองและการเลือกตั้งเท่าที่ควร ผิดกับเมื่อก่อนที่ชาวบ้านจะคุยกันมาก
"ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ป่านนี้ทุกวงสนทนาโดยเฉพาะตามร้านน้ำชาจะมีการจับกลุ่มคุยกันยกใหญ่แล้ว แต่ทุกวันนี้กลับเงียบๆ เมื่อผมลองถามชาวบ้าน ทุกคนพูดตรงกันว่าเบื่อการเมือง เบื่อนักการเมือง โดยเฉพาะตอนหาเสียงนักการเมืองบอกว่าทำได้ทุกอย่าง บางพรรคถึงขนาดเคยบอกว่าเข้ามาวันแรกก็แก้ปัญหาได้แล้ว แต่พอชาวบ้านเลือกให้มาเป็น ส.ส.ของพวกเขา กลับทำอะไรไม่ได้ แถมบางคนยังพฤติกรรมเปลี่ยน ไม่เคยพูดถึงสิ่งที่เคยรับปากกับชาวบ้านอีกเลย ทำให้คนบันนังสตาเบื่อที่จะพูดถึงอีกต่อไป"
นายยูโซ๊ะ กล่าวต่อว่า ไม่ได้คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร ผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ขออย่างเดียวให้มีความจริงใจจริงจัง เพราะระยะหลังชาวบ้านรู้สึกว่าไม่มีคนจริงจังจริงใจเดินเข้าสภาเลย
"ถึงวันนี้แทบไม่มีชาวบ้านคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าใครก็แก้ไม่ได้ ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่มีวันสงบ ชาวบ้านรู้ รัฐก็รู้ ทุกคนรู้หมดว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่มีทางสงบได้ถ้ายังปล่อยให้มีเงื่อนไขต่างๆ อยู่แบบนี้" อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกาสัง กล่าว และว่า นักการเมืองในปัจจุบันไม่รู้บทบาทของตัวเองว่าเป็นใคร ต้องทำหน้าที่อะไร จึงไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้ บทบาทของนักการเมืองเป็นแค่นายทุน เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกเท่านั้น
เหนื่อยใจ "ว่าที่ผู้แทน" มีแต่หน้าเดิมๆ
นางคอลีเยาะ หะหลี อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และแกนนำสตรีที่ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและเริ่มฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนตัวรู้สึกเหนื่อยใจมากกว่าที่จะรู้สึกตื่นเต้น
"เห็นแล้วรู้สึกเหนื่อยที่การเมืองบ้านเราที่แต่นักการเมืองหน้าเก่าๆ คนเดิมๆ ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วก็เข้ามาแบ่งผลประโยชน์กัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การเมืองไทยยังไปไม่ถึงไหน นักการเมืองแต่ละคนยังคิดแบบเก่าๆ คือเมือถึงเวลาหาเสียงก็ลงพื้นที่กราบไหว้ประชาชน แต่พอได้รับเลือกแล้วก็หายตัว ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา"
ไฟใต้ยืดเยื้อ 7 ปีแต่ ส.ส.พื้นที่แทบไร้บทบาท
คอลีเยาะ ยังบอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมากว่า 7 ปี แทบไม่เคยเห็น ส.ส.ในพื้นที่คนไหนออกมาปกป้องหรือทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้เลย
ส่วนความคาดหวังถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น คอลีเยาะห์ บอกว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปเข้ามาทำงานให้ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เลือกแล้วมาทะเลาะกัน ที่สำคัญนายกฯต้องเก่งทางด้านเศรษฐกิจ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัญหาความไม่เป็นธรรม ที่สำคัญนายกฯต้องเป็นคนที่ต่างประเทศให้การยอมรับด้วย
กับประเด็นหาเสียงของบางพรรคการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าการนครรัฐตามรูปแบบการปกครองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น คอลีเยาะห์ มองว่า ส่วนตัวยังมองไม่เห็นรูปธรรมในเรื่องนี้ คิดว่าเป็นแค่กลยุทธ์การหาเสียงมากกว่า คนที่ชูประเด็นนี้น่าจะรู้ดีว่าเป็นประเด็นโดนใจ แต่คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการปกครองรูปแบบใหม่ และชาวบ้านทั่วไปก็ยังไม่ค่อยทราบรายละเอียดเท่าไหร่เลย
"เขตปกครองพิเศษ" ไม่ใช่หัวใจแก้ไขปัญหา
นางปรีดา เครือแตง ประธานชมรมเพื่อสุขภาพจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีที่ทุกคนต้องการคือนายกฯที่เข้ามาแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกเรื่องที่เป็นปัญหานายกฯต้องดูแลแก้ไข ทั้งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ราคาสินคาที่แพงขึ้นทุกวัน และปัญหาอื่นๆ ฉะนั้นต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ดีแต่พูดเท่านั้น แต่ต้องทำได้จริงๆ
นางปรีดา ยังเห็นว่า ไม่อยากให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนำประเด็นเรื่องเขตปกครองพิเศษหรือการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ขึ้นมาหาเสียง เพราะปัญหาชายแดนใต้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ แต่เป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์และความแตกแยกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ฉะนั้นรัฐบาลใหม่จึงควรหยิบประเด็นนี้มาแก้ไขโดยด่วนมากกว่า
ช่วยหันมาฟังเสียงประชาชนบ้าง...
นายประทีป หมวกสกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพตากใบ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตอนนี้บ้านเมืองวุ่นวายเพราะประชาชนขาดความสามัคคี ฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ประชาชนต้องเลือกนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาสร้างความปรองดองเท่านั้น
ส่วนปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี ประชาชนก็ควรใช้วิจารณญาณเลือกให้ดี เพราะผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อสภาพปัญหา อย่าให้เหมือนที่ผ่านๆ มาซึ่งนักการเมืองประกาศว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา แต่กลับไม่เข้าใจ และทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้นไปอีก
"เหมือนกับที่ตอนนี้บางพรรคชูประเด็นหาเสียงเรื่องการปกครองรูปแบบใหม่ ผมยังสงสัยว่าเขาเข้าใจปัญหาจริงๆ หรือยัง การมองจากข้างบนแล้วมาสรุปว่าต้องทำแบบนี้ๆ เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ ผมถามว่าคนที่เห็นดีเห็นงามด้วยคือประชาชนหรือเปล่า ประชาชนเคยพูดหรือไม่ หรือว่านักการเมืองพูดกันเอง อยากให้ฟังเสียงประชาชนบ้าง เพราะคนที่รู้ปัญหาดีที่สุดคือประชาชน" ประทีป ระบุ
และทั้งหมดนี้คือความในใจของ "คนพื้นที่" ซึ่งผู้อาสาเป็นตัวแทนประชาชนในดินแดนแห่งนี้...สมควรเงี่ยหูรับฟัง!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ผู้จัดการ