ดูหนัง...ดูละคร (ชีวิต) แล้วย้อนดูตัว
นางเอกเจนนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ เคยทำให้ผู้ชมทีวีติดกันงอมแงมจากตัวละครชื่อ "มุนินทร์-มุตา" ในละครสุดฮอตฮิตเรื่อง “แรงเงา” ขณะที่ตัวละครเมียหลวง “นพนภา” รับบทโดย ธัญญ่า ธัญญาเรศ เองตระกูล ก็เล่นได้อย่างสมจริงสมจัง และแม้ว่าละครเรื่องนี้จะจบบริบูรณ์ไปนานแล้ว
แต่สำหรับชีวิตบางคน อาจยังไม่จบ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตเรื่อง “จิตเวชศิริราช.....ปันความรู้สู่ประชาชน” ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยมีการเสวนาหัวข้อเรื่อง “ดูละครแล้ว...แล้วย้อนดูตัว”
เริ่มต้น...การเสวนาผู้จัดกระตุกความสนใจผู้ฟังด้วยการนำฉากใหญ่ฉากหนึ่งในละคร นั่นก็คือฉากที่ “นพนภา” ตบลูกสาว รวมไปถึงฉากที่ “มุตตา” กลับบ้านมาหาพ่อแม่ โดยเธอนำพวงมาลัยมากราบ พร้อมอำลาหลังจากผิดหวังต่อการกระทำของตนเองที่ไปเป็นมือที่ 3 ของครอบครัวอื่น จนเกิดการตั้งครรภ์ ก่อนที่จะไปนำสู่ฉากการแขวนคอ
ฉากเหล่านี้สะท้อนอะไรกับคนในสังคม รศ.นพ.เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา อ.ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งคำถาม และว่า เมื่อดูละครแล้วเราเคยย้อนดูตัวเองหรือไม่
“เราเอาละครไปสอนคนได้ไหมว่า ความรุนแรงไม่ดีอย่างไร จริงๆ แล้วละครสอนคนได้ โดยเฉพาะสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลมากในกลุ่มเด็ก หากเราเลี้ยงดูโดยการใช้สื่อจากโทรทัศน์ เพราะสื่อมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของผู้ปกครองที่ต้องให้คำแนะนำ”
ขณะที่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง รศ.นพ.เธียรชัย ชี้ว่า ความรุนแรงจริงๆ แล้วไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น บางทีกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงต้องการสื่อให้เห็น คือ “ฉันรับไม่ได้ ฉันรู้สึกไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายทำ”
แต่เมื่อใช้ความรุนแรงในการสื่อสารกับอีกฝ่าย เขาจะไม่ได้รับรู้ว่า เรารู้สึกไม่พอใจ แต่เขาจะรับรู้ว่าคนที่ใช้ความรุนแรง คือ คนที่ไม่มีเหตุผลในการแก้ปัญหา ฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการมีสติ รู้ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ควรจะหลีกเลี่ยงดีหรือไม่
ด้าน นพ.ปเนตร ผู้กฤตยคามี อ.ประจำภาควิชา จิตเวชศาสตร์ ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยกกรณีการนำเสนอฉากที่รุนแรงของสื่อมวลชน ขึ้นมาเสริมเพื่อยืนยันว่า ฉากต่างๆ ในละครมีผลกระทบกับเด็กแน่นอน ดังนั้นสื่อจำเป็นที่จะต้องรอบคอบในสิ่งที่นำเสนอออกมา
ที่สำคัญ นพ.ปเนตร ยังเห็นว่า พื้นฐานของครอบครัวเป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างเด็กให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี หากมีละครที่มีฉากล่อแหลมหรือรุนแรง ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องนั่งดูด้วยพร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุและพฤติกรรมของละครให้เด็กเข้าใจ
"ภาวะของความรุนแรง อาการซึมเศร้า เครียด หรือรู้สึกผิดของตัวละครอย่างมุตตานั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสังคม การแก้ปัญหาง่ายๆ คืออย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว บางทีครอบครัวต้องเปิดใจรับฟังด้วย อย่าให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว" นพ.ปเนตร ระบุ
เมื่อถามความเห็นจากตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมงานเสวนารายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า “ความจริงสิ่งที่ละครสะท้อนก็มาจากชีวิตจริงเหมือนประโยคที่เขาบอกว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ละครบางที่ก็ยิ่งกว่าชีวิตจริงเสียอีก คือที่ละครเสนอมามันก็เป็นแง่มุมหนึ่งในสังคม ถามว่าเวลาเราดูละครแล้วเราได้อะไรไหม เคยเอามาย้อนดูตัวเองหรือไม่ ซึงก็มีนะ แต่เราก็แยกได้ว่าอะไรดีไม่ดี เชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วแยกแยะได้หมดว่าอะไรดีไม่ดี อยู่ที่ว่าเราจะทำตามสิ่งที่ดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง”
ตัวแทนเยาวชนรายนี้ ยังให้ความเห็นต่อไปว่า การที่สังคมมองว่า สื่อนำเสนอละครแล้วมีฉากรุนแรงต้องมีการเซ็นเซอร์ อย่างฉากสูบบุหรี่ เซ็นเซอร์แต่เฉพาะบุหรี่ เด็กก็เห็นหมดแล้วพฤติกรรมที่ทำคืออะไร ผู้ใหญ่อย่ามองว่าเด็กโง่ คิดไม่เป็น จริงๆแล้วเขาคิดได้ ยิ่งห้ามมากเท่าไรเด็กก็ยิ่งอยากรู้มากเท่านั้น และไม่คิดว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาด้วย ซึ่งผู้ใหญ่บางคนจะเคยรู้มุมมองตรงนี้หรือไม่ บางทีผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้เลยว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง
ฉะนั้น บทสรุปของละครกับชีวิตจริง บางครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน สถานการณ์เดียวกัน ที่มีการสื่อสารออกมาให้เราทุกคนได้มองเห็น ละครจะน้ำเน่าหรือไม่ เราคงต้องย้อนมาถามตัวเอง
…ดูละครแล้วมองย้อนดูตัวแล้วหรือยัง ?