สื่อรักวันแม่ ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ พรรณไม้ใหม่นามพระราชทาน
วว.ได้ขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ เมื่อ 17 พ.ย. 2555 อันหมายถึง ‘มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน’
‘ดอกมะลิ’ ดอกไม้สีขาวสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ 12 ส.ค.ของทุกปี นับเป็นสื่อแทนความรักที่บริสุทธิ์ของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูก และทุกครั้งเมื่อถึงเทศกาลดังกล่าว ธุรกิจขายดอกมะลิต่างขยับราคาสูงขึ้นกว่าปกติ สร้างรายได้ให้เกษตรกรตลอดจนพ่อค้าแม่ขายถ้วนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมะลิซ้อนและมะลิวัลย์
แต่จะมีสักกี่คนที่จะทราบว่า บ้านเรายังมี ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ พรรณไม้พระราชทานนามชนิดใหม่ของโลกให้ชื่นชมแล้ว โดยการค้นพบของ ‘ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น’ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เอกสารเผยแพร่งานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี วว. ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ อธิบายถึง ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ ไว้น่าสนใจว่า
‘ดร.ปิยะ’ ได้สำรวจพบเมื่อปี 2552 บริเวณเนินเขาเตี้ยที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคอีสานตอนบน จึงได้ตรวจสอบพรรณไม้ชนิดดังกล่าวร่วมกับ Ms.Ruth Kiew ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะลิ ชาวอังกฤษ
ทั้งนี้ วว.ได้ขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ เมื่อ 17 พ.ย. 2555 อันหมายถึง ‘มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน’
เอกสารเผยแพร่ฯ ระบุต่อว่า ดอกไม้พันธุ์นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum bhumibolianum Chalermglin ถือเป็นพรรณไม้ถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของไทย จัดอยู่ในสกุลมะลิ (Genus Jasminum) วงศ์มะลิ (Family Oleaceae) มีลักษณะเป็นเถาไม้เลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร กิ่งยอดเรียวเล็ก เรียบ ใบรูปรีหรือรูปหอกกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบเป็นตุ่มแหลม ใบหนา เหนียวสีเขียวเข้มเป็นมัน
‘ดร.ปิยะ’ บอกถึงความต่างของ ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ ว่า เป็นพรรณไม้ที่พิเศษกว่ามะลิทั่วไป กล่าวคือ มีกลีบเลี้ยงที่แข็ง หนา และแหลม ราว 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบ ซึ่งแม้จะเจริญเติบโตช้า แต่กลับออกดอกบานส่งกลิ่นหอมแรงกว่า
ที่สำคัญช่อดอกจะตั้งตลอดเวลา ทำให้สังเกตได้เด่นชัด ขณะที่มะลิอื่น ๆ จะออกช่อดอกห้อย และมีกลีบเลี้ยงอ่อนกว่า พร้อมกับเชื่อว่า ในอนาคตจะต้องมีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินงานได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนการขยายพันธุ์อยู่ ซึ่งสามารถใช้ได้ 2 วิธี คือ เพาะเมล็ดและปักชำ คาดว่า ภายในสิ้นปี 2556 จะขยายพันธุ์ได้ถึง 100 ต้น
“เมื่อขยายพันธุ์ได้ตามจำนวนที่คาดการณ์ไว้แล้ว สถาบันจะเปิดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการขยายพันธุ์และส่งเสริมการขายมะลิชนิดนี้แก่เกษตรกร ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานติดต่อเพื่อขอนำต้นมะลิเฉลิมนรินทร์ไปศึกษา เพื่อหวังจะทดลองและศึกษาสรรพคุณสมุนไพร แต่ในเมื่อยังมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถให้ได้นั่นเอง” ผู้เชี่ยวชาญ วว. ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ตามรายงานในเอกสารเผยแพร่ฯ อธิบายถึงการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ไว้ชัดเจนว่า ต้นกล้าที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะเจริญเติบโตช้ากว่าจะเลื้อยไต่ซุ้มสูง 1 ม.และออกดอกได้ต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี
ในขณะที่การขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำกิ่งได้ผลดี ทำให้มีโอกาสออกรากและรอดตายสูงกว่า สามารถเลื้อยไต่ซุ้มและออกดอกได้ในเวลา 1 ปี ส่วนการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากกิ่งยอดมีขนาดเล็กมากและตอนได้ยาก
กระนั้น การปักชำควรเลือกกิ่งยอดที่แข็งแรง สมบูรณ์ สีของเปลือกกิ่งเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม ซึ่งจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า 20 ซม. ปักลงในถุงเพาะชำหรือกระถางที่มีทรายผสมขี้เถ้า แกลบเป็นวัสดุปักชำ ราดหรือฉีดพ่นด้วยสารป้องกันเชื้อรา ให้น้ำจนมีความชื้นเหมาะสมทุกวัน ราว 1 เดือน ก็จะออกรากและนำไปปลูกได้
ฉะนั้น อนาคตเชื่อเหลือเกินว่า นอกจาก ‘มะลิเฉลิมนรินทร์’ จะได้รับความนิยมใช้เป็นสื่อแทนความรักเนื่องในวันแม่แห่งชาติแล้ว พรรณไม้ชนิดนี้ยังจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่เกษตรกรไทยในยุคก้าวเข้าสู่ ‘เออีซี’ อีกด้วย...