เกษตรกรบุรีรัมย์เตรียมเปลี่ยนผืนนาเป็นอ้อย 6 หมื่นไร่ ตามนโยบายโซนนิ่งรบ.
เกษตรกรบุรีรัมย์ขานรับนโยบายโซนนิ่งรบ. เตรียมเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย คาดนำร่อง 6 หมื่นไร่ภายในปี 56 ‘รมว.กษ.’ หนุนพันธุ์อ้อยและแหล่งน้ำ หวังความเป็นอยู่ดีขึ้น
วันที่ 7 ส.ค. 56 ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โนนขวาง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังพบปะเสวนาการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมเป็นการปลูกอ้อยโรงงานแปลงเล็ก ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่บุรีรัมย์ที่มีการปลูกข้าวประมาณ 3 ล้านไร่ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนการปลูกอ้อยแล้ว จากพื้นที่เหมาะสมประมาณ 3 แสนไร่
โดยในปีนี้ทางจ.บุรีรัมย์ได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อย เนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 6 หมื่นไร่ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล 70:30 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า สำหรับมาตรการที่กษ.จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ในปัจจุบันและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงอยู่นั้น จะเร่งรัดส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน
ขณะที่การจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการจัดหาพันธุ์อ้อยที่ดีสำหรับเพาะปลูกนั้น จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความต้องการของเกษตรกร และมีแผนจะสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมสู่พืชชนิดอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง และการปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟอินทรีย์ต่อไป .