ป.ป.ช.มอบรางวัล "องค์กรโปร่งใส" ประจำปี 2555
นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานและพิจารณามอบรางวัลองค์กรโปร่งใส กล่าวถึงที่มาของการประกวด “องค์กรโปร่งใส” ว่า “จากผลการสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเกี่ยวกับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ที่พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใส 3.4 คะแนน จาก 10 คะแนน จัดอยู่ในลำดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาค และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้จัดทำและประกาศผลคะแนนค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ขึ้น ประเทศไทยได้คะแนนค่า CPI เท่ากับ 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเป็นอันดับที่ 88 ของโลก (มีคะแนนเท่ากับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซูรินาเม สวาซิแลนด์ และแซมเบีย) เป็นอันดับที่ 13 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ (87 คะแนน) บรูไน (55 คะแนน) และมาเลเซีย (49 คะแนน)
ประกอบกับการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจอยู่ในคนกลุ่มน้อยที่มีความรู้ ทุน และอำนาจการเมือง นอกจากนี้สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการต่อต้านการทุจริต ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี บกพร่องในการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมีการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจบางแห่งยังขาดจริยธรรมและไม่ปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ประชาชนขาดจิตสำนึกและไม่มีความตระหนักในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งขาดการส่งเสริมและสนับสนุนยกย่อง เชิดชูคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขาดการปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจัง
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้มีการนำเสนอแนวคิดในการสร้างคุณค่าและจิตสำนึกที่ดีแก่สังคม โดยการ สร้างค่านิยมความมีจริยธรรมและจรรยาบรรณควบคู่กับการส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาลให้เป็นที่ยอมรับในทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้จัดประกวดรางวัล “องค์กรโปร่งใส” ประจำปี พ.ศ. 2555 (NACC Integrity Awards) โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจเอกชน ส่งผลงานเข้าประกวดซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่สามแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และยกย่องเชิดชูหน่วยงาน/องค์กร/สถาบัน ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน ให้เป็นแบบอย่างที่ดี”
นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ค่อนข้างเข้มข้นมากว่า “โดยในปีนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 66 ราย
และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับในสังคมรวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานและสมาคมอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ก.พ. องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มาทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกผู้สมัครจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการดำเนินงานและพิจารณามอบรางวัลองค์กรโปร่งใส และคณะทำงานคัดกรองผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อรับรางวัลองค์กรโปร่งใส
โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย 7 หมวด คือ ความรับผิดชอบ การเคารพต่อนิติธรรม การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเคารพต่อ การปฏิบัติตามแนวทางของสากล นอกจากนี้ยังมีกระบวนการพิจารณาและตัดสินโดยมีการสอบทานข้อมูลเชิงลึกกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น รวมทั้งมีการเชิญหน่วยงานที่สมัครเข้ามานำเสนอข้อมูลการปฏิบัติงานและตอบข้อซักถามต่อคณะอนุกรรมการฯ หลังจากนั้นมีการเยี่ยมชม (Site Visit) หน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อสำรวจและรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคลากรในหน่วยงานอีกด้วย หลังจากนั้นจึงจะประกาศรายชื่อหน่วยงานที่สมควรได้รับรางวัลลงในเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th และทางหนังสือพิมพ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบหรือทักท้วงว่าหน่วยงานดังกล่าวสมควรได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใสหรือไม่ ก่อนที่จะมีการประกาศผลการตัดสินเพื่อให้ผลการตัดสินนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด”
นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงผลการประกวด“องค์กรโปร่งใส”เกียรติยศแห่งคุณธรรมจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ครั้งที่ 3 ประจำปี 2555 ว่า มีผู้ได้รับรางวัลดังนี้ รางวัลองค์กรโปร่งใส จำนวน 4 ราย คือ 1. บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 4. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
รางวัลชมเชย จำนวน 17 ราย คือ 1.บริษัท เทเวศประกันภัยจำกัด (มหาชน) 2. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ไทยบริติชซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 5.มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 6.บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) 7.วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก 8.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด 9.บริษัท ดรีมเวอร์คส์ แฟบริคเคเตอร์ จำกัด 10.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 11.บริษัท หยั่นหว่อหยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด 12.บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) 13.กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 14.บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 15.บริษัท ป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) 16.บริษัท อัลลายแอนซ์ ออโต้ ออคชั่น จำกัด 17.วิทยาลัยสันตพล
ทั้งนี้ ได้กำหนดการจัดพิธีมอบรางวัลคือ วันที่ 14 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัล และการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “สถานการณ์และมุมมองด้านความโปร่งใส : การบริหารจัดการเพื่ออนาคตประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. รศ.ดร. จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสแห่งประเทศไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และนายภาส ภาสสัทธา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ 4 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส มาจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานในวันงานดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการมีคุณธรรม จริยธรรม และซื่อสัตย์สุจริต ด้วยหลักธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ได้”
นายณรงค์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “รางวัลองค์กรโปร่งใส”นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะนอกจากเป็นการประกาศ เชิดชูเกียรติคุณของแต่ละองค์กรแล้วยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นการสร้างกระแสสังคมให้เกิดค่านิยม ในการบริหารองค์กรอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม และซื่อสัตย์สุจริต ด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) มีจรรยาบรรณทางการค้า (Code of Conduct) และรับผิดชอบสังคมส่วนรวม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาพรวมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้ ยังจะเป็นการช่วยยกระดับภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักป้องกันการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชน สำนักงาน ป.ป.ช. โทร. 02 282 0674 , 02 282 3161-5 ต่อ 604” สายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือ www.nacc.go.th