ชาวบ้านเสม็ด ร้องกสม.น้ำมันรั่วอ่าวพร้าว ไม่เคยรับรู้ข้อมูล โอดต้องกรอกเอกสารเยียวยาดั่งจำเลย
กลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ตบเท้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรรมการสิทธิ์ฯ น้ำมันรั่วเสม็ด ชาวบ้านหวั่นผลกระทบจากสารเคมี ชี้หน่วยงานราชการ-เอกชนไม่เคยให้ข้อมูล ข่าวสารต้องติดตามกันเอง
วันที่ 6 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เดินทางมายื่นหนังสือเรืองเรียน “กรณีน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคัล จำกัด (มหาชน)” ให้เป็นไปตามกฎหมายและมีหลักธรรมาภิบาล ในการปฏิบัติในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ศูนย์ราชการ ถนน แจ้งวัฒนะ นำโดยนายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
นายสุทธิ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องออกมาร้องเรียนว่า เพื่อต้องการให้มีการตรวจสอบเนื่องจากทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคัลฯ รวมถึงหน่วยงานรัฐยังไม่มีมาตรการในการเยียวยาที่ชัดเจน อีกทั้งการทำงานในขั้นตอนต่างๆ มีการเร่งรัดเกินไป ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหานี้แท้จริงแล้วต้องใช้ระยะเวลานาน
"หากติดตามข่าวจะพบว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้มีการออกมาพูดคุยกับชาวบ้านหรือหาแนวทางที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวเลย อีกทั้งหลักการในการเยียวยาก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ไม่มีกฎเกณฑ์ เพียงแต่บอกว่าจะชดใช้ให้วันละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา30 วัน ผมเห็นว่า ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาตามหลักสากล"
ด้านนายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกประมงพื้นบ้านกลุ่มเรือเล็กระยอง กล่าวถึงการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ไม่มีความชัดเจน ไม่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ว่า หากทรัพยากรไม่กลับมาในระยะเวลาที่กำหนดจะทำอย่างไร ชาวบ้านขายสินค้าไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไร ถามไปไม่มีคำตอบ
"ทุกวันนี้ผลกระทบที่เกิดกับขึ้นชาวประมงคือแม่ค้าขายสินค้าไม่ได้ สั่งยกเลิกชาวประมงไม่ต้องออกเรือ รวมถึงสินค้าที่ติดแบรนด์ว่า ระยอง ถูกสั่งงดไม่ให้ส่ง มาตรการในการเยียวยาภาคประชาชนเวลามีการประชุมก็ไม่มีการหารือกับชาวบ้าน" นายจตุรัส กล่าว และว่า สิ่งที่ทำขณะนี้ คือมีเอกสารใบเดียวให้คนได้รับความเดือดร้อนกรอก โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย หัวกระดาษไม่มีการอธิบายว่าเป็นของหน่วยงานไหน ชดใช้เท่าไร รู้แต่เพียงนายอำเภอเอามาให้กรอก ยิ่งไปกว่านั้น ชาวประมงรู้สึกเป็นทุกข์กับข้อความบางประโยค เช่น ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อมูลที่ให้นี้เป็นความจริงทุกประการ หากภายหลังปรากฎว่าข้อมูลที่ให้นี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยินยอมได้รับการดำนเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา อีกทั้งจะให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ เป็นคนที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่จำเลย
ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เกาะเสม็ด ให้ข้อมูลกับ "สำนักข่าวอิศรา" เพิ่มเติมถึงปริมาณคราบน้ำมันยังคงมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่พัดเข้าสู่ชายฝั่งทะเล โดยไม่ได้มีปริมาณลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากชาวประมงที่ออกทะเลยังพบคราบน้ำมันปริมาณมากลอยอยู่ใกล้ๆกับบริเวณที่น้ำมันรั่ว
ที่สำคัญชาวบ้านก็ยังไม่ทราบว่า การใช้สารสลายคราบน้ำมันของทางบริษัทพีทีที เคมิคัลฯ นั้น คือสารอะไร และมีผลกระทบกับชาวบ้านมากแค่ไหน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของรัฐบาลและบริษัท พีทีที เคมิคัลฯ ไม่เคยชี้แจงรายละเอียดแต่อย่างใด ขณะที่การทราบข้อมูลของชาวบ้านนั้นมาจากการติดตามข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น
สำหรับรายละเอียดข้อร้องเรียน มีใจความว่า
- ขอให้มีการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลว่าใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่ในการปฏิบัติต่อการแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันรั่วอย่างจริงจังหรือไม่
- ผลักดันให้มีมาตรการการบำบัด ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งให้มีการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การดูแลสุขภาพของประชาชนของทั้งรัฐบาลและบริษัทที่ก่อเหตุ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและหลักสิทธิมนุษยชน
- ป้องกันปัญหาไม่ให้มีการเกิดเหตุซ้ำและให้มีการผลักดันมาตรการเชิงนโยบายให้รัฐบาล สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและชะลอการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดระยอง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว ทางกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับอีก 3 องค์กร คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา, คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา