ไขปม “นำเด็กแถลงข่าว” ใครผิด ? ในยุค “ตำรวจเอาหูไปนา-สื่อเอาตาไปไร่”
“สื่อต้องกวาดบ้านตัวเองก่อน เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่เสียหาย แต่มันส่งผลกระทบในวงกว้าง เหมือนทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของสังคม ที่สำคัญสังคมไทยมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอมาก ทั้งที่มีกฎหมายห้าม แต่ก็ทำกันทุกครั้ง และต่อไปถ้าทำผิดกันทุกวัน มันจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในที่สุด”
(ดัดแปลงจากภาพต้นฉบับจากเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์)
เป็นภาพที่เห็นจนชินตาไปเสียแล้ว เวลาตำรวจนำ ‘เด็ก’ มาแถลงข่าว โดยมีสื่อมวลชนรายล้อมนับสิบ ผลัดกันถ่ายภาพ – ยิงคำถาม โดยไม่ได้ฉุกคิดเลยว่าเด็กที่ถูกฝูงชนล้อมหน้าล้อมหลังนั้นจะมีความรู้สึก อย่างไร ไม่มีใครใส่ใจหรือกล้าตั้งคำถามว่ามัน ‘ถูกต้อง’ หรือไม่ ?
ถึงแม้จะมีการปกปิดหน้าตาของเด็กด้วยหมวกไหมพรม หรือสิ่งของต่าง ๆ นานา เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครล่วงรู้ตัวตนของเด็กก็ตาม ทว่าภายในจิตใจของเด็กนั้นไม่มีใครทราบได้เลยว่าจะรู้สึกเช่นไร
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีนายตำรวจตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานตำรวจนครบาล นำเด็กอายุราว 14 – 16 ปี ซึ่งถูกล่อลวงไปค้าประเวณีมาแถลงข่าวเสียใหญ่โต มีนักข่าวมากมายมารุมถ่ายภาพเด็กเพื่อนำไปทำข่าว
คำถามคือ ‘เด็ก’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกระทำสามารถนำมาแถลงข่าวได้จริงหรือ ?
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 75 ได้ระบุว่า ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่น หรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น อันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน
นอกจากนี้ มาตรา 76 ระบุอีกว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีการหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือ บันทึกภาพเด้กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
และมาตรา 130 ยังระบุอีกว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยว ข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฎในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัวตน หรือโฆษณาข้อความเผยแพร่ประวัติการกระทำความผิด สถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้นได้
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจของเด็ก มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายผิด มาตรา 79 คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แล้วการนำเด็กมาแถลงข่าวนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ในกระบวนการสอบสวนของตำรวจ ?
พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การนำเด็กมาแถลงข่าวนั้น ไม่ได้อยู่ในกระบวนการสอบสวนเลย และไม่มีผลกับรูปคดีอีกด้วย ดังนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เด็กคือผู้ถูกกระทำซ้ำ ที่สำคัญคือมีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด และตำรวจเองก็มีข้อบังคับว่าห้ามนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมาแถลงข่าว และห้ามชี้ตัวต่อหน้าสาธารณะชนอย่างเด็ดขาดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว แต่กลับบ่ายเบี่ยง และวางสายไป แม้ผู้สื่อข่าวจะติดต่อกลับไปหลายครั้ง ก็ไม่มีผู้ใดรับสายอีก
ขณะที่ในมุมมองสื่อมวลชน ทั้งที่มีกฎหมายป้องกันแล้ว แต่ก็ยังเผยแพร่ และนำเสนอภาพเด็กอย่างต่อเนื่อง มันเกิดอะไรขึ้น ?
นายประสิทธิ์ นิเวศน์ทอง ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อธิบายว่า กฎหมายก็เป็นส่วนของกฎหมาย แต่การทำหน้าที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วองค์ประกอบคือตำรวจ ไม่ใช่นักข่าว เราเป็นนักข่าว องค์กรเขาจ้างมาทำข่าว ถ้าเราไม่ทำก็เดือดร้อนอีก ดังนั้นการถ่ายภาพจึงขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนว่าจะถ่ายแบบไหน เช่น ให้เห็นหน้าชัดแล้วเบลอหน้า หรือว่าตั้งใจถ่ายเลี่ยงไม่ให้เห็นหน้าเด็ก ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว
นายประสิทธิ์ อธิบายถึงสาเหตุที่ไม่มีสื่อมวลชนทำข่าวเอาผิดตำรวจที่นำเด็กมาแถลงว่า ถ้าพูดตามหลักมันก็ผิดกฎหมาย แต่ตำรวจก็มักจะมีข้ออ้าง เช่น เพื่อเป็นวิทยาทานต่อสังคม หรือเด็กและผู้ปกครองยินยอมให้นำมาแถลง ซึ่งที่จริงตามกฎหมายไม่ว่าเด็กยินยอมหรือไม่ก็ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว หรือตำรวจบางคนพอเราเข้าไปบอกว่า นำเด็กมาแถลงมันผิดกฎหมาย เขาก็จะบอกว่าเอาเด็กมานั่งเฉย ๆ คุณถ่ายภาพเอง ซึ่งเราก็ไม่สามารถโต้แย้งเขาได้
ส่วน นายสอนของพ่อ สถิตในดวงใจ รี-ไรต์เตอร์ข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ชี้แจงว่า ข่าวมันต้องเป็นข่าว เมื่อเกิดขึ้น บ.ก. ก็ต้องสั่งนักข่าวให้ทำ เช่น ถ้ามีแถลงข่าวก็ต้องไปตามหน้าที่ ส่วนภาพถ่าย จะเป็นดุลยพินิจของนักข่าวกับ บก. บางทีถ่ายมา แต่ บก. ใช้ดุลยพินิจที่จะไม่นำเสนอ หรือนำเสนอแบบเหมาะสม ซึ่งประเด็นมันอยู่ตรงนั้นมากกว่า ไม่ใช่มีข่าวเด็กแต่เราไม่ไป มันก็เท่ากับว่าไม่ได้เปิดเผยให้สังคมรู้ ทั้งที่เรื่องบางเรื่องถ้าเปิดเผยออกมามันก็มีฟีดแบ็คกลับสู่สังคม เพื่อจะได้รับการแก้ไข
นายสอนของพ่อ อธิบายวิธีการคัดเลือกภาพว่า ต้องดูตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 เป็นหลัก และจะบอกนักข่าวเสมอว่า ให้คุยกับตำรวจก่อนว่าทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง และถ้าจำเป็นต้องถ่ายภาพก็พยายามอย่าให้เห็นหน้าเด็ก อาจใช้มุมกล้องบ้าง หรือบางครั้งอาจเข้าไปพูดคุยกับเด็กเองโดยตรง ซึ่งเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกวิธีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นตำรวจก็ไม่สนใจเรื่องสิทธิเด็กเลย เขาสักแต่คิดว่าได้รับการตีพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น
“ปัญหาของนักข่าวคือกลัวตกข่าว ตกข่าวไม่เท่าไหร่ แต่ว่าภาพถ่ายมันลอกไม่ได้ และธรรมชาติของนักข่าวคือต้องเอาไว้ก่อน ถ้ามีให้ถ่ายแค่ไหนก็ถ่ายไว้ก่อน ซึ่งตรงนี้สื่อมวลชนก็ผิดเองที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากเห็นหน้าที่การทำงานสำคัญกว่า”
นายสอนของพ่อ ระบุว่า เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ที่สื่อมวลชนไม่ได้ทำข่าวเอาผิดตำรวจขณะนำ เด็กมาแถลง สาเหตุคงเป็นเพราะนักข่าวเวลาทำงานภาคสนาม เขาก็เป็นตัวเล็ก ๆ ไม่กล้าไปงัดข้อกับตำรวจ และถ้าไม่ใช่เรื่อง เขาเองก็คงจะไม่อยากไปกระทบกระทั่งกับตำรวจ ลองคิดดูว่าถ้าในภาคสนามจริง ๆ มันจะตลกแค่ไหน ที่นักข่าวไปนั่งเถียงตำรวจ
“องค์กรสื่อใหญ่ ๆ เช่น สมาคมนักข่าวฯ ควรออกแถลงการณ์ไปก่อนว่า ตำรวจทำไม่ถูก ไม่ใช่โยนความผิดให้นักข่าวที่ไปทำข่าว เพราะมันเป็นปลายเหตุ ควรจะแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือควรจัดสัมนาพูดคุยกับตำรวจ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิด รวมไปถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกระเบียบให้มีบทลงโทษสำหรับตำรวจที่ทำ ผิด ให้เกิดบรรทัดฐาน ไม่ใช่บังคับไม่ให้นักข่าวไปทำข่าว ก็กลายเป็นว่าปัญหาเด็กไม่ออกสู่สังคม และถูกปัดซุกไว้ใต้พรมอย่างเดียว”
ขณะที่ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว ว่า เรื่องดังกล่าวมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องใช้กระบวนการตรวจสอบที่มันเข้มข้นขึ้น ที่สำคัญขณะนี้สื่อหลายสำนักต่างก็ตื่นตัวในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้หารือกันเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็กของสื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดจริยธรรมสื่อและกฎหมายอีก
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเด็กเป็นอันดับแรก ต้องคิดว่าถ้านำเสนอไปแล้วจะส่งผลกระทบต่ออนาคตเด็กอย่างไรบ้าง และเมื่อเสนอไปแล้วต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อ เพราะอนาคตของเด็กใครจะรับผิดชอบ และต้องทำพื้นที่ให้มันสมดุล เน้นข้อเท็จจริง สีสันไม่ต้องเยอะ ส่วนกองบรรณาธิการก็ต้องปรับทัศนคติเสียใหม่ ต้องให้สื่อทุกคนมีสามัญสำนึกว่าทำแบบนั้นไม่ได้
“สื่อต้องกวาดบ้านตัวเองก่อน เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่เสียหาย แต่มันส่งผลกระทบในวงกว้าง เหมือนทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของสังคม ที่สำคัญสังคมไทยมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอมาก ทั้งที่มีกฎหมายห้าม แต่ก็ทำกันทุกครั้ง และต่อไปถ้าทำผิดกันทุกวัน มันจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในที่สุด”
เป็นไปได้หรือไม่ว่าทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิเด็กในไทยยังอ่อนแออยู่ ?
Ms.Kathryn Bice ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กจากประเทศออสเตรเลีย ในฐานะที่เคยทำงานให้กับองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) อธิบายว่า เด็กไม่ควรที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ดังนั้นตำรวจจะต้องเคารพกฎหมาย และสื่อก็ควรที่จะต้องสนับสนุนให้มีการเคารพกฎหมาย เพราะถ้ามีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่เคารพกฎหมายถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กในไทยก็เขียนไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนทำตามกฎหมาย
“คนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายคือตำรวจ เมื่อไหร่ที่ตำรวจมีทัศนคติว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมาย มันก็ยากที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ และถ้าตำรวจไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายซะเอง คนอื่นก็ไม่ให้ความสำคัญเช่นกัน แต่ที่น่าแปลกใจคือทำไมศาลถึงไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ไม่เข้าใจเหมือนกัน”
ในเมื่อยังมีการถ่ายภาพ – ทำข่าวเด็กอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างต่ออนาคตเด็ก ?
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวอธิบาย ว่า ไม่เห็นด้วยเลยที่มีการนำเด็กมาแถลงข่าว ยิ่งถ้าเด็กถูกกระทำยิ่งแย่ใหญ่ เพราะเขาไม่ใช่ผู้กระทำผิด ซึ่งสมควรได้รับการปกป้องและคุ้มครองอย่างสูงสุด ฉะนั้นไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะต้องขึ้นเป็นข่าว อย่างไรก็ตามถ้าสื่อพูดทำนองว่า “จะต้องให้เกิดการรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้โดนล่อลวงซ้ำ” ก็ควรเล่าเรื่องแบบเป็น Story เหมือนต่างประเทศ รายงานตามข้อเท็จจริง ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่ไปถ่ายภาพเด็ก
นายแพทย์สุริยเดว กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่ตามมาเมื่อถ่ายภาพเด็ก หรือปรากฎข่าวเด็กในทางลบคือ เมื่อเด็กกล้บไปโรงเรียน หรือกลับไปบ้าน ก็จะถูกสังคมซุบซิบนินทา ซึ่งพวกนี้แหละที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว ดีไม่ดีอาจทำให้เขาต้องย้ายโรงเรียน หรือย้ายบ้านหนีไปเลยก็ได้
นายแพทย์สุริยเดว ระบุว่า ถ้าดูตามกฎหมายต่าง ๆ จะเห็นเลยว่าการนำเสนอใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก จะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบ และหากเป็นเรื่องที่เขาถูกกระทำมาด้วย การพยายามที่จะทำให้ปรากฎหน้า หรือแม้แต่คาดคะเนได้ว่าน่าจะเป็นเด็ก ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น
“เข้าใจว่าสื่อไม่ได้มีเจตนาทารุณกรรมซ้ำหรอก แต่จำเป็นต้องปกป้องเด็กให้ดีที่สุด และต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของเด็ก เช่น การเผยแพร่คลิปวีดีโอเด็กตบตีกัน นอกจากสังคมจะรุมประนามแล้ว เด็กก็อาจจะกระทำเรื่องแบบนี้ซ้ำได้อีก เพราะเด็กจะมองว่าเขาคือฮีโร่ของเพื่อน ๆ ในกลุ่ม นอกจากนี้บรรดาผู้ให้ความเห็นข่าวเด็กควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเรื่องแบบนี้อ่อนไหวมาก และอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสังคมที่สำคัญที่สุดได้”
ทั้งหมดคือมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งต่างเห็นตรงกันว่าควรมานั่งพูดคุยหาจุดร่วม ทั้งการนำเด็กมาแถลงข่าว และการนำเสนอข่าว เพื่อจะได้ไม่ต้องผลักภาระให้เด็กตกเป็น ‘เหยื่อ’ ให้สังคมรุมทึ้ง อีกต่อไป.
.....
หมายเหตุ : สกู๊ปข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอบรมการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์” ที่สถาบันอิศราจัดขึ้นโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย ติดตามสกู๊ปข่าวชิ้นอื่นๆ ในโครงการนี้ได้ที่ http://forensicnews.isranews.org/