บอร์ดสปสช.เตรียมชงครม.เดินหน้าแผนพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุก่อนปี 57
บอร์ดสปสช.ผ่านแผนยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ตั้งเป้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลในชุมชน- สถานพยาบาลมีระบบรองรับ เตรียมชงครม.เห็นชอบก่อนเดินหน้าปี 57 คาดใช้งบประมาณ 5 พันล้านบ.
วันที่ 5 ส.ค. 2556 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวในการประชุม คณะกรรมการสปสช. มีมติเห็นชอบ ‘แผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง’ และได้มอบสปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการโดยใช้งบค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มผู้สูงอายุและงบกองทุนท้องถิ่น ในการตรวจคัดกรองและทำทะเบียน เพื่อจัดกลุ่มผู้สูงอายุตามระดับการพึ่งพิง ตลอดจนจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะทุพลภาพ
“เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบบริการตามแผนยุทธศาสตร์ จัดให้มีแหล่งการคลังสำหรับจัดบริการดูแลระยะยาวที่ยั่งยืน และมอบหมายหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์” รมว.สธ. ทิ้งท้าย
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง กล่าวว่า จากสถานการณ์ของไทยที่สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 12.2 ในปี 2554 อาจะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 และ 24 ของประชากรรวมในอีก 10 ปีและ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทั้งระดับรายได้ต่อหัวที่จะลดลง การออมลดลงจากภาระการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐเพื่อจัดบริการด้านสังคมให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น
“เป้าหมาย ผู้สูงอายุทุกคน ได้รับการคัดกรอง และมีระบบส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและการดูแลระยะยาวในชุมชน มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลครบวงจร ทุกชุมชนมีระบบสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ ให้อยู่ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข” ประธานคณะอนุฯ กล่าว และยกตัวอย่าง เช่น nursing home สถานพยาบาลทุกแห่งมีระบบสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและครอบครัว ท้องถิ่นมีหน้าที่จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนมีระบบข้อมูล ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานของท้องถิ่น มีกองทุนในระดับท้องถิ่นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ โดยบูรณาการแหล่งเงินต่างๆที่ลงไปในชุมชน
ประธานคณะอนุฯ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการคือ การคัดกรองผู้สูงอายุ และพัฒนาฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน การพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาวในชุมชนเพื่อการส่งเสริมป้องกัน การพัฒนาระบบการเงินการคลัง และชุดสิทธิประโยชน์ การพัฒนากำลังคนเพื่อการจัดบริการดูแลระยะยาวในชุมชน การสร้าง การจัดการความรู้ และการติดตามประเมินผล การพัฒนากฎหมาย/ระเบียบ/ มาตรฐาน และการบริหารจัดการ งบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้ เริ่มจากในปี 2557 งบพัฒนาระบบตามยุทธศาสตร์ 2,701 ล้านบาท และงบบริการดูแลระยะยาว 2,109 ล้านบาท .
ที่มาภาพ: http://www.hed.go.th/frontend/theme/healthy.php?Submit=Clear