รัฐแบะท่าฟ้องบริษัทเรือน้ำตาลล่ม สภาทนายฯชี้เข้าข่ายผิดทั้งแพ่ง-อาญา
“มาร์ค” ถกรองผู้ว่าฯ อยุธยา–ปทุมฯ ให้รัฐบาลเป็นโจทย์ฟ้องบริษัทที่ทำเรือจม “สภาทนายฯ” พร้อมยื่นมือช่วย ชี้เข้าข่ายความผิดอาญาและแพ่ง แนะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
วันนี้ ( 3 มิ.ย. ) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับรอง ผวจ.ปทุมธานี และรอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กรณีเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 7,200 ตันของบริษัทไทยมารีน ซัพพลาย จำกัด ชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.พระนครศรีอยุธยา จนล่มเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้สั่งการให้ดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนเรื่องคุณภาพของน้ำ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการวัดค่าออกซิเจนในน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนตลอด ซึ่งจะเกิดผลเสียหายต่อปลาในน้ำ ทั้งนี้ในส่วนของปลาในกระชังก็มีเกณฑ์การ ชดเชยในการดูแลอยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการกู้เรือน้ำตาลที่จมอยู่นั้น มีความพยายามที่จะสูบน้ำโดยเอาน้ำตาลที่ค้างอยู่ในเรือขึ้นมา เพื่อให้เรือมีน้ำหนักเบาขึ้น ซึ่งตั้งเป้าว่าจะให้เสร็จในวันนี้ แต่ต้องดูด้วยว่าทำได้อย่างไรเพราะการกู้เรือเมื่อวันที่ วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลสามารถเป็นผู้ฟ้องบริษัทที่ทำให้เรือจมและเสียหายได้เลย แต่ต้องกลับไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เพราะเข้าใจว่ากรณีเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 มาแล้ว ซึ่งจะมีการรายงาน ครม.ในสัปดาห์หน้าด้วย ทั้งเรื่องชดเชยและการเยียวยาชาวบ้าน ทั้งนี้ต้องมีการประมวลสถานการณ์ให้นิ่งก่อน เนื่องจากขณะนี้มวลของน้ำเข้ามาสู่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อย่างไรก็ตามจังหวัดที่เสียหายหนัก เช่น จ.อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติที่อ่างทองและพระนครศรีอยุธยาแล้ว ส่วนนทบุรียังไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ด้าน ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เพราะเรือบรรทุกน้ำตาลเป็นผู้ก่อมลพิษลงในน้ำ ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายจังหวัดที่แม่น้ำไหลผ่านทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งความเสียหายเรื่องนี้แบ่งเป็นสองส่วนคือคดีแพ่งและคดีอาญา ในส่วน คดีอาญา ในความผิดฐานกระทำโดยประมาท ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของเรือได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ เช่น มีการตรวจสอบความพร้อมของเรือ และควบคุมไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุม
ว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าวอีกว่าส่วนคดีแพ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม หรือศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยได้ ทั้งนี้ หากฟ้องเป็นคดีละเมิดธรรมดาภาระการพิสูจน์จะตกแก่ชาวบ้านที่ต้องพิสูจน์ว่า การที่เรือล่มทำให้น้ำตาลผสมในน้ำทำให้น้ำขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้ปลาที่เลี้ยงในกระชังตายจริง แต่ถ้าฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ภาระการพิสูจน์จะตกแก่ฝ่ายเจ้าของเรือทันที โดยในคดีจะมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เบิกความประกอบ และคดีสิ่งแวดล้อมสามารถเรียกค่าเสียหายในอนาคตได้
“ประชาชนที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ น่าจะมีนับหมื่นราย ทางสภาทนายความมีความพร้อมที่จะรับร้องเรียนแล้วสรุปข้อเท็จจริงทำเป็นคำ ฟ้องในส่วนคดีแพ่งให้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยทางสภาทนายความจะช่วยดำเนินคดีให้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา” โฆษกสภาทนายความ กล่าว.
เดลินิวส์ออนไลน์