คณะพยาบาลฯ มช. นำเทคโนโลยีห้องผ่าตัดสู่ศูนย์พัฒนาเด็ก ชี้ทางป้องกัน “โรคมือ เท้า ปาก”
คณะพยาบาลศาสตร์ มช. ชี้ทางป้องกัน “โรคมือ เท้า ปาก” นำเทคโนโลยีห้องผ่าตัดสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับรองผลสูงถึง 90% และงบประมาณน้อย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น เพื่อการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี (Capacity of a Community Treasures: COACT) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คิดหาแนวทางป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคมือเท้าปาก ซึ่งหากต้องการให้ได้ผลชะงัด ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในชุมชน ทั้งบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปกครอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล โดยนำร่องทดลองในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และสุโขทัย
การระบาดของโรคมือเท้าปากในเด็กเล็ก ซึ่งมักพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งมีอากาศเย็นและชื้น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภูมิต้านทานต่ำและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนในกลุ่มอายุอื่น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลฯ เนื่องมาจากการอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก ระบบการถ่ายเทอากาศไม่สะดวก สิ่งแวดล้อมไม่สะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคลไม่เหมาะสม และตั้งแต่เปิดเทอมพบการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นกับเด็กจำนวนมาก
ผศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ เผยว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากไวรัสในกลุ่ม Enterovirus genus ซึ่งเชื้อโรคในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย Polioviruses Coxsackieviruses Echoviruses และ Enteroviruses โดยระยะแพร่กระจายของโรคมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของเด็กที่เริ่มมีอาการของโรค และหลังจากอาการดีขึ้นแล้ว เชื้อจะยังคงอยู่ในลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงเกิดการติดต่อของโรคได้จากทั้งการสัมผัส และการหายใจ จากเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ซึ่งการใช้เพียง มาตรการป้องกันโรคเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน ตามหลักของสาธารณสุข อาจไม่เพียงพอ จึงร่วมคิดค้นต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ใช้ในห้องผ่าตัดคือการใช้รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation: UV ) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สั้นช่วงต่อจากแสงสีม่วง ที่ตาคนมองไม่เห็น และไม่สามารถรับรู้ได้อย่างคลื่นรังสีอินฟราเรด(IR) ซึ่งในการฆ่าเชื้อโรคจะใช้หลอดไฟประเภท UV-C ที่มีช่วงความยาวคลื่น 100 - 280 nm แต่เป็นรังสีที่มีอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรง เช่น ผิวไหม้เกรียม (Erythema) เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) ดังนั้น ต้องใช้อย่างถูกต้อง จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยหากต้องการให้เกิดประสิทธิผล ต้องใช้หลอดไฟชนิดให้แสง UV-C ที่มีความยาวคลื่น 254 nm ในการอบห้องเรียนเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส ในเวลาที่ไม่มีเด็กอยู่
แต่ทั้งนี้การติดตั้งหลอดกำเนิดแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หรือบริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ เพื่อเลือกชนิดและจำนวนของหลอดไฟ ซึ่งควรเลือกหลอดไฟที่ไม่ทำให้เกิด Ozone นอกจากนี้การวางตำแหน่งการติดตั้งหลอดไฟก็ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของห้องอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาใช้งานเพื่อฆ่าเชื้อก็จะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ สำหรับการฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากนั้น ที่แนะนำให้ใช้รังสี UV เนื่องจากจะฆ่าเชื้อได้ดี โดยเฉพาะเชื้อที่ล่องลอยในอากาศหรือเชื้อที่ตกบนพื้น และก่อนการใช้งานควรจัดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีสิ่งของจำนวนมากมายซ้อนทับหรือรกรุงรังเพราะจะขัดขวางพลังงานของแสงที่แผ่ออกมา โดยพบว่าแสง UV มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัส Coxsackievirus b5 ได้ผลสูงถึง 90% โดยลงทุนงบประมาณน้อยเพียง 2,000 - 2,500 บาท และใช้เวลาในการอบห้องแต่ละครั้งประมาณ 15-30 นาที ซึ่งคำนวณแล้วเสียค่าไฟฟ้าน้อยมาก แต่สามารถฆ่าเชื้อได้ผลแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการป้องกันการระบาดของโรคมือเท้าปากให้ได้ผลอย่างแท้จริง จำเป็นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องมีระบบการคัดกรองสุขภาพที่ดี ทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และจัดระบบสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคารของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งชุมชนเองก็ต้องร่วมมือกันดูแลบุตรหลานของท่านด้วย ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวทิ้งท้าย