เสียงจากแนวร่วม... 5 เหตุผลหยุดยิงล่ม แนะเจรจา"คนข้างใน"
ปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า "หยุดยิงล่ม" ซึ่งหมายถึงข้อตกลงร่วมกันลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อเป็นหมุดหมายสำหรับเริ่มนับหนึ่งสันติภาพชายแดนใต้ได้พังทลายลงจากเหตุรุนแรงที่เกิดถี่ยิบนั้น ทำให้มีเสียงถามกันเซ็งแซ่ว่าเกิดอะไรขึ้น
ผู้คนในสังคมได้ฟังคำตอบจากภาครัฐ ซึ่งมีทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำที่รับผิดชอบมาแล้วหลายรอบ เพราะให้สัมภาษณ์กันรายวัน ฉะนั้นจึงน่าหันไปลองฟัง "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" ในพื้นที่ ทั้งผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่น ทั้งที่ร่วมใช้ความรุนแรงและไม่ได้ใช้บ้างว่าพวกเขามองอย่างไร
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น ก็คือ ทุกวันนี้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐกล้าเปิดตัวมากขึ้น แม้แต่ในงานสัมมนาตามโรงแรมชั้นนำในพื้นที่ บางคนยังกล้าประกาศว่าพวกเขาและเธอเป็นบีอาร์เอ็น!
อย่างไรก็ดี ระหว่างบรรทัดของการพูดคุย จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเหล่านี้ ไม่ได้ปิดประตูตายสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (ในมิติที่เขาคิด) โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ถ้าฟังอย่างตั้งใจจะพบว่าพวกเขายังต้องการใช้สันติวิธี ยังต้องการสันติภาพ ยังพร้อมพูดคุยหากมีโอกาส และรัฐมีความจริงใจมากพอ
5 เหตุผลสันติภาพล่ม!
แนวร่วมขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่หนึ่งของ จ.ยะลา กล่าวว่า การจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นไปไม่ได้ และการพูดคุยสันติภาพก็ยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จ จากเหตุผลของชาวบ้านและแนวร่วมผู้เห็นต่างจากรัฐเอง ดังนี้
1.ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่ากลุ่มที่เข้าร่วมเจรจาสามารถสั่งให้คนที่ก่อเหตุรุนแรงหยุดก่อเหตุได้จริง ประกอบกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ไม่ได้เกิดจากกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น จึงให้ความร่วมมือค่อนข้างน้อย
2.แนวร่วมในพื้นที่ไม่มั่นใจกลุ่มนายฮัสซัน และนายฮัสซันก็ไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาไม่เชื่อว่าคนที่เข้าไปเจรจามีอำนาจ เพราะมีแต่คนที่ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีคนที่สามารถเคลียร์ข้างหลังได้ จึงไม่สามารถสั่งให้หยุดก่อเหตุได้
3.กลุ่มแนวร่วมที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จริงๆ ไม่เคยคิดเจรจากับใคร เพราะคิดว่ายังเหนือกว่า และยังได้เปรียบอยู่
4.รัฐไม่เคยทำอะไรที่เป็นรูปธรรมให้คนในพื้นที่เห็นว่ามีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับปัญหา ยอมรับว่าพี่น้องมุสลิมถูกกระทำ แต่รัฐพยายามบอกเพียงว่าได้ให้ความเป็นธรรมแล้ว ซึ่งเป็นแค่คำหลอกลวง รัฐไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าหวังผลทางการเมือง
5.จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีขบวนการไล่ล่าเก็บประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ คนที่โดนคดีต้องหลบหนีเพราะคิดว่าหนีเท่านั้นถึงจะรอด แต่ถ้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากชนะยากแล้ว เมื่อหลุดพ้นออกมาก็ต้องเจอกับจุดจบ
ถูกใจแต่ไม่ใช่พวก
แนวร่วมอีกรายหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ในเขตรอยต่อของ จ.ปัตตานี กับ จ.ยะลา กล่าวแบบฟันธงว่า ความรุนแรงจะจบลงไม่ได้ถ้ายังไม่ได้รับเอกราช
"ฮัสซันจะเอาอะไรมาสั่งพวกเราได้ เพราะเป็นแค่คนเก่าที่หมดอำนาจ อีกอย่างเป็นการเจรจาก็มีลักษณะแสวงหาผลประโยชน์ ยอมรับว่าข้อเรียกร้องบางข้อถูกใจหลายคน รวมถึงกลุ่มพวกเราด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อพูดดี เราปรบมือให้แล้วเราต้องยอมเป็นพวกเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้"
"กุรบาน ดีรี" สละแรงและชีวิต
แนวร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนรายนี้ ระบุว่า สถานการณ์ในพื้นที่จะแรงขึ้นหรือไม่ ขึ้นกับการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าปัจจัยอื่น
"การก่อเหตุจะแรงขึ้นถ้ารัฐไม่ได้แก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ยิ่งชาวบ้านถูกกระทำ กลุ่มขบวนการที่อุทิศตนเพื่อส่วนกลาง หรือ หมายถึงคนที่ 'กุรบาน ดีรี' (การทำกุรบานตนเอง สละแรงและชีวิต) เพื่ออุดมการณ์ ก็จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือสร้างความรุนแรงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ประชาชน"
อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีทั้งที่พวกเขาทำกันเอง และที่พวกเขาไม่ได้กระทำ
"ความขัดแย้งและปัญหาที่บ้านเรามีเยอะ คนในชุมชนก็ทะเลาะกัน ผู้นำไม่ทำงาน หาแต่เงิน แต่อ้างทำเพื่อชาวบ้าน เอ็นจีโอส่วนใหญ่ไม่ได้มีความจริงใจ ทหารเองพอมาอยู่เยอะๆ ก็มาสร้างปัญหา ขนาดทหารทะเลาะกันเองยังใส่ความว่าเป็นการยิงปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบได้ ยิ่งนานปัญหายิ่งเละจนบางครั้งหาต้นเหตุไม่เจอ"
หน่วยงานรัฐทะเลาะกันเอง
"จริงๆ อยากให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยยอมรับว่า ความจริงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ขัดกันเองด้วย เพื่อนผมคนหนึ่งถูกจับแล้วได้ไปขอความช่วยเหลือกับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยังเยาะเย้ยเลยว่านี่หรือเด็กทวี (หมายถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.) ถูกคุมตัวหลายสัปดาห์แล้วนะ อยากรู้จะทำอะไรได้"
"บางครั้งเมื่อเพื่อนๆ หลายคนจัดกิจกรรมในชุมชน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาด้อมๆ มองๆ และทำท่าทีสงสัยว่าเอาเงินที่ไหนมาจัด พอบอกว่าได้จาก ศอ.บต.ก็จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนพูดว่าทำไมถึงชอบช่วยโจรนะ และอีกหลายครั้งที่มีคำพูดเสียดสีจากเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐทำงานกันคนละทิศละทาง ปัญหาในพื้นที่ถึงไม่จบไม่สิ้น"
"อยุติธรรม"คือต้นตอ
ด้านกลุ่มผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ และยอมพูดคุยกับ "ทีมข่าวอิศรา" บอกว่า ไม่เคยยอมรับว่า ฮัสซัน ตอยิบ คือผู้มีอำนาจกับขบวนการที่พวกเธอร่วมอุดมการณ์อยู่ เพราะปัญหาของพวกเธอเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2547 จนถึงวันนี้เพียง 9 ปีกว่า ไม่ได้มองว่าเกิดมาเป็นร้อยๆ ปี
"สาเหตุที่เกิดปัญหาเพราะ เราไม่ได้รับความยุติธรรม ชาวบ้านโดนกดขี่ พอมาวันนี้ทหารที่ลงมาทำงานในพื้นที่ก็ตั้งธงไว้แล้วว่าพวกเราเป็นโจร มุสลิมทุกคนเป็นโจร ก็เลยทำให้พวกเรายิ่งมีความรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิ์ในการใช้ชีวิต"
"จากสถานการณ์ความไม่สงบ พวกเราเกิดความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ ผู้ชายต้องหนีไปมาเลย์ ถูกจำกัดเวลา จำกัดพื้นที่ จากที่เคยไปไหนมาไหนได้ทุกเวลา ทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ ก็ทำไม่ได้ พอไปแล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเข้า ถูกขู่ เมื่อถูกจับก็มีการซ้อมทรมาน ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เช่น โยนผู้ต้องสงสัยใส่รถ กระชากแรงๆ บางครั้งไม่ยอมให้ญาติร่วมติดตามไปส่งผู้ต้องสงสัยที่จับกุม เยาวชนในชุมชนอยู่บ้านไม่ได้เพราะถูกมองว่าเป็นแนวร่วม บางรายถูกเก็บจากเจ้าหน้าที่เมื่อคดีสิ้นสุดหรืออยู่ระหว่างประกันตัว เกิดหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าจากสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้ และจะไม่มีทางหยุดหากปัญหายังไม่ถูกแก้"
"คนสั่ง" อยู่ในพื้นที่
กลุ่มผู้หญิงกลุ่มนี้ ยังออกตัวว่า พวกเธอเป็น "บีอาร์เอ็น" แต่ไม่ใช่กลุ่มนายฮัสซัน และไม่ใช่กลุ่มพูโลเก่าด้วย แต่เป็นบีอาร์เอ็นใหม่ที่มีหัวหน้าสังการเป็นชุดใหม่ โดยชุดเก่าไม่ได้มีอำนาจกับพวกเธอ
"เพราะฉะนั้นถ้าจะเจรจาต้องมาเจรจากับพวกเรา แก้ปัญหาของพวกเรา เพราะคนที่ทำอยู่ในพื้นที่ และคนที่สั่งก็อยู่ในพื้นที่"
พวกเธอบอกอีกว่า ตามหลักแล้วพวกเธอต้องการแผ่นดิน แต่ถ้าการแก้ปัญหาจากรัฐไทยทำให้พวกเธอพอใจก็พอคุยกันได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความเป็นธรรม และต้องเลิกมองว่าคนที่อยู่ในขบวนการเป็นคนร้าย ต้องให้ทหารออกไป และให้กำลังท้องถิ่นทำงานเหมือนในอดีต
"ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้สึกดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน แต่ยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน และที่เป็นห่วงคือเยาวชน พวกเขาตกเป็นจำเลยสังคมมาตลอด โดยเฉพาะเยาวชนที่ไม่ค่อยมีโอกาสออกไปข้างนอก (หมายถึงไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่) ส่วนเยาวชนที่มีโอกาสออกไป ทั้งที่ออกไปเรียนหนังสือ ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก จะมองปัญหาที่เกิดขึ้นดีกว่า มีการแยกแยะปัญหา แต่สำหรับเยาวชนที่ไม่ได้ออกไปไหนนี่น่ากลัว และจะเอาความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง ประกอบกับสังคมทุกวันนี้อ่อนแอ ระบบผู้นำพัง เลยยิ่งทำให้เยาวชนในพื้นที่บางส่วนยังมีความคิดแบบปิดตัวเองอยู่"
ทั้งหมดนี้คือลายแทงสำหรับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเพื่อคลำหาหนทางดับไฟใต้อย่างยั่งยืน แต่นั่นก็ต้องแลกกับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แบบกลับหลังหันด้วยเช่นกัน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุรุนแรงในพื้นที่ยังคงมีปรากฏต่อเนื่องแม้ในช่วงเดือนรอมฎอนที่มีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น