ผู้นำขบวนชุมชน ย้อนอดีตขีดอนาคต ถามหา “พญาอินทรีย์นำประเทศ”
อีกไม่ถึงเดือนประเทศไทยจะได้ผู้นำใหม่เป็นหัวขบวนกำหนดทิศทางการพัฒนา ผู้นำชุมชนฐานรากจึงร่วมสะท้อนอดีต-ปัจจุบัน และมองอนาคตว่า "พญาอินทรีย์" ที่ท้องถิ่นถวิลหาเป็นเช่นไร?....
...........................
มองผ่าน 3 ผู้นำรุ่นใหม่- 2 ผู้นำรุ่นใหม่... นับจากบรรทัดนี้ั...
สูญสิ้นทรัพยากร จุดเปลี่ยนชุมชนท้องถิ่น
พ่อคำเดื่อง ภาษี เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสาน จ.บุรีรัมย์ สะท้อนพัฒนาการของขบวนองค์กรชุมชนด้วยน้ำเสียงเรียบแต่เจือไปด้วยอารมณ์ขันว่า แต่ก่อนบ้านเราไม่ว่าหัวระแหงไหน เต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ปู่ย่าตายายอยากได้อะไร ผืนดินนี่เหมือนสวรรค์ที่เนรมิตเอาได้ เช่น อยากจะได้ที่ดินทำมาหากินก็ไปถางจับจอง อยากได้บ้านก็เข้าป่าไปตัดไม้ เวลาหิวจะกินเห็ดกินกบ ก็หาได้ไม่ต้องซื้อ แถมจะเอามากเอาน้อยขนาดไหนก็ไม่มีใครว่า
เป็น “โลกแล้วแต่จะเอา” ที่ผูกพันยึดโยงกับชุมชนท้องถิ่นมาตลอด
แต่กลับไม่รู้จักรักษา “โลกแล้วแต่จะเอา” ที่อุดมสมบูรณ์ไว้ เพียงเพื่อต้องการความเจริญรุ่งเรืองที่ติดมาพร้อมคำบอกเล่าของฝรั่ง โดยไม่เคยเฉลียวใจสักนิดว่า “รุ่งเรืองคืออะไร” และ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “จะเอาไปทำอะไร”
“เราเริ่มปรับเปลี่ยนโลกที่ยืนเหยียบมาทั้งชีวิตอย่างไม่รู้ว่ากำลังถูกหลอก อย่าว่าแต่ใครผมก็เคยถูกหลอกแบบนี้ จากสังคมที่เคยมีป่าเป็นบ้าน มีครอบครัวใหญ่ มีสถานะทางสังคมเป็นชาวบ้าน สุดท้ายถูกชักนำเข้าสู่ระบบตลาด แล้วตั้งชื่อเราใหม่ว่า เกษตรกร” ปราชญ์ชาวบ้านอีสาน บอกพร้อมตั้งคำถาม
แล้วรู้หรือไม่ว่าเกษตรกรที่ว่าทำอะไร??
เกษตรกรในความหมายนั้น คือผู้ที่ถูกฝังหัวให้ปลูกพืชจากต่างประเทศ ตอนแรกปลูกมัน หลังๆ เริ่มปลูกปอ เพราะเชื่อว่าเป็นพืชรายได้ ทำแล้วรวย ผลลัพธ์เท่ากับเจ๊ง!! และไม่ได้เจ๊งเปล่าๆ เพราะนอกจากภาวะหนี้สินล้นตัวแล้ว ทรัพยากรยังสูญ ที่ดินที่ได้จากโลกแล้วแต่จะเอา กลายเป็นผู้อื่นมาเอาไปเสีย
และแม้วันนี้ชุมชนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยจะเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น และโหยหาที่จะได้โลกเดิมกลับคืนมา ซึ่ง พ่อคำเดื่อง เห็นว่า ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เป็นเพราะยังไม่พยายามสร้างขึ้น จำลองมโนภาพเกษตรกรเหมือนนักมวยที่ต้องขึ้นชกอย่างเกี่ยงน้ำหนักไม่ได้ หากเลือกที่จะชก หลับตาดูก็รู้ผลว่าใครชนะ แต่ถ้าไม่ก้าวขึ้นไปบนสังเวียน ต่างคนต่างอยู่ ทดลองทำเอง ไม่ต้องพัฒนาผ่านเงิน แบบนี้พอมีทางรอดได้
รุ่นใหญ่เตือนระวังหลุมพรางนักการเมืองหลอกใช้ชาวบ้าน
อีกหนึ่งผู้นำรุ่นใหญ่ แก้ว สังข์ชู ประธานคณะกรรมการประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน (คอป.) ให้มุมมองคล้ายกัน โดยย้อนอดีตว่า ก่อนหน้าที่ทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ ขบวนองค์กรชุมชนไม่เหนื่อยเท่านี้ เพราะไม่ว่าจะมองทางไหนจะเห็นเวทีพูดคุยด้วยปัญญาและความรู้ พูดกันเรื่องทำมาหากินและความเป็นอยู่ ไม่ได้พูดกันเฉพาะเรื่องเหตุบ้านการเมืองเช่นทุกวันนี้
“ขณะที่วิถีปกติเป็นไปในลักษณะครอบครัวใหญ่ มีความสุขในชีวิตทำกิน เรียบง่ายและเหลือเฟือชนิดที่ทำงานสองวันนอนครึ่งเดือนยังไม่ลำบาก ชาวบ้านแทบไม่ต้องสนใจงานพัฒนาใดๆ ไม่มีความขัดแย้งในชุมชน ไม่มีการแยกคนรวยออกจากคนจน” ประธาน คอป. บอกและว่า
กระทั่ งถึงยุคหนึ่งที่เรียกว่ายุคพัฒนา ทุกภูมิภาคของประเทศไทยถูกปรับโฉมใหม่ทั้งหมด เช่น จาก “ป่ายาง” ทางภาคใต้ กลายเป็น “สวนยาง” ที่มีรายได้และกำไรเป็นตัวตั้ง มีพัฒนาการเรื่อยมาจนเข้าสู่ภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา แย่งชิงอำนาจ อิรุงตุงนังทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม จังหวะก้าวสำคัญซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แม้จะยังตกอยู่ภายใต้อำนาจที่รวมศูนย์ คือการเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม เป็นผลให้เกิดโครงการที่มีฐานคิดจากชุมชน การพัฒนาไม่ได้เกิดที่รัฐอย่างเดียว
และที่มากไปกว่าโครงการ คือการเริ่มก่อตัวขึ้นของกระบวนองค์กรชุมชน ในการเชื่อมงานเชิงประเด็นจากพื้นที่สู่พื้นที่ เกิ ดแผนชุมชนที่ตกผลึกโดยความคิดของคนข้างล่าง เกิดการเรียนรู้ภาคต่อภาค บุคคลต่อบุคคล และมีรูปธรรมดีๆ ในการจัดการตนเองที่ไปชิ่งกระทบคนข้างบนที่ดูแลเชิงนโยบาย
แต่ไม่ได้หมายความว่า “เขาจะรับอย่างสิโรราบ แต่ที่รับเพราะจำนน” จึงยังวางใจไม่ได้
อนาคตของขบวนองค์กรชุมชน ที่ แก้ว สังข์ชู เสนอจึงเห็นว่า วันนี้ฐานล่างตื่นขึ้นมาจัดการเรื่องของตนเองได้ก็จริง แต่ยังขาดการหนุนเสริมนโยบายจากรัฐ โจทย์ที่ทิ้งไว้คือทำอย่างไรให้เกิดการร้อยรัดเรื่องราวระหว่างชุมชนด้วยกันและรัฐให้ได้
และจงเตือนใจว่า “แม้มาถูกทางแต่ใช่ว่าจะถูกต้อง ที่ต้องระวังคือการตกหลุมพรางของอำนาจแบบไม่รู้ตัว”
รัฐบาลเปลี่ยนอุปสรรคเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชน
ขณะที่ อาจารย์สังคม เจริญทรัพย์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรชุมชน และที่ปรึกษา พอช. ผู้ที่เข้าร่วมงานของขบวนองค์กรชุมชนด้วยความเชื่อว่า ชุมชนคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องเป็นผู้จัดการประเทศนี้ให้ได้ และเชื่อด้วยว่าผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจร่วมกัน ชวนคิดชวนทำ โดยมีสภาพสังคมเศรษฐกิจเป็นตัวบีบรัด เพื่อจัดการปัญหาที่รุมเร้า หรือกุมสภาพพื้นที่ให้ได้ในท้ายที่สุด
อ.สังคม บอกว่า เบื้องต้นมีแนวคิดเช่นนี้ จึงต้องการขยายไปยังพี่น้องชุมชนให้มากที่สุด กว่า 14 ปีที่ทำงานอยู่ด้วยกันกับชาวบ้าน มีภาพที่สำเร็จและล้มเหลวบ้าง ต่อมาระยะหลังๆ เกิดกระบวนเชื่อมโยงงานเชิงประเด็นมากขึ้น นั่นสะท้อนภาพการยกระดับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่น่าสนใจ
แต่อุปสรรคขวางกั้นความต่อเนื่อง ทำให้ภาพลบๆ จางๆ คือการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง นี่คือเรื่องสำคัญมากต่อทิศทางข้างหน้า เพราะขบวนชุมชนจะคิดแบบ “ชาวบ้านจ๋า” อย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างระบบเพื่อรับผิดชอบพื้นที่ร่วมกันอย่างเข้มข้น และต้องเติมเต็มในสิ่งที่ขาดจากระดับบนบ้าง
“ก็เหมือนสร้างบ้าน ชุมชนเป็นวิศวกรคุมงานขณะที่เป็นเจ้าของบ้านด้วย แต่อาจต้องอาศัยช่างเทคนิค บ้านจึงสำเร็จ แต่ช่างที่ว่าต้องเข้าใจโครงสร้าง พื้นฐานและระบบความต้องการของผู้อาศัย อีกไม่กี่วันข้างหน้าเราเป็นผู้กำหนดประเทศ นักการเมืองมาไหว้เรา แต่หลังจากนั้นเราต้องไหว้เขา การเลือกช่างเทคนิคนี่แหล่ะขั้นตอนสำคัญ” ผู้นำการเปลี่ยนแปลงขบวนองค์กรชุมชนรุ่นใหญ่ ทิ้งให้คิด
ผู้นำที่ดีเสมือนพญาอินทรีย์ไม่กางปีก
จบถ้วนกระบวนความคิดของผู้นำรุ่นใหญ่ เจษฎา มิ่งสมร เลขานุการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ผู้นำรุ่นใหม่จาก อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แบ่งปันประสบการณ์จุดสตาร์ทแห่งถนนขบวนองค์กรชุมชนว่า สิ่งที่ได้จากผู้นำรุ่นใหญ่คือการทำงานภาคประชาชนต้องไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นเป้าหมายหลัก แต่ตนไม่รู้เลยว่าที่ผ่านมาคนเหล่านี้สู้อะไรกันมาบ้าง ผ่านไป 7-8 ปี จึงรู้คำตอบ
ข้อสรุปคือ “เราเห็นหน้าตาผู้นำทางอำนาจที่เปลี่ยนแปลง แต่สภาพของชนชั้นปกครองอยู่มุมเดิม การเมืองอ่อนแอลงทุกวัน การปกครองล้มเหลว นักการเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทอะไรเลย” เป็นอัตวิสัย ที่ เจษฎา ยอมรับว่าอาจมาจากทิฐิ แต่ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจน แน่นอนและดำรงอยู่แบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เจษฎา ยังตั้งคำถามว่า หากให้มองการเมืองภาคพลเมืองว่าเข้มแข็งจริงหรือไม่ การตอบด้วยความเชื่อว่าทำได้จริงคือสิ่งที่ได้ตระหนักรู้หูได้ยินโดยทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงคือล้มเหลวสิ้นเชิง
แต่ใช่ว่าความเชื่อนั้นจะไม่มีทางเป็นจริงได้ เพียงแต่วันนี้ขบวนชุมชนยังขาดการสรุปบทเรียนเพื่อวิเคราะห์หาทางออกว่าจะก้าวเดินอย่างไร โดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ประสานให้โอกาสคนเล็กคนน้อยได้เติบโต ปลดพันธการทุกสายที่ผูกมัดความคิดคนเหล่านั้นไว้ให้เป็นอิสระ
แต่ห้ามทำตัวเป็น “พญาอินทรีย์กางปีก” กุมอำนาจจัดการทั้งหมด ซึ่งหากใครเป็นแบบนั้นก็สมควรออกจากขบวนไปยังไม่สาย
แล้วพญาอินทรีย์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร?? เจษฎา บอกว่าต้องมี 5 เรื่อง 1.ต้องมีวิสัยทัศน์ เสียสละ กล้าหาญ ทำไม่หยุด เรียนรู้การจัดตั้ง สร้างคุณภาพ เชื่อมั่นว่าเป็นไปได้และทำงานอย่างสุดหัวใจ 2.ต้องทำงานแบบมีแนวร่วมไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือทุน เดินอย่างมียุทธศาสตร์ กำหนดจังหวะก้าวแม่นย้ำ จำทุกขั้นตอน ตามองไปที่เป้าเดียวกัน 3.ต้องไม่ยึดติดกับประสบการณ์เดิมๆ ที่อาศัยความรุนแรงหรือประท้วงแบบไม่เลือกที่ 4.มองความจริงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและให้ความสำคัญของแนวโน้มสังคมด้วย ไม่ใช่หลับตาพัฒนาแต่ กะปิ น้ำปลา ทอผ้า และ 5.ไม่ยึดตัวเองเป็นสำคัญ ทำอะไรต้องผ่านเราทั้งหมด เพราะแบบนั้นไม่ใช่ “คนขบวนองค์กรชุมชน”
เจษฎา ยังมีข้อเสนอชวนให้ขบวนองค์กรชุมชนช่วยคิดช่วยทำ เพื่อรับมือกับฤดูกาลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น คือ 1.ผลักดันนโยบายของภาคประชาชนที่จะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันให้ได้ 2.เร่งพัฒนาตนเองให้เป็นไท ปลดปล่อยพันธนาการที่ป้องรัดให้หมดทุกเส้นสาย เติบโตด้วยความสามารถ ศักยภาพของตนเองไม่ใช่ด้วยแนวนำของใครคนหนึ่ง และสุดท้ายต้องจัดการอำนาจที่รวมศูนย์ให้อ่อนลง แม้จะยังล้มไม่ได้ก็ตาม
ดึงทุกคนเป็นผู้นำก้าวต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่น
อีกชุดประสบการณ์ จากปากคำของ ประภาส แสงประดับ ประธานชุมชนบางบัว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ถ่ายทอดการทำงานในชุมชนเมืองว่า คนในชุมชนคลองบางบัวส่วนใหญ่ก็คือคนที่มาจากชนบท ซึ่งไม่มีที่ทำกิน เป็นคนจนจากไร่นาที่มาอาศัยพื้นที่เล็กๆ แต่โครงสร้างรัฐไม่ได้มองลึกซึ้งขนาดนั้น
“คนจนเมืองซึ่งก็คือคนไร้ที่ไปในชนบท จึงถูกตีมูลค่าเป็นเพียงหย่อมปัญหาของสังคมใหญ่ ซ้ำร้ายยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง เทคะแนนให้ด้วยสัญญาว่าจะช่วย แต่จบลงด้วยการไร่ลื้อ ตำรวจไล่จับชาวบ้าน เห็นแล้วน้ำตาจะไหล”
จุดประกายแนวคิดจึงเริ่มต้นว่าเมื่อหน่วยงานไม่แลเหลียว สิ่งเดียวที่ทำได้คือพึ่งตนเอง นั่นคือคำตอบของงานพัฒนาในความคิดของ ประภาส “แต่หลายคนหัวเราะ ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ ปี 2546 มีโครงการบ้านมั่นคงเราเริ่มลุกขึ้นได้ แต่การเดินทั้งที่รัฐมองคนสู้คือคนผิดภายใต้กฎหมายที่ไม่เอื้อก็ทำให้ชุมชนอ่อนแอลงไปอีก”
แต่หากวางมือ ชุมชนก็จะเป็นแค่ “สลัม” ขบวนองค์กรชุมชนจึงรุกและสร้างศรัทธาด้วยกันเอง โดยความเชื่อเดียวกันว่าชาวบ้านมีสิทธิพัฒนาตัวเองได้ เมื่อทุกคนเชื่อก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนบทบาท ผูกโยงกันเป็นลูกโซ่และมวลชนที่เดินไปด้วยกัน แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานบ้าง
ประธานชุมชนบางบัว เล่าว่า เราดึงเยาวชน คนแก่ มาพัฒนาด้วยกันหมด แรกๆ ไปกดดันแบบม็อบ แต่บทเรียนที่ได้กลับมาหนักหน่วงมากกว่าที่ประสบ คนจนกลายเป็นผู้ไปกดทับความเจริญในสายตาคนเมือง จึงพลิกขึ้นมาใหม่ดึงคนที่มีปัญหาด้วยกัน 15 ชุมชน มาเขียนข้อมูล เกิดเป็นแผนพัฒนาทำให้เห็นรูปธรรม เกิดกองทุนขึ้นมาซื้อที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่หน่วยงานเริ่มเข้าใจมากขึ้น “ทุนที่มีอยู่เป็นทุนมีศักดิ์ศรีมากกว่าทุนที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นทุนมนุษย์”
กระบวนการทั้งหมดคือการดึงคนเดินไปด้วยกัน งานของขบวนองค์กรชุมชนก็คืองานที่มีทุกคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เป็นพัฒนาการจากอดีต ปัจจุบัน และก้าวต่อไปในอนาคต หากแต่จะเพิ่มเติมบางอย่างได้ ขอพ่วงท้ายให้ประเทศไทยมี “ผู้นำของประเทศที่เห็นทุกชนชั้นในสังคมเป็นผู้นำ” คงดีไม่น้อย.