คืนการศึกษาให้ชุมชน ทางออกของปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
การศึกษาที่ผ่านมาและจนถึงทุกวันนี้ได้ทำร้ายชุมชนชนบทอย่างแสนสาหัส ด้วยการพรากชีวิตไปจากวิถีที่เคยอยู่เคยเป็น นำพาลูกหลานชาวบ้านให้ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดในนามความสำเร็จของการศึกษา เมื่อลูกหลานทยอยจากไป นับวันชนบทก็กร่อนสลายกลายเป็นชุมชนสิ้นหวัง “จะจัดการศึกษาอย่างไรที่จะสร้างทางเลือกใหม่ ทำให้คนสามารถอยู่ได้ในท้องถิ่นบ้านเกิดของตน” คือโจทย์ข้อใหญ่ไม่แพ้ความจำเป็นในการสร้างขีดความสามารถเพื่อการแข่งขันบนเวทีโลกเช่นกัน
โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวนมากในชนบท ถูกปล่อยปละละเลยจนไม่มีคุณภาพ แล้วมาวันหนึ่งกระทรวงก็ประกาศที่จะยุบทิ้งโรงเรียนเหล่านั้น โดยไม่มีคำขอโทษ ไม่มีการขอความเห็นชาวบ้าน ไม่สำนึกรู้ถึงความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้าน สะท้อนถึงวิธีคิดวิธีบริหารจัดการแบบรวบอำนาจ ซึ่งนอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มเชื้อไฟของความขัดแย้ง จากการไปยุบทิ้งโรงเรียนที่ปู่ย่าตายายของเขาช่วยกันสร้างขึ้นมา
ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายการศึกษาของชาติ ที่ให้หลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของประชาชน ไม่เว้นแม้เด็กหนึ่งคนก็จะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการโดยนโยบายของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มีอำนาจจริงหรือ ? ที่จะไปยุบทิ้งโรงเรียนของลูกหลานชาวบ้าน และกระทรวงจะอธิบายอย่างไรต่อหลักการ “ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา” ในเมื่อคุณไปยุบโรงเรียนของเขาเสียแล้ว
วิกฤตการณ์ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนล่าสุดถึงความผิดพลาดของการปล่อยให้รัฐผูกขาดการจัดการศึกษา และการไร้ประสิทธิภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้วทนอยู่กับการผูกขาดไร้ประสิทธิภาพนี้กันต่อไป สังคมไทยควรถึงเวลาของการปักธงใหม่ คือ “รัฐเลิกผูกขาดการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะต้องถูกยุบรวมให้เล็กลง การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจะต้องอาศัยพลังภายนอกระบบราชการคือภาคประชาสังคมเป็นสำคัญ”
เริ่มต้นจากการประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “เด็กทุกคนอย่างน้อยในระดับประถมศึกษาจะต้องได้เรียนในหมู่บ้านเกิดของตน ในสถานศึกษาที่สามารถเดินเท้าไปถึงได้” โดยมีการพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้และการบริหารที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเป็นสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชนชนบท ด้วยการคืนการศึกษาให้ชุมชน
การศึกษาของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน จะต้องเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิรู้ภูมิธรรม ทรัพยากร วัฒนธรรม วิถีชีวิต องค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เชื่อมโยงกับโลกและสังคม นำเอาสภาพการณ์หรือปัญหาที่เป็นจริงของชุมชนท้องถิ่นมาเป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้ลูกหลานเกิดความรักและแรงใจที่จะร่วมกันพลิกฟื้นสร้างความเจริญให้กับบ้านเกิด และที่สำคัญคือสามารถสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นได้ด้วยตนเอง สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน จนสามารถอยู่ได้และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในท้องถิ่นบ้านเกิดของตน
เมื่อชุมชนเป็นกลไกหลักของการจัดการศึกษา ก็จะเห็นได้ถึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ที่สามารถเข้ามาสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานของเขา ทรัพยากรที่จะระดมเข้ามาช่วยเหลือ ตลอดจนครูภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้มากมายในท้องถิ่นที่สอดคล้องตรงกับวิถีชีวิตจริง เปิดโอกาสของการเรียนรู้ แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์ อย่างลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่แค่แบบฝึกหัดในกระดาษหรือบนกระดานดำ
ในแง่การตรวจสอบประกันคุณภาพก็จะกลายเป็นเรื่องหญ้าปากคอก คือไม่ต้องรอให้ใครที่ไหนที่ไม่รู้จริงมาประเมิน เพราะชุมชนประเมินเองได้ตามมาตรฐานของชุมชน ด้วยเป็นลูกหลานของตนย่อมรู้ดีกว่าใครว่าอยากให้มันเก่ง ดี มีสุขอย่างไร อีกทั้งยังประเมินได้ทุกวัน เมื่ออยู่ใกล้กันตรงนั้นจะละเลยไปบ้างก็ไม่นาน แล้วผลตอบกลับในการปรับปรุงแก้ปัญหาก็จะตรง-แรง ทำนองเดียวกันกับหากพระในหมู่บ้านประพฤติไม่ดีชาวบ้านก็ไม่ใส่บาตรทำบุญ
ที่จริง โรงเรียนหรือสถานศึกษาขนาดเล็กนั้น เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างคุณภาพ ดังเช่นธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กที่คล่องตัวในการบริหารปรับเปลี่ยนพัฒนา สามารถใช้วิธีการและต้นทุนที่เหมาะสมกับผลิตผลที่ต้องการได้ ขนาดจึงไม่ใช่ปัญหาอยู่ที่ฝีมือและวิสัยทัศน์ของผู้จัดการต่างหาก โรงเรียนยิ่งใหญ่ปัญหายิ่งมากเทอะทะไม่ทันกับโลกภายนอก ยิ่งบ้าเรียนหนังสือแข่งขันเบียดเสียดกันไปเข้ามหาวิทยาลัย จะยิ่งห่างไกลจากการเรียนรู้ทักษะชีวิต สุดท้ายก็ย้อนกลับไปหาโจทย์เดิมๆ ของการปฏิรูป คือการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ หรือจะเอาแค่การศึกษาแบบหมาหางด้วน
เจตนารมณ์การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน การศึกษาบนหลักการกระจายอำนาจ การศึกษาที่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น การศึกษาที่เสมอภาคเท่าเทียมสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่ม การศึกษาที่เคารพความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคนให้สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ จนถึงสูงสุดคือการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งหมดนั้นกลายเป็นความว่างเปล่า การลงทุนลงแรงที่ผ่านมาไร้ความหมายสิ้นเชิง ในทันทีที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศยุบทิ้งโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนของลูกหลานชาวบ้านหลายพันโรง ... เราจึงยอมไม่ได้
การศึกษาคือการเรียนรู้ ฉะนั้น ผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติจึงจะต้องเป็นองค์กรที่เรียนรู้เป็น ปัญหาวิกฤตการณ์โรงเรียนขนาดเล็กคือฟางเส้นสุดท้าย ในการพิสูจน์ตนเองของกระทรวงศึกษาธิการ