2 นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มข. คว้ารางวัลนักวิทย์ฯดีเด่นประจำปี 56
ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2556" จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังทั้งคู่ใช้เวลากว่า 30 ปี ทำงานวิจัยเชิงลึกด้านพยาธิใบไม้ตับที่นำไปสู่มะเร็งท่อน้ำดี มัจจุราชที่คร่าชีวิตชาวอีสานอันดับ1 สู่การป้องกันรักษาอย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 31 แล้วที่มูลนิธิฯ จัดให้มีการมอบรางวัลนี้ขึ้น ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสดุดีเกียรติคุณบุคคลผู้มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูงอันจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดศรัทธาและช่วยชี้นำเยาวชนที่มีความสามารถให้มุ่งศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน อันเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีทั้งหลาย เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่า สังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมุ่งยกย่องเชิดชูบุคคลที่มีผลงานดีเด่น กอปรด้วยคุณธรรม จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง
"รางวัลที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นนี้เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังหรือวงการวิทยาศาสตร์ของไทยเห็นว่า คนที่ทำงานเก่งคนที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นคนดีควรได้รับการยกย่องเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนอื่นทำตาม ผมหวังว่ารางวัลนี้จะช่วยกระตุ้นวงการวิทยาศาสตร์และสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยของนักวิชาการไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ มีผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลก เป็นการบอกกล่าวให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งเป็นการผลักดันกลุ่มนักวิจัยและบุคลากรให้มีกำลังใจและสามารถนำงานวิจัยเหล่านั้นไปขยายผลให้คนทั่วไปในสังคมไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เป็นฝีมือคนไทยด้วยกัน"
ทั้งนี้ กระบวนการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นนั้น จะใช้วิธีการเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งในแต่ละปีมีการเสนอชื่อผู้เข้ารับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยเกณฑ์ที่คณะกรรมการใช้พิจารณาคือ ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการที่มีคุณภาพสูงโดยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และผลงานวิชาการดังกล่าวมีผู้อ้างอิงถึงเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นักวิจัย 2 ท่าน ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2556" ได้แก่
1.ศาสตราจารย์ ดร.โสพิศ วงศ์คำ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งวิจัยพบยีนที่สัมพันธ์กับการก่อมะเร็งท่อน้ำดีจากการแพร่ระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ สู่การรักษาแนวใหม่แบบมุ่งเป้า ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศแล้วผู้วิจัยยังเห็นว่า ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาระดับอาเซียนที่ไทยควรจะเป็นผู้นำ หลังจากพบว่าโรคนี้แพร่ระบาดไปทั่วอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ ซึ่งในประเทศดังกล่าวยังไม่มี "พยาธิแพทย์" ที่จะตรวจวินิจฉัยระยะโรคและการพยากรณ์โรคเพื่อเป็นแนวทางในการรักษา จึงทำให้แต่ละปีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการตายสูง
และ 2.รองศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ โดยได้ค้นพบกลไกทางอิมมูโนพยาธิวิทยาที่ทำให้เกิดการอักเสบรอบท่อน้ำดีที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมจัดตั้ง "ละว้าโมเดล" โครงการต้นแบบเพื่อควบคุมและป้องกันพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการในพื้นที่ระบาด เพื่อศึกษาหาแนวทางในการควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยวิถีนิเวศสุขภาพ โดยทำการศึกษาเชื่อมโยงแบบครบวงจรทั้งวงจรพยาธิ พาหะ ระบบนิเวศ และ คน แบบชุมชนมีส่วนร่วม
ในส่วนของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งทางมูลนิธิฯก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 นั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้รางวัลนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่ตนเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันของงานที่แสดงให้เห็นว่า วงการวิทยาศาสตร์ไทยยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดเจตนารมณ์การทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการให้รางวัลนี้ เพื่อให้กำลังใจนักวิจัยรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี และชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีศักยภาพ สิ่งที่พวกเขาทำมานั้นดีแล้วและควรทำดีต่อไปหรือทำให้ดีมากขึ้น
ซึ่งรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2556 ได้แก่
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิทยา เงินแท้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และ 4. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
"การมอบรางวัลทั้งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในปีนี้ ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นงานวิจัยและนักวิจัยของไทยให้ได้มีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอัตราส่วนของนักวิจัยในประเทศมีตัวเลขต่ำมากจนน่าตกใจคือมีนักวิจัยเพียง 9:10,000 คน เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่งผลให้งานวิจัยที่ออกมามีสัดส่วนน้อยเช่นเดียวกัน เพราะรัฐบาลไม่เห็นถึงความสำคัญของนักวิจัย อยากให้รัฐบาลในฐานะที่จับชีพจรสังคมตลอดเวลาและเห็นความเป็นไปของสังคม ให้การสนับสนุนงานวิจัยอย่างเหมาะสม เพราะงานวิจัยก่อให้เกิดนวัตกรรม นวัตกรรมก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งในอนาคตผมเชื่อว่าจุดสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยก้าวหน้าคือ ภาคเอกชนที่จะเข้ามามีบทบาทในแง่ของการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมแล้วนำผลงานของนักวิจัยไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะช่วยทำให้งานวิจัยต่างๆ มีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเชิดชูสนับสนุนคนเก่งคนดีในสังคมไทยสามารถทำได้ทุกสายอาชีพ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะมูลนิธิฯเชื่อว่า การที่สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของนักวิจัยที่เก่ง และเป็นคนดี มีคุณธรรม จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จากผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ผนวกกับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อนงานวิจัยเหล่านี้ไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านต่อไป