องค์กรสิทธิ ตปท.ชี้ตากใบ "อยุติธรรม" - ญาติ4ศพหนองจิกสู้ต่อเอาผิด จนท.
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสากลด้านพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชื่อดัง ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า คำสั่งศาลฎีกาของไทยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 ที่ยกคำร้องเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาในคดีการเสียชีวิต 78 รายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุมจากหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 นั้น แสดงให้เห็นว่าทางการไทยไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำสั่งศาลไม่กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนทั้งหมด 85 คน ทั้งๆ ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปในลักษณะจงใจหรือโดยประมาท และด้วยเหตุดังกล่าวพวกเขาควรถูกนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของศาล ซึ่งครอบครัวของเหยื่อต้องรอคอยความยุติธรรมมากว่า 8 ปีแล้ว
"การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นทั่วไปในไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตัดสินของศาลเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ไม่ได้เป็นการประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทางการไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบ และจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ และต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ" อิสเบล อาร์ราดอน กล่าว
แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ยังระบุด้วยว่า ทางการไทยประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาตั้งแต่ปี 2548 และคณะรัฐมนตรีมีมติขยายการประกาศใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวป้องกันไม่ให้มีการนำตัวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ
"ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป การสร้างสันติสุขในพื้นที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาลงโทษ และต้องประกันว่าผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลไทยควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก่อนเป็นอันดับแรก" อิสเบล อาร์ราดอน ระบุ
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ยังได้อ้างถึงคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลล่างของศาลฎีกาที่ว่า "แม้จะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นแต่ก็ไม่อาจตำหนิเจ้าพนักงานได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ" อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาในกรณีตากใบ กลับไม่พบว่าศาลฎีกาก้าวล่างไปวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่ระบุถึงคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาว่าหากผู้เสียหายเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแห่งท้องที่นั้น ไม่ใช่ศาลอาญา
ศาลฎีกาปัดรื้อคำสั่งตากใบ "ขาดอากาศหายใจ"
ผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกนั่งบัลลังก์ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ส.ค.2556 เพื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ ษ.43/2552 ที่ น.ส.มัสตะ เจะอูมา พร้อมพวกรวม 34 ราย ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ที่ได้ระบุถึงเหตุและพฤติกรรมการตายของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบรวม 78 รายเพียงว่า "ขาดอากาศหายใจ" แต่ไม่ได้ระบุถึงการขนย้ายผู้ชุมนุมที่มีจับกุมผู้ร่วมชุมนุมถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง ให้นอนคว่ำหน้าเรียงทับซ้อนกันไปบนท้ายรถบรรทุกระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมจำนวนกว่า 1,000 คนจากจุดเกิดเหตุ (หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส) ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลานั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ไม่ชอบด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 เรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ให้ระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน พฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร และใครเป็นผู้ทำให้ตายเท่าที่พอระบุได้
อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2552 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับสำนวนไว้พิจารณา หากจะมีการยื่นคัดค้านต้องยื่นศาลจังหวัดสงขลา ต่อมาญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องเช่นกัน ญาติผู้เสียชีวิตจึงยื่นฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ตามคำร้องของ น.ส.มัสตะ กับพวก ระบุว่าการมีคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้กล่าวอ้างถึงการขนย้ายที่มีการให้นอนคว่ำหน้า เอามือไพล่หลัง และมีการทับซ้อนกันบนรถที่เห็นว่าน่าจะเป็นพฤติการณ์การตาย และไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงการกระทำที่น่าจะไม่ถูกต้องในเรื่องระเบียบของศาลชั้นต้น (หมายถึงศาลจังหวัดสงขลา) ซึ่งหากจะมีการกล่าวอ้างเช่นนั้นเพื่อขอให้เพิกถอนหรือคัดค้านคำสั่งก็จะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา 27 และ ป.วิอาญา มาตรา 15
ดังนั้น น.ส.มัสตะ กับพวกจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีขึ้นใหม่ ฎีกาฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนให้ยกคำร้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
ทนายแจงเหตุยื่นศาลอาญา-ไม่ยื่นศาลท้องที่
นายปรีดา นาคผิว ทนายความในคดี กล่าวว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ กรณีการไต่สวนชันสูตรศพก็เป็นอันยุติไป เพราะศาลได้วินิจฉัยว่าตามกฎหมายหากไม่พอใจคำสั่งไต่สวนของศาลชั้นต้น ซึ่งกรณีนี้หมายถึงศาลจังหวัดสงขลา ก็ต้องยื่นคัดค้านต่อศาลสงขลาตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งต้องยื่นภายใน 8 วันนับนับจากวันที่มีคำสั่ง ซึ่งคือวันที่ 29 พ.ค.2552 เท่ากับพ้นเวลามานานแล้ว
"การที่ญาติผู้เสียชีวิตเห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลอาญา (ให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพ ไม่ยื่นต่อศาลท้องที่) เพราะเห็นว่าเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีได้ทั่วประเทศ ซึ่งคงดีกว่าการร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาให้ตรวจสอบตัวเอง หลังจากนี้เมื่อคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพยุติ หากมีการดำเนินคดีทางอาญาก็ต้องกลับไปใช้คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา และยังมีคำเบิกความของพยานทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งรอดชีวิต และพยานแวดล้อมอื่นๆ อีกจำนวนมาก"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องหรือแจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้างหรือไม่ นายปรีดา กล่าวว่า ไม่ทราบประเด็นนั้น แต่เท่าที่ทราบญาติได้เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาแทนประชาชนได้ แต่ไม่ทราบว่าจนถึงขนาดนี้ได้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ใดไปแล้วบ้าง จึงต้องติดตามจาก กสม.อีกครั้ง
เปิด ป.วิอาญา มาตรา 150 ชี้คำสั่ง "ถือเป็นที่สุด"
เป็นที่น่าสังเกตว่า การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกกันในหมู่นักกฎหมายว่า "ไต่สวนการตาย" นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายเปิดให้ศาลเข้ามาร่วมตรวจสอบถ่วงดุลการชันสูตรพลิกศพ กรณีมีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
โดย ป.วิอาญา มาตรา 150 ระบุให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ จากนั้นให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
อย่างไรก็ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 ได้กำหนดไว้ด้วยว่า คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
เท่ากับว่ากฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ยื่นอุทธรณ์หรือเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากเป็นเพียงขั้นตอนตามกฎหมายชั้นก่อนฟ้อง และไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายยื่นฟ้องร้องเอง (กรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง)
แต่ถึงกระนั้น จากความเห็นของ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคดีอีกคนหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้ก่อนศาลฎีกานัดฟังคำสั่ง ว่า หากศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ทางญาติผู้เสียชีวิตคงยุติการดำเนินการทางศาล และจะไม่มีการยื่นฟ้องคดีเอง เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย (รวมช่วงสลายการชุมนุมด้วยเป็น 85 ราย) เป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสืบหาตัวผู้กระทำผิด และอัยการต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เสียหาย เพราะมีหลักฐานบ่งชี้มากมายถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่บางราย
ย้อน 4 คดีตากใบกับข้อเท็จจริงวันเกิดเหตุ
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้ทำสกู๊ปพิเศษในวาระ 8 ปีตากใบ เมื่อ ต.ค.ปีที่แล้ว เรื่อง "8 ปีตากใบ (2)...คดีไต่สวนการตายยังไม่จบ" อธิบายข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และคดีความที่แตกแยกย่อยออกเป็นหลายคดีเอาไว้แบบละเอียด ดังนี้
หากย้อนกลับไปที่เหตุการณ์จริงบริเวณหน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเกือบ 9 ปีที่แล้วในเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2547 จะพบลำดับเรื่องราวที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว หรือมีการจงใจเล่าแบบ "ตัดตอน" เพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามที่ผู้เล่าต้องการ
เหตุการณ์จริง ณ วันนั้น เริ่มจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนักรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
ช่วงนั้นมีเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ. ได้ปืนไปเป็นกอบเป็นกำ โดยทำกันง่ายๆ แค่สวมหมวกไอ้โม่งบุกเข้าไปตอนกลางคืนก็ได้ปืนไปทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "สมรู้ร่วมคิด" หรือ "สมยอม" กันระหว่าง "ผู้ปล้น" กับ "ผู้ถูกปล้น" หรือไม่ จนกระทรวงมหาดไทยต้องคาดโทษว่า หากผู้นำท้องถิ่นหรือ ชรบ.คนใดถูกปล้นปืนไปอีกอย่างไม่สมควรแก่เหตุ จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา "ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ" เพราะถือว่ารู้เห็นกับกลุ่มโจร
และ ชรบ. 6 คนที่ตากใบก็ถูกจับกุมด้วยเหตุนี้...
วันนั้นจากเช้าจนถึงบ่าย มีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลายพันคน ช่วงแรกมีความพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้สลายการชุมนุม มีการเดินเรื่องประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนออกมา และให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นพูดทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมกลับไม่สงบลง แถมยังส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ฝ่ายรัฐมองอย่างไม่ไว้ใจว่าน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดจากการ "จัดตั้ง" และหวังให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงตามมา
ฝ่ายรัฐประเมินว่าแกนนำที่ปลุกปั่นการชุมนุมมีประมาณ 100 คน จึงคิดจับกุมเพื่อแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือแค่มาดู ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
ทว่าแกนนำได้กระจายตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ทำให้ยากต่อการแยกแยะ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 ครั้ง จากนั้นจึงมีการใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทหารตำรวจเข้าปิดล้อมกวาดจับผู้ชุมนุมผู้ชายได้จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธ 6 ราย และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย
ต่อมามีการสั่งให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้า แล้วนำเสื้อไปมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีโดยการนำไปเรียงซ้อนกัน 2-4 ชั้น เพื่อนำไปสอบปากคำและคัดแยกที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร
การเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ประกอบกับความอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวบนรถยีเอ็มซีถึง 78 ราย ส่วนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนไม่น้อยก็พิการ แขนขาไม่มีแรง
กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น โดยในส่วนของการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม มีคดีทั้งแพ่งและอาญาดังนี้
1.คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ในข้อหายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย แต่ต่อมาถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2549 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า "...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ"
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ คดีนี้มีทั้งสิ้น 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกยินยอมจ่ายให้ 42 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าญาติผู้เสียหายต้องถอนฟ้อง และไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาได้อีก
นอกจากนั้น รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาย้อนหลังให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชายแดนใต้ โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า "สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่"
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
อย่างไรก็ดี ญาติผู้เสียชีวิตจำนวนมากรู้สึกกังขากับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว เพราะมีหลักฐานเป็นภาพการใช้ความรุนแรงและอาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมมือเปล่า และพบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเตือนรถบรรทุกลำเลียงผู้ชุมนุมเมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิต ทำให้ในรถบางคันมีผู้เสียชีวิตถึง 23 คน จึงได้รวมตัวกันยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ กระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556 ตามข่าวในตอนต้น
ศาลปัตตานีชี้ 4 ศพหนองจิกถูกกระสุนปืน จนท.
ก่อนหน้าที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษายกคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบเพียง 1 วัน คือในวันพุธที่ 31 ก.ค.2556 ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดียิงประชาชนเสียชีวิต 4 ราย ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555 ซึ่งเป็นคดีที่กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั้งประเทศ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 ผู้ตายทั้ง 4 คน คือ นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี นายสาหะ สาแม อายุ 67 ปี นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี และนายหามะ สะนิ อายุ 56 ปี คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลระบุว่า สืบเนื่องจากการที่มีคนร้ายยิงฐานปฏิบัติการของทหารพราน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4302 (ร้อย ทพ.4302) ได้นำกำลังติดตามคนร้าย และได้ตั้งจุดสกัดบริเวณจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นทางออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าถนนสี่ช่องจราจรที่จะเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 โดยเจ้าหน้าที่เห็นรถกระบะสีเหมือนกับรถที่ติดตามมาจอดอยู่ข้างทาง จากนั้นมีการยิงปืนใส่รถกระบะที่ผู้เสียชีวิตนั่งมาและแนวป่าข้างทาง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 5 ราย
เมื่อนำมาประกอบรายงานชันสูตรบาดแผลผู้ตายทั้ง 4 พบว่าเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนยิง และพบรูกระสุนปืนทะลุรถกระบะจำนวนหลายแห่ง เชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ถูกกระสุนปืนยิงถึงแก่ความตาย เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ คดีสิ้นสุดการไต่สวน ส่งสำนวนคืนให้อัยการผู้ร้องต่อไป
องค์กรสิทธิ-ญาติผู้ตายเดินหน้าสู้ต่อ
ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งรับผิดชอบติดตามคดีนี้ กล่าวว่า เป็นไปตามความคาดหมายว่าประชาชนทั้ง 4 คนเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ แต่การจะเข็นเอาคนผิดมาลงโทษในลำดับต่อไปทำต่อยากมากตรงที่ผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเราฟ้องทหารเองไม่ได้ ต้องเป็นอัยการศาลทหารเท่านั้น หลังจากนี้สำนวนจะถูกส่งไปยังอัยการ และอัยการจะส่งไปให้ตำรวจสอบสวนคดีเพิ่ม จากนั้นก็ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถือเป็นความท้าทายที่ต้องไปผลักดันให้เดินหน้า
"ที่ผ่านมายังไม่เคยมีคดีอาญาที่ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดคดีอาญาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ภายใต้กฎอัยการศึก ต้องถามต่อถึงบทบาทของอัยการและตำรวจว่ากระบวนการยุติธรรมอำนวยความเป็นธรรมได้แค่ไหน หวังว่าในอนาคตคดีเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม"
ด้าน น.ส.อาอิดะห์ บือราเฮง พี่สาวของ นายรอปา บือราเฮง ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด กล่าวว่า จะไม่ย่อท้อ จะสู้ให้ถึงที่สุด นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
"ปีครึ่งที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ความจริง มาถึงชั้นนี้ถือว่าไม่มีความคืบหน้า เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้อยู่แล้ว อยากให้เอาคนทำผิดมาลงโทษ เพราะหลักฐานมองเห็นชัดเจน ชาวบ้านคาดหวังแต่รู้สึกไม่มีความหวัง ไม่รู้จะพึ่งพาใคร ไม่มีหลักประกันให้คนอยู่ข้างหลังในกระบวนการหาหลักฐาน ยังไม่รู้อีกกี่ปีคดีจะจบ ขอให้คดีนี้เป็นตัวอย่าง เงิน 7.5 ล้านบาทที่ให้มา (เงินเยียวยา) ไม่ใช่ค่าหัวคน ถ้าน้องชายยังอยู่เรายังส่งเสียให้เรียนแล้วทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้มากกว่า ที่ผ่านมาเรามักถูกถามว่าได้เงินแล้วมาต่อสู้ทำไมอีก ฉันจะภูมิใจได้อย่างไรในเมื่อเงินที่ได้มามันคือเงินภาษีของพวกเราเอง" พี่สาวของผู้ตายกล่าว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 2547 และ 4 ศพหนองจิก เมื่อปี 2555
หมายเหตุ : ใช้เทคนิครวมภาพโดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา