เปิดแผนกรมชลฯ การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2556
วันที่ 1 ส.ค. 56 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการแถลงข่าว "การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2556" ต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนของกรมชลประทานให้กับประชาชนได้รับทราบ ดังนี้
ในช่วงฤดูฝนปี 2556 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายว่า ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยปี 2556 คาดว่าปริมาณฝนสะสมโดยเฉลี่ยส่วนมากจะใกล้เคียงกับค่าปกติ โดยในช่วงต้นฤดูจะมีฝนตกเป็นระยะๆ จากนั้นประมาณปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคมฝนจะลดน้อยลง เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน
ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม และคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 2 ลูก โดย 1 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน และอีก 1 ลูกในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน
สำหรับการวิเคราะห์ โดยการเปรียบเทียบฝนจริงกับฝนคาดการณ์ ในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา พบว่าในเดือนพฤษภาคม ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ปริมาณฝนจริงจะอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าฝนคาดการณ์ ส่วนในเดือนมิถุนายน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนจริงจะอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าฝนคาดการณ์ จนมาถึงในเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนจริงก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าฝนคาดการณ์ และหากเปรียบเทียบฝนจริงกับฝนเฉลี่ย พบว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ปริมาณฝนจริงน้อยกว่าฝนเฉลี่ย เดือนมิถุนายน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนจริงน้อยกว่าฝนเฉลี่ย และในเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนจริงก็ยังน้อยกว่าฝนเฉลี่ยเช่นกัน
ในส่วนของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน(ณ 31 ก.ค.) จำนวน 35,005 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือ 50% ของความจุที่ระดับเก็บกัก สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 11,506 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือ 16% ของความจุที่ระดับเก็บกัก
นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 448 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 2,174 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50% ของความจุที่ระดับเก็บกัก สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 1,874 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43% ของความจุที่ระดับเก็บกัก หากเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำในอ่างฯปีนี้จะน้อยกว่า 4% และปริมาณน้ำที่ใช้การได้ก็น้อยกว่า 4% เช่นกัน
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปีนี้จะมีรูปแบบคล้ายกับสถานการณ์ในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ในช่วงต้นฤดูฝนได้มีการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนไปแล้ว ปรากฏว่ามีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย และมาเริ่มตกหนักมากขึ้นในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ต้องใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูก การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์มากขึ้น ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำและสร้างความเสียต่อพืชผลการเกษตร โดยได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตกรให้ชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะมีฝนตกชุก
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ กรมชลประทาน จะเน้นการใช้น้ำจากน้ำฝนในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก และจะงดรับน้ำเข้าคลองระบายและพื้นที่นอกเขตชลประทาน พร้อมไปกับควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนตามความจำเป็น โดยจะเน้นการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงและต้นฤดูแล้งหน้าที่จะถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับประชาสัมพันธ์ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
อนึ่ง หากสถานการณ์น้ำในปีนี้เหมือนกับในปี 2553 ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อย แต่พื้นที่ด้านท้ายอ่างฯมีปริมาณน้ำมาก ก็ต้องเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก และเพื่อใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงด้วย จากการติดตามสภาพฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกบริเวณด้านท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีน้ำท่าเพิ่มมากพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ได้ กรมชลประทานจึงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 29 ก.ค.-4 ส.ค. 56 โดยเขื่อนภูมิพล จากเดิมระบายวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงเป็นวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ ระบายวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่าเดิม
สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยปกติจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม และเพาะปลูกเสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม แต่ปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วโดยอาศัยน้ำฝน ซึ่งแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานของอ่างเก็บน้ำต่างๆ จะตกลงกัน โดยใช้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานแต่ละแห่ง ที่มีข้อตกลงว่า จะเริ่มส่งน้ำเมื่อมีฝนตกชุก และอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำใช้การได้ในเกณฑ์ประมาณ 30-40 % ของความจุอ่างฯ
การคาดการณ์ฤดูแล้งปี 2556/2557 จากการจำลองสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง ในกรณีทั้ง 3 กรณี คือ กรณีน้ำน้อย กรณีน้ำเฉลี่ย และกรณีน้ำมาก ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 คาดว่าเขื่อนต่างๆจะมีปริมาณน้ำ ดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 44 , 54 และ 64 ตามลำดับ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 , 62 และ 75 ตามลำดับ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำร้อยละ 54 , 101 และ103 ตามลำดับ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 62 , 81 และ 122 ตามลำดับ เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำร้อยละ 59 , 100 และ 100 ตามลำดับ เป็นต้น
ผลการจำลองสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เมื่อหักปริมาณน้ำที่ต้องใช้เพื่อการอุปโภค-ปริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดจนปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2557 แล้ว นำมาคำนวณเพื่อคาดการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งปี 2556/2557 ในเขตพื้นที่ชลประทาน ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายใต้สภาวะเงื่อนไขปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้
กรณีปีน้ำน้อย ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 120,000 ไร่ และงดการปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน-ลำแซะ และเขื่อนลำนางรอง แต่ปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย
กรณีปีเฉลี่ย ในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 4 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 715,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย
ส่วนในกรณีปีน้ำมาก ในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 6.5 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 880,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย
อย่างไรก็ตาม จากการคาดหมายสภาพฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย จึงคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 4 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 715,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่ปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยทุกกรณี แต่ถ้าหากมีพายุจรพัดเข้ามามีอิทธิพลเกิดฝนตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ก็จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปีหน้า จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นด้วย จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับนำมาทบทวนการพยากรณ์ในทุกๆเดือน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสภาวะฝน