พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน สานฝัน กม.ของเกษตรกรรายย่อย 2 ปีถึงฝั่ง?
วิกฤติความมั่นคงอาหารโลก ด้านหนึ่งเป็น “โอกาส” ของอู่ข้าวอู่น้ำไทยคือภาคเกษตรกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลู่ทางอันแจ่มใสนี้จำกัดอยู่ในกลุ่มทุนเกษตรขนาดใหญ่ ส่วน“เกษตรกรรายย่อย” ค่อยๆล้มละลายโดยมิได้รับการค้ำชูอย่างเป็นระบบ นอกจากประชานิยมสงเคราะห์แบบเทกระจาดชั่วครั้งคราว
………………………….
ทวิลักษณ์เกษตรกรรมไทย ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน(กยย.) บอกปัจจุบันประเทศไทยยังคงส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก แต่ความสำเร็จนี้กระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ ส่วนเกษตรกรรายย่อย(ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ)คุณภาพชีวิตต่ำลงเรื่อยๆ และหากมองย้อนไปคือการปฏิวัติเขียว 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมาแทนที่จะแก้กลับก่อปัญหา เพราะมุ่งไปที่การผลิตเชิงเดี่ยว ต้นทุนสูง ใช้ปุ๋ยเคมีเยอะ แต่ผลผลิตต่ำไม่คุ้มลงทุน
“เกษตรกรได้รับสารเคมีระดับอันตรายเพิ่มจาก 21 เป็น 39% มีปัญหาหนี้สิน-ที่ดินหลุดมือ(เกษตรกร 4 แสนรายที่ขึ้นทะเบียนกองทุนฟื้นฟูมีหนี้มากกว่า 100 ล้านบาท) ชาวนาหลายจังหวัดภาคกลาง 80% ต้องเช่านา เกษตรกรทั้งประเทศ 60% เช่าที่ดิน ชาวบ้านไม่มีที่ดินเป็นล้านครอบครัว” วิฑูรย์ กล่าว
ขณะที่ ทัศนีย์ วีระกันต์ หนึ่งใน กยย.ขยายภาพเกษตรไทยว่ามี 2 ด้านขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งมีเกษตรกรรายย่อยที่ผิดหวังจากการระบบเกษตรสมัยใหม่และพยายามหาทางรอดโดยหันมาพึ่งระบบเกษตรกรรมยั่งยืน แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยและกระจัดกระจายไม่มีพลัง ขาดการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่อีกด้านการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรเคมี เกษตรครบวงจรยังคงมาแรงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆด้วยรูปแบบที่หลากหลาย และมีผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรรายย่อยที่อยู่ภายใต้ระบบดังกล่าว เช่น เกษตรพันธะสัญญา(คอนแท็คฟาร์ม)
“ส่วนวิกฤติความมั่นคงอาหารที่จะเป็นโอกาสเกษตรกรไทย ตอนนี้น่าจะหมายถึงกลุ่มธุรกิจเกษตรในสนามการค้า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือราคาข้าวเพิ่มขึ้นแต่เกษตรรายย่อยไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย” ทัศนีย์ กล่าว
วิฑูรย์ ฉายภาพอนาคตต่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้าแม้ว่าปัจจัยภายในประเทศจะเป็นเช่นไร แต่จะถูกบีบจากปัจจัยภายนอกให้ต้องปรับตัว เช่น ไม่มีทางใช้สารเคมีราคาถูกได้อีก ดังนั้นถ้าไม่รีบปรับตัวก่อนก็จะเจ็บเยอะ ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเกษตรกรรายย่อยว่าจะมีเวลา มีเงื่อนไขพอไหมที่จะปรับตัว
กฏหมายเพื่อเกษตรกรไทย ล้มเหลวและบั่นทอน?
วิฑูรย์ วิพากษ์กฎหมายเพื่อเกษตรกรที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือหรือคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นแต่ตรงข้าม ได้แก่ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วัตถุอันตราย หย่อนยานในการบังคับใช้ ปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึง 2.7 หมื่นรายการ เทียบกับเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาด้วยกันมากสุดแค่ 3 พันรายการ
“พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2518 เจตนารมย์เพื่อควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ดีไม่ปลอมปน ควบคุมการค้าเมล็ดพันธุ์ แต่วิธีคิดมองเกษตรกรเป็นผู้ใช้แทนที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์เองได้ จึงต้องซื้อจากรบริษัทที่ผูกขาด บางครั้งยังไปไล่จับชาวบ้านที่ขายเมล็ดพันธุ์โดยไม่ได้รับอนุญาต” กรรมการ กยย.วิพากษ์
ขณะที่อุบล อยู่หว้า ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ชำแหละกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ที่ตั้งขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ โดยการเรียกร้องของภาคประชาชนว่าเมื่อรัฐบาลตั้งกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องช่วยเหลือเกษตรกรด้วย แต่ออกมาก็ไม่พ้นอิทธิพลของนักการเมืองเพราะถูกมองเป็นฐานเสียงและผลประโยชน์จากงบประมาณ ส่วน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติที่เพิ่งคลอดก็ส่อแวว
“มีความเสี่ยงที่จะรวมศูนย์และล่อแหลมต่อการถูกหยิบไปใช้เพื่อผลประโยชน์ เช่น จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานบ้านผมมี 26 อำเภอ ซื้อเสียงตั้งแต่เลือกตั้งระดับตำบล และตัวแทนจังหวัด 1 คนก็เป็นคนของนักการเมือง ผมไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วได้ประโยชน์อะไร แต่เมื่อที่มาเป็นแบบนี้ ที่ไปก็ไม่น่าจะดี เพราะสภาเกษตรกรฯ มีหน้าที่ทำแผนเกษตรชาติให้นายกฯตอบ วันหนึ่งอาจถูกนายทุนเกษตรล็อบบี้ก็เป็นไปได้”
พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมเกษตรยั่งยืน “แห้ว” ตั้งแต่ยังไม่คลอด
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ระบุว่าระบบเกษตรกรรมของประเทศ 20% ต้องเป็นเกษตรยั่งยืน กระทั่งแผนฯ11 ก็เขียนว่าต้องเป็นระบบเกษตรยั่งยืน 25% จำนวนนี้เป็นเกษตรอินทรีย์ 5% แต่กระทั่งปัจจุบันกลับไม่มีกลไกหรือแผนปฏิบัติการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
ทัศนีย์ เล่าความพยายามของภาคประชาชนในการผลักดันกฎหมาย ด้วยแนวคิดพื้นฐานว่าทิศทางหลักที่เกษตรกรจะไปรอดจริงๆต้องเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน ลดปัจจัยการผลิต ลดปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเป็นการผลิตที่เอื้อต่อความมั่นคงอาหาร และปัญหาที่ผ่านมาของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก 1.ขาดกลไกกฏหมายและองค์กรรองรับ 2.ที่ผ่านมามีคนทำงานเกษตรยั่งยืนพอสมควร หลายหน่วยงานมีงบ แต่ขาดการบูรณาการเข้าด้วยกัน 3.ขาดการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
“ข้อเรียกร้องหนึ่งของม็อบสมัชชาคนจนคือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอาแผนฯ8 มาทำให้เกิดจริง มีการเจรจากันจนเกิดโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ดำเนินการโดยองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน มีมูลธิเกษตรกรรมยั่งยืน(อ.ระพี สาคริก เป็นประธาน) ดูแล แต่พอจบโครงการ 3 ปี ก็สรุปกันว่าไม่มีความต่อเนื่อง ควรกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล มีข้อเสนอเชิงกลไก และให้มีองค์กรอิสระ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สานต่อ” ทัศนีย์ เล่าความล้มเหลวครั้งแรก
ต่อมาในรัฐบาล สนช.(พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี) ม็อบสมัชชาคนจนเรียกร้องให้มีการร่าง “พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” โดยให้กระทรวงเกษตรฯ จัดการรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ข้อเสนอเรื่องที่มาของกองทุนฯนี้จากการเก็บภาษีสารเคมี โดนบริษัทสารเคมีเกษตรต่อต้าน และกระทรวงก็ไม่ได้เอาเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)และไม่สานต่ออะไร
ความหวังครั้งใหม่ “กม.เกษตรกรรมยั่งยืน” พ.ศ.นี้
รัฐบาลปัจจุบันนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ(คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นประธาน) ตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และ“สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร” (ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา เป็นผู้อำนวยการ) ทำงานประสานภาคีเครือข่าย เรื่องหลักคือจัดการความรู้-พัฒนากลไกขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอว่าควรมีกฏหมายรองรับ จึงมีการตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน”
“มีอำนาจยกร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน และศึกษาความเป็นไปได้ 3 เรื่อง(กฎหมาย-บูรณาการคนทำงาน-งบ) เดิม ครม.ให้ร่างเสร็จใน 3 เดือน แต่คณะกรรมการเห็นว่าระยะเวลาสั้นยากจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม จึงเสนอออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี(4 เม.ย.54)ว่าด้วยการสร้างเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน และตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน(กยย.)” ทัศนีย์ อธิบาย
วิฑูรย์ เพิ่มเติมว่า กยย.มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ)เป็นประธาน, ปลัดกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ, รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯเป็นเลขานุการ, ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒน์ฯเป็นผู้ช่วยเลขาฯและกรรมการ
“หน้าที่ทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนเสนอ ครม.ส่งเสริมการศึกษาวิจัยถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ให้เกษตรกร-ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนกำกับติดตามการดำเนินตามนโยบายและยุทธศาสตร์รายงาน ครม.ทุก 3 เดือน” วิฑูรย์ กล่าว
2 ปีรอคลอด เน้นประชาพิจารณ์-ชาวบ้านร่วมร่าง
ส่วนกระบวนการที่จะดำเนินต่อไปในช่วง 2 ปีนี้คือ 1.ไปรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน-เกษตรกรทั่วประเทศ 2.มีทีมวิชาการศึกษารูปแบบและโครงสร้างที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย
“กฏหมายมากมายออกมาแบบขาดการมีส่วนร่วมและไม่เกิดประโยชน์ บางฉบับเป็นเครื่องมือนักการเมือง เราจึงไม่ตั้งธงว่าต้องเป็น พ.ร.บ.หรืออะไร แต่ต้องไม่ใช่กฏหมายของเอ็นจีโอหรือรัฐบาลหรือใคร แต่เป็นของประชาชน จึงเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมออกแบบมากที่สุดว่าอะไรเหมาะกับเขาและสนองความต้องการได้จริง” ทัศนีย์บอกว่าวันนี้ไม่ได้คาดหวังว่าต้องเป็น พ.ร.บ. แต่ธงที่ต้องไปเปลี่ยนคือสาระสำคัญพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และน่าจะเน้นกลไกการเชื่อม-บูรณาการคนและงานเข้าด้วยก้น
ส่วนเอ็นจีโอที่ทำงานด้านการเกษตรอย่าง อุบล คิดสอดคล้องกันว่าการมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรแต่ละครั้งต้องระแวดระวังอย่างยิ่งว่าจะถูกคนอื่นหยิบไปใช้ประโยชน์ โดยสรุปบทเรียนจากที่ผ่านๆมา จึงควรเน้นให้ชาวบ้านร่วมเขียนกฎหมายไม่ใช่คณะกรรมการชุดใดเขียนแทน
“เห็นด้วยว่าไม่จำเป็นต้องเป็น พ.ร.บ. แต่ต้องเป็นกฏหมายที่ปฏิบัติได้จริง เพราะประเทศนี้อะไรที่รัฐบาลเห็นด้วย แค่ออกระเบียบสำนักนายกฯ ก็ใช้เงินเป็นหมื่นล้านได้ แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ.ก็ดี และอย่างน้อยควรเป็นพระราชกฏษฎีกา(พรก.)ไม่ใช่ระเบียบสำนักนายกฯที่เปลี่ยนตามรัฐบาล ส่วนรับฟังความคิดเห็นรายภาคผมว่ามันน้อยไป ควรทำย่อยถึงระดับรายจังหวัดหรือเวทีสมัชชาจังหวัดเพื่อระดมความคิดเรื่องนี้ไปเลย”
มีภาพหวังอะไร? ในกฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืน
อุบล อยากเห็นว่า 1.ต้องมีนโยบายสนับสนุนเกษตรยั่งยืนตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาจนกระบวนการผลิตที่คิดถึงความมั่นคงอาหาร เป็นมิตรกับคน สิ่งแวดล้อม การตลาดที่แบ่งปันมีความเป็นมนุษย์ 2.มีแผนพัฒนาเกษตรที่วางแผนตั้งแต่ฐานล่างระดับชุมชนให้พึ่งตนเองได้ ขึ้นมาอำเภอ จังหวัด ประเทศ โดยมีหลักการน้อมรับความเหมาะสมในระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ เช่น มีกฏระเบียบที่เอื้อต่อ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด- อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ-อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำป่าทามมูลเดียวกัน
“มีกองทุนเกษตรที่เป็นอิสระ ให้องค์กรที่ประสงค์จะทำเกษตรยั่งยืนเข้าถึงได้ โดยที่มางบประมาณจากรายได้ภาษีสินค้าส่งออกการเกษตร เหมือนกรณียางพาราที่กฏหมายกำหนดให้เอารายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนเกษตรกร (แต่ไม่เคยเกิดกับพืชอื่นโดยเฉพาะข้าวที่เป็นผลผลิตสำคัญ) และไม่มีเหตุผลที่จะไม่เอาภาษีนำเข้าสารเคมีมาใช้ด้วย และต้องเป็นการลงทุนให้สาสมกับที่ได้สร้างผลกระทบมา 50 กว่าปี”
นักพัฒนาที่คร่ำหวอดกับเกษตรกรรายย่อย ยังวาดอนาคตว่าถ้าทำได้อย่างนี้อีก 10 ปีข้างหน้าเกษตรกรรายย่อยไทยจะมีที่ยืน คนทำเกษตรอินทรีย์จะเพิ่มขึ้นเป็นหน่ออ่อนกระจายทั่วประเทศ แม้ว่าอีกด้านก็จะเห็นแนวโน้มกลุ่มทุนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการกระจายความเป็นธรรม เช่น คอนแท็คฟาร์มอินทรีย์ที่เกษตรกรใต้ระบบถูกเอาเปรียบเหมือนเดิม
“ตัวอย่างดีๆปัจจุบัน เช่น ชาวบ้าน 15 จังหวัดอีสานทำตลาดอินทรีย์มีระบบขายตรงในประเทศ มีระบบส่งออกข้าวไปยุโรป ชาวนายโสธร 1,000 ครอบครัวเป็นเกษตรอินทรีย์ เราอาจเห็นภาพผู้บริโภคในเมืองสามารถเลือกที่จะกินข้าวที่ผลิตจากบ้านนาย ก. นาย ข. หรือผักจากบ้าน นาย ข.นาย ค.”
ด้านวิฑูรย์ บอกว่าเกษตรกรรมยั่งยืนจะแก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการผลิตที่หลากหลายไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว จึงลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลน และยังตอบโจทย์สุขภาพ-สิ่งแวดล้อมจากการไม่ใช้เคมี และสร้างความมั่นคงให้ประเทศในภาพรวมจากการที่อาหารไม่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ เพราะมีการกระจายการผลิตและขายในประเทศอย่างเสรี ซึ่งผลกระทบการผูกขาดมีให้เห็นแม้ในประเทศกรณีไข่ไก่ที่ราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับตลาดแล้ว แต่อยู่ที่คนควบคุมการผลิต เราจึงเห็นภาพที่ไข่ไก่เดี๋ยวล้นตลาด เดี๋ยวราคาพุ่ง
“ความเป็นจริงเราไม่สามารถปฏิเสธกลุ่มทุนเกษตรรายใหญ่ แต่ต้องสร้างพลังต่อรองที่เป็นธรรมกับรายย่อย ต้องจัดการปัญหาที่ดิน ให้ความสำคัญกับพันธุกรรม สร้างงานวิจัยสาธารณะไม่ให้รวมศูนย์ที่รัฐแล้วไปรับใช้บริษัท ควบคู่กับหนุนวิจัยชาวบ้าน เช่น โรงเรียนชาวนามูลนิธิขวัญข้าว(โดยเดชา ศิริภัทร) ที่สุพรรณบุรี ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกับชาวนา และขยายผลจนเกิดอีก 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ” วิฑูรย์ ปิดท้าย
…………………….……
“เกษตรกรรมยั่งยืน” เป็นทางเลือกให้ชาวบ้านทำการเกษตรอย่างอิสระโดยไม่ต้องจำนนเข้าไปอยู่ในระบบที่เสียเปรียบ ขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รอดได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ถ้ากฎหมายจำเป็นต่อการพัฒนาอาชีพที่เป็นฐานอู่ข้าวอู่น้ำไทย และความอยู่รอดเกษตรกรรายย่อยที่วาทกรรมเชิดชูเป็นกระดูกสันหลังของชาติ “กฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืน” ก็เป็นความหวังต้องไปให้ถึงฝั่ง
ส่วนจะทันเห็นใน 2-3 ปีหรือไม่? และคลอดออกมาได้น้ำหนักมาตรฐานหรือเป็นกฏหมายลูกกรอกแคระแกรนที่ปฏิบัติไม่ได้จริง? ต้องช่วยกันลุ้นต่อไป…โอมเพี้ยง!!