ลุ้น 2 คดีสำคัญ...ไต่สวนการตาย4ศพหนองจิก กับกรณีตากใบ"ขาดอากาศหายใจ"
มีความเคลื่อนไหว 2 คดีสำคัญที่มีผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 ทั้งสำนวนคดีที่ศาลนัดฟังคำสั่งตามปกติ และสำนวนคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฎีกา อันเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการต่อสู้คดีของผู้เสียหาย
คดีแรก ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 กรณีทหารพรานสังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4302 ใช้อาวุธปืนสงครามยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย ที่บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2555
ทั้งนี้ ทหารพรานชุดดังกล่าวได้นำกำลังติดตามคนร้ายที่เพิ่งใช้อาวุธสงครามโจมตีฐานปฏิบัติการ และได้ตั้งจุดสกัดบริเวณจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นทางออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าถนนสี่ช่องจราจรที่จะเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 จากนั้นมีการยิงปืนใส่รถกระบะของชาวบ้านทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 5 ราย
ผู้ตายทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย นายสาหะ สาแม อายุ 67 ปี นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี และนายหามะ สะนิ อายุ 56 ปี
พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้ง 4 รายเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2555 เพื่อให้ศาลทำคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน พร้อมระบุเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนร้ายให้กล่าว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว เป็นไปตาม ป.วิอาญามาตรา 150 วรรค 3-5 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ จากนั้นให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว กฎหมายกำหนดให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
คดีที่ 2 ศาลฎีกานัดฟังคำสั่งกรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จำนวน 34 คน ยื่นคำร้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจำนวน 78 รายโดยศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาเมื่อ 29 พ.ค.2552 ระบุถึงการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 78 รายจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนที่ถูกสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยศาลมีคำสั่งว่า "สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่"
คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ญาติผู้เสียชีวิต เพราะมีหลักฐานเป็นภาพการใช้ความรุนแรงและอาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมมือเปล่า ก่อนจับกุมโดยให้ถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร โดยพบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเตือนรถบรรทุกลำเลียงผู้ชุมนุมเมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิต ทำให้ในรถบางคันมีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย
การยื่นคำร้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตาย ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต 34 รายได้ยื่นต่อศาลอาญาที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2555 ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งไต่สวนการตายเป็นที่สุด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2555 ทนายความของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง ในตอนท้ายของฎีกาผู้ร้องระบุเหตุผลว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคดี กล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเหมือนศาลอาญา โดยอาจเห็นตรงกันว่า ป.วิอาญา มาตรา 150 บัญญัติไว้ให้คำสั่งไต่สวนการตายของศาล ณ ท้องที่เกิดเหตุถือเป็นที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
"หากศาลฎีกามีคำสั่งในลักษณะที่ว่านี้ ทางญาติผู้เสียชีวิตคงยุติการดำเนินการทางศาล" ทนายรัษฎา กล่าว
ต่อข้อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ญาติผู้เสียชีวิตจะยื่นฟ้องต่อศาลเอง เพราะทราบว่าคดีตากใบอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว ทนายรัษฎา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย เป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสืบหาตัวผู้กระทำผิด และอัยการต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เสียหาย เพราะมีหลักฐานบ่งชี้มากมายถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่บางราย ฉะนั้นเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องไปตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวนว่าทำสำนวนมาอย่างไร และเหตุใดอัยการถึงสั่งไม่ฟ้อง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)