จับตาพื้นที่การรบใหม่...จากไฟใต้ โรฮิงญา บึ้มหน้ารามฯ ถึงคลิปอัลกออิดะห์
ไม่ว่าคลิปอ้างเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์ขู่ไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย จะเป็นของจริงตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย หรือเป็นแค่ของเก๊ลวงโลกตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคนในรัฐบาลออกมาบอก แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักก็คือ ปัญหาก่อการร้ายหรือการใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่การรบ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว
หากไล่ย้อนดูเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจะพบสถานการณ์ที่น่าบันทึกไว้เป็นลำดับดังนี้
ม.ค.2555 มีการจับกุม นายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอนที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ พร้อมสารตั้งต้นประกอบระเบิดล็อตใหญ่
14 ก.พ.2555 มี "วาเลนไทน์บอมบ์" จากกลุ่มผู้ต้องหาชาวอิหร่าน
ปัจจุบันทั้ง 2 คดีอยู่ในชั้นศาล โดยในส่วนของวาเลนไทน์บอมบ์มีผู้ต้องหา 1 รายหลบหนีไปได้ แต่ถูกจับกุมที่ประเทศมาเลเซีย จนถึงขณะนี้ยังขอตัวมาดำเนินคดีไม่สำเร็จ
ขณะที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคราวก็ล้นกระฉอกไปถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เช่น เหตุลอบวางระเบิดท่าอากาศยานเมื่อปี 2548 เป็นต้น
26 พ.ค.2556 มีเหตุระเบิดที่ปากซอยรามคำแหง 43/1 ผู้ต้องหาที่ถูกจับและถูกออกหมายจับแล้วเป็นชาว จ.นราธิวาส มีปฏิบัติการลับๆ พาไปชี้จุดต้องสงสัยในพื้นที่ พบอุปกรณ์ประกอบระเบิดถูกฝังไว้ล็อตใหญ่ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมไปจนถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะตอบอ้อมแอ้มๆ ว่าไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบที่ชายแดนใต้ แต่ในทางการข่าวได้รับการยืนยันแล้วว่าผู้ต้องหาชุดนี้เป็น "กลุ่มพูโลใหม่" ที่เพิ่งผ่านการฝึก ประวัติขาวสะอาด ไม่เคยก่อคดีใดๆ และได้รับงานแรกคือลอบวางระเบิดย่านรามคำแหง กลางกรุงเทพฯ
ช่วงต้นของเดือนรอมฎอนที่มีข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยกับบีอาร์เอ็น ฝ่ายทหารสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยอ้างเป็น "กลุ่มพูโลใหม่" ได้เช่นกัน แต่ข่าวถูกปิดเอาไว้ มีรายงานระบุว่ากลุ่มดังกล่าวนี้เตรียมก่อเหตุป่วนในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด เพราะไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
นี่คือตัวอย่างของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปหลังเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจากับบีอาร์เอ็นเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ และภัยเงียบจากปัญหาอื่นๆ ที่รุกรานประเทศไทย เช่นเดียวกับคลิปอัลกออิดะห์ แม้เลขาธิการ สมช.และฝ่ายการเมืองยืนกรานว่าเป็น "คลิปโจ๊ก" แต่ก็มีคนขี้สงสัยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นคลิปโจ๊กจริงคงไล่เช็คบิลเอามาแถลงถล่มฝ่ายตรงข้ามจนแทบจมธรณีแล้ว (ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนม็อบโหมโรงแบบนี้) ทว่างานนี้ทั้งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างนิ่ง
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการข่าว ระบุว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐตอนบนของมาเลเซียเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคงอย่างมากในปัจจุบัน เหตุเพราะ
1.มีปัญหาความไม่สงบยืดเยื้อมานานถึง 10 ปี
2.มีปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในวงประชุมด้านความมั่นคงระดับนานาชาติ หลายประเทศชี้มือมาที่ไทย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น "แหล่งบ่มเพาะก่อการร้าย" แหล่งใหม่ จากสถานการณ์ไฟใต้ที่ยืดเยื้อ และการเป็นสถานที่พำนักหลบซ่อนของชาวโรฮิงญา
ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าไรแล้ว แต่ข้อมูลจริงในพื้นที่ค่อนข้างน่าวิตก คนกลุ่มนี้หลบหนีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาจากเมียนมาร์ โดยล่องเรือแบบ "ไปตายเอาดาบหน้า" เพื่อเข้าไปเป็นแรงงานในประเทศมาเลเซีย แต่นายหน้าค้าแรงงานก็คัดเอาเฉพาะชายฉกรรจ์ที่แข็งแรงส่งไปขายต่อ ส่วนที่ไม่ได้ถูกเลือกก็ตกค้างอยู่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย กลายเป็นปัญหาทางความมั่นคงซ้อนขึ้นมาอีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งไทยและมาเลเซียต่างตระหนักถึงปัญหา จึงเร่งผลักดันให้เกิดการพูดคุยเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไฟใต้ของไทยไปเปลาะหนึ่งก่อน โดยมีมาเลเซียรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วการเจรจาแบบเปิดหน้ากับบีอาร์เอ็นนั้น หน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่สายของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. แทบไม่มีใครเห็นด้วยเลย แต่ที่ไม่ออกมาคัดค้านหนักๆ เพราะยังเชื่อว่ามาเลเซียมีความจริงใจพอสมควร เนื่องจากอยากให้ไฟใต้สงบไม่แพ้ฝ่ายไทย
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากผลการเจรจาไม่เป็นไปตามแผน จะมีปัญหาใหญ่ตามมาหรือไม่ เนื่องจากหลายพื้นที่ในชายแดนใต้ยังเสมือนเป็น "ฟรีโซน" ปลอดจากอำนาจรัฐ (เหมือนกับค่ายฝึก ค่ายพักบนภูเขาใน จ.นราธิวาส ที่ทหารเพิ่งไปทลายได้ช่วงหยุดยาวเข้าพรรษา) จนน่าหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นแหล่งฝึกแหล่งใหม่ของผู้ก่อความไม่สงบ และอาจบานปลายไปถึงผู้ก่อการร้ายด้วย
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มตาลีบันจากอัฟกานิสถานเคยประกาศให้ความช่วยเหลือมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจใช้พื้นที่ชายแดนใต้และใกล้เคียงเป็นแหล่งฝึกและเตรียมการก่อนส่ง "นักรบ" กลับไปต่อสู้ที่รัฐอาระกัน (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ยะไข่" รัฐที่มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธพม่ากับมุสลิมโรฮิงญา)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ทางตอนเหนือของมาเลเซียและทางตอนใต้ของไทยไม่เคยปลอดจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย อย่างเช่น "กลุ่มเจไอ" หรือเจมาห์ อิสลามิยาห์ ก็พยายามเข้าไปเคลื่อนไหว และทางการไทยเองก็เคยจับแกนนำลำดับ 2 ของเจไอนาม "ฮัมบาลี" ได้ แม้จะนอกพื้นที่สามจังหวัดก็ตาม แต่ก่อนถูกจับ เครือข่ายของฮัมบาลีก็เคยเข้าไปที่สามจังหวัดชายแดน และมีรายงานเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่มเจไอเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ตอนเหนือของมาเลเซียด้วย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวว่า มีความวิตกกังวลมาตลอดว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดึงดูดผู้ก่อการร้ายสากลเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรายงานชัดเจนในส่วนของเจไอ และต่อมายังมีรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวอัลจีเรียที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์กับกลุ่มหัวรุนแรงในมาเลเซียด้วย ประเด็นเหล่านี้หลายประเทศเฝ้าจับตาอยู่
"ฉะนั้นเรื่องคลิปอ้างอัลกออิดะห์จึงมีความสำคัญและรัฐบาลต้องเร่งพิสูจน์ เพราะถ้าเผื่อเป็นของจริงขึ้นมาจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที" รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ
อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ การรับมือกับภัยก่อการร้ายที่อินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ แม้จะเป็นเพียงคำขู่ที่ไม่ได้มี "ภัยขนาดใหญ่" เกิดขึ้นจริง แต่นิยามของ "ก่อการร้าย" ก็ครอบคลุมไปถึงการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวและไม่มั่นใจในความปลอดภัยในหมู่ประชาชนเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
แน่นอนว่ากรณีคลิปอ้างอัลกออิดะห์เข้าข่าย "ภัยออนไลน์" ในลักษณะที่ว่านี้ และที่น่าสนใจคือหน่วยงานความมั่นคงไทยยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดีนัก เห็นได้จากเหตุการณ์เผยแพร่คลิปอ้างอัลกออิดะห์เกิดขึ้นมาแล้วหลายวัน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบถึงที่มาที่ไปของคลิปได้อย่างชัดเจน
ไชยกร อภิวัฒโนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบบสารสนเทศ หรือ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ กล่าวว่า กรณีของคลิปอ้างกลุ่มอัลกออิดะห์ไล่ล่าอดีตนายกฯ เข้าข่ายเป็น "สงครามข้อมูลข่าวสาร" หรือ Information Warfare ประเภทหนึ่ง โดยใช้ช่องทางไซเบอร์ในการเผยแพร่ข้อมูล หวังผลเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมตอบสนอง ซึ่งที่ผ่านมาการเตรียมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับสงครามข้อมูลข่าวสาร หรือพื้นที่การรบใหม่ทางไซเบอร์ของหน่วยงานความมั่นคงไทยยังมีการเตรียมการและความพร้อมค่อนข้างน้อย
"พื้นที่การรบเดิมคือ บก น้ำ อากาศ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่การรบใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 พื้นที่ คือ อวกาศ กับไซเบอร์ หลายประเทศจึงตั้ง ไซเบอร์ คอมแมนด์ (Cyber Command) คล้ายเป็นกองทัพไซเบอร์ขึ้นมาแล้ว และมีนักรบไซเบอร์ หรือ Cyber Warrior คอยสกัดกั้นและตอบโต้การโจมตีทางไซเบอร์ด้วย" ไชยกร ระบุ
สำหรับประเทศไทยเพิ่งมีการตั้ง คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเพิ่งประชุมกันครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งแม้จะถือเป็นความตื่นตัวกับสงครามในพื้นที่ใหม่มากที่สุดในรอบทศวรรษ แต่ความพร้อมในระดับประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์การสู้รบที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐได้เปิดสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางไซเบอร์อย่างกว้างขวาง แต่รัฐยังแทบดักทางไม่ได้เลย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่ปากซอยรามคำแหง 43/1 ซึ่งไปๆ มาๆ ผู้ต้องหาเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด