มจธ. หนุน นศ.แข่งขันออกแบบอนาคตบ้านผลิตพลังงานได้เอง
นักศึกษา มจธ.เจ๋งเข้าประกวดออกแบบบ้านยุคใหม่ ผลิตพลังงานได้เอง รองรับภัยธรรมชาติ-การขยายครอบครัว นักวิชาการเผย แนวคิดทำได้จริง ไม่แพง
วันที่ 25 กรกฎาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แถลงในฐานะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันการออกแบบและสร้างบ้านประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการ "Solar Decathlon Europe 2014" ณ เมืองแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการดังกล่าวและเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ 20 ทีม จากทั้งหมด 44 ทีมทั่วโลก โดยที่โครงการ Solar Decathlon Europe 2014 เป็นการแข่งขันการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นงานแข่งขันระดับนานาชาติ
ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง "อนาคตบ้านไทย ฉลาดใช้พลังงานยั่งยืน" โดย รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มจธ. ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. และดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการฯ ร่วมเสวนา
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ.มุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อความยั่งยืน เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยให้แก่สังคม โดยสร้างความตระหนักและตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย คัดแยกขยะ ผลิตแก๊สชีวภาพจากเศษอาหาร ริเริ่มหารใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2017 ว่าต้องมีการใช้พลังงานลดลง 30% ต่อคน และต้องมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 1% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
"มจธ.พยายามใช้วิธีที่ง่ายที่สุดและตันทุนถูกที่สุด นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เริ่มจากตัวเองและเป็นเครื่องจักรที่พยายามขับเคลื่อนสู่สังคมภายนอก โดยได้ประยุกต์ใช้ในการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน กระทั่งการวางนโยบายและแผนการอนุรักษ์พลังงานในระดับประเทศ ไปจนถึงการแบ่งปันความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว เวียดนามและเขมร"
ขณะที่ดร.วีระพันธุ์ กล่าวถึงทิศทางการออกแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านในอนาคตว่า ภายใน 10-15 ปี จากนี้ การออกแบบและการขายบ้านจะเริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยน โดยจะเปลี่ยนเป็นบ้านสำเร็จรูปหรือบ้านที่สามารถถอดประกอบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สร้างบ้านได้รวดเร็วขึ้นภายใน 2 เดือน จากปกติใช้เวลา 7-8 เดือน รวมถึงมีการใช้วัสดุเบาและระบบแห้งมาแทนมาก่ออิฐฉาบปูน
ดร.วีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยเริ่มมีการผลิตบ้านสำเร็จรูปบ้างแล้ว เนื่องจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.เรื่องค่าแรง ที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับแรงงานก่อสร้างเริ่มหายากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกสนก่อสร้างของไทยไปสู่ระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น คือการผลิตชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักเบา 2.การขนส่งหรือโลจิสติกส์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างบ้านที่คิดเป็น 17% ขณะที่ต่างประเทศอยู่ที่ 7% เท่านั้น และหากมีระบบรางจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 10% 3.นวัตกรรม ที่เป็นส่วนในการออกแบบได้หลากหลายมากขึ้น สามารถถอดประกอบได้และมีราคาถูก
"ต้องยอมรับว่าปัจจุบันความมั่นคงด้านพลังงานของไทยลดน้อยลง จึงต้องทำวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ต้องคำนึงถึงสภาวะอากาศ ภัยน้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหวและอุณหภูมิที่สูงขึ้น จึงต้องกลับมาคำนึงถึงที่อยู่อาศัย ต้องเตรียมตัวออกแบบให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยีการก่อสร้างให้มีระบบสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบสำรองน้ำสะอาด รองรับสภาวะน้ำท่วม ดังนั้น การออกแบบและก่อสร้างบ้านแบบประหยัดพลังงานและฉลาดใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ต้องอาสัยพลังงานทางเลือก อย่างโซลาร์เซลล์หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์" ดร.วีระพันธุ์ กล่าว และว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้ตระหนักถึงการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยสื่อสารแนวทางการออกแบบและการอยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงานและสามารถใช้ได้จริงในอนาคต
ด้านดร.อัจฉราวรรณ กล่าวว่า ภายหลังการแข่งขัน ไม่อยากให้โครงการนี้ถูกพับเก็บไปเหมือนโครงการดีๆ ที่ผ่านมา เพราะโครงการนี้สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่ที่ผ่านมาอุปสรรคอยู่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูล จึงมีความคิดต่อต้าน เนื่องจากเป็นแนวความคิดใหม่กลัวจะมีราคาแพง บำรุงรักษายาก หาอะไหล่ไม่ได้และไม่คงทน ซึ่งความจริงแล้วประหยัดและใช้ได้จริง
"อยากเผยแพร่แนวความคิดนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำแนวคิดและผลงานไปผลิตใช้ได้เอง หรือมีบริษัทนำไปพัฒนาและทำให้เกิดการนำไปใช้ในท้องถิ่น แนวความคิดเพื่อความยั่งยืนจะเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่มีความเชื่อมั่น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากหรือเรื่องไกลเกินตัว เพราะต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านก็ใช้กันมากแล้ว"
ดร.อัจฉราวรรณ กล่าวต่อว่า เนื่องจากหลายประเทศได้รับเงินหนุนจากรัฐบาล เนื่องจากมีโครงสร้างและนโยบายการศึกษาที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย มจธ.จึงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลักในการสนับสนุนการแข่งขันและต่อยอดโครงการให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต โดยตั้งเป้าให้บ้านในอนาคตสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง อยู่ได้ด้วยตนเอง สามารถรองรับครอบครัวใหญ่ รับแผ่นดินไหว น้ำท่วม การขยายครอบครัว เป็นเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนได้ แต่อยู่สบาย คนทั่วไปใช้ได้ ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและไม่แพง ซึ่งเป็นทิศทางบ้านแบบใหม่ในอนาคต