เขาว่า...ฮอร์โมนเนื้อหาแรง? ดูแล้วได้อะไร !?!
“เราไม่สามารถไปขีดอนาคตให้ใครได้ แต่เราแค่อยากตีแผ่ความจริงออกมา และไม่ต้องการให้ใครนำตัวละครตัวใดไปเป็นไอดอล”
"ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ซีรีย์ที่ตีแผ่ทุกแง่มุมของวัยรุ่น ฉายไปได้เพียงไม่กี่ตอน กระแสตอบรับจากกลุ่มวัยรุ่นถล่มทลาย ด้วยยอดจำนวนคนดูในยูทูป กว่าหลายล้านวิวแล้ว
หากแต่ตอนนี้ผู้ใหญ่หลายคนแสดงความเป็นห่วงถึง "ความแรง" ของละคร ที่มีการแสดงเนื้อหาที่ค่อนข้างตรงไปตรงมามากเกินไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงหยิบยกเรื่องราวจากซีรีย์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ขึ้นมาพูดคุยในงานสัมมนาวิชา “เกิน” หัวข้อ “คุยเพลินๆ กับ วัยรุ่น วุ่นจังว้า...”
หลายฉากที่นำเสนอผ่านตัวละครเอกอย่าง “ไผ่” รับบทโดย “ต่อ” ธนภพ ลีรัตนขจร เป็นฉากแรกๆที่พูดถึงเรื่องบุหรี่ และผู้เขียนบทพยายามเสนอพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นผ่านตัวละครในหลายๆฉากด้วยกัน
ซึ่ง เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในทีมเขียนบท ไผ่ และ วิน เล่าว่า สิ่งที่ผู้สร้างพยายามสื่อสารไปยังคนดู เพื่อที่จะบอกว่า เป็นภาพจริงๆ ของวัยรุ่นที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งในละครเราอาจจะยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่วัยรุ่นมีโอกาสจะทำ เราแค่ต้องการจะบอกผู้ใหญ่ว่า ให้คิดและคอยสังเกตเวลาที่ลูกเราออกไปข้างนอก เขาออกไปทำอะไร เคยคุยกับเขาไหม แล้วถ้าเด็กบอกว่า ไปสูบบุหรี่มา เราจะคุยกับเด็กอย่างไร จะสื่อสารอย่างไร หรือไม่พูดกัน แล้วเด็กก็เตลิดไปทำกันเอง
“ผมว่า วัยรุ่นตอนนี้มีความมั่นใจสูง เขามีความอยากที่จะทำ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันดี ผู้ใหญ่ชอบกดหัวเด็ก ชี้นิ้วสั่งว่าต้องทำตาม ยิ่งกดหัว เด็กยิ่งดื้อ ทุกวันนี้ต้องบอกด้วยเหตุและผล แล้วให้โอกาสเขาเลือก เราแค่ชี้ว่า บวก ลบ ตรงกลาง แล้วให้เขาเลือกเอง” เกรียงไกร กล่าว
ขณะที่ “ต่อ” ผู้ซึ่งรับบทเป็น“ไผ่” ในซีรีย์ดัง แสดงความเป็นห่วงการชมละครซีรีส์เรื่องนี้ของวัยรุ่นที่ขาดการชี้แนะหรือขาดวิจารณญาณในการรับชม รวมทั้งไม่อยากให้วัยรุ่นเข้าใจไขว้เขว เข้าใจว่า ต้องเอาตัวละครเป็นแบบอย่างเป็นไอดอล ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ แต่อยากให้ดูแล้วคิดว่า ทำไม่ดีแล้วผลได้อะไร
"อยากให้วัยรุ่น และคนที่รับชมนำเรื่องราวทั้งหมดมาเป็นสิ่งที่เตือนการกระทำของตนเองไม่ให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นในเรื่อง เพราะชีวิตจริงอาจจะไม่โชคดีเหมือนในละครก็เป็นได้"
สำหรับคำถามของผู้หญิงที่ชอบถามว่า ผู้หญิงผู้ชายต่างกันอย่างไร เขา เห็นว่า ความจริงแล้วไม่ต่างกัน "ถามว่าผู้ชายสูบบุหรี่ได้ แล้วผู้หญิงสูบได้หรือไม่ ก็ตอบว่า ได้ ไม่ผิด แต่ผู้หญิงเป็นเพศที่บอบบาง เปรียบเหมือนผ้าขาว อย่ามาแปดเปื้อนไปด้วยนิโคติน และ ทาร์ ที่อยู่ในบุหรี่ มันทำให้ดูไม่ดี"
ส่วนวัยรุ่นที่อยากคิดลองนั้น “ต่อ” แนะนำว่า ขอให้คิดเยอะๆ ลองคิดถึงคนที่เรารัก คิดถึงสุขภาพของเราเองเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ หรืออ่านข้างซองบุหรี่ก็ได้ เพราะในนั้นบอกถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย
"ความรักกับบุหรี่เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะหากเรารักตนเอง รักคนรอบข้าง เราก็คงไม่คิดจะทำร้ายทั้งตนเอง และคนรอบข้างเป็นแน่"
ขณะที่ “น้องเก้า” สุภัสสรา ธนชาต รับบทเป็นสไปรท์ มองว่า ตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนเป็นตัวอย่างและให้แง่คิดมากมาย ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อวัยรุ่นเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองอีกด้วย
"ละครซีรีส์เรื่องนี้เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความคิดการกระทำต่าง ๆ ของวัยรุ่นให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่อาจจะยังไม่เข้าใจได้ทราบถึงสิ่งที่วัยรุ่นยุคนี้เป็น และหันมาให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานในทางที่ถูกมากขึ้น"
อย่างปัญหาการสูบบุหรี่ เธอเห็นว่า แม้เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างรู้ถึงพิษภัยเป็นอย่างดี แต่เวลาที่หยิบขึ้นมาสูบก็อยากให้นึกถึงคนรอบข้างบ้าง นึกถึงสุขภาพร่างกายของตนเองบ้าง
นอกจากฉากที่นำเสนอพฤติกรรมวัยรุ่นเกี่ยวกับบุหรี่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงานสัมมนาแล้ว ยังมีอีกหลายฉากที่ถูกกล่าวถึงว่า มีความไม่เหมาะสม เนื้อหารุนแรงเกินไป จนมีการตั้งคำถามว่าแท้ที่จริงแล้ว "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ต้องการสื่ออะไรกันแน่ !!
“เกรียงไกร” ระบุในตอนท้ายว่า "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ต้องการนำเสนอสิ่งที่เป็นจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่ต้องการจะบอกผู้ใหญ่ว่า ทำไมเราถึงไม่เข้าใจเด็ก ชีวิตวัยรุ่นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เวลามีปัญหา ทำไมผู้ปกครองถึงคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง
“เราแค่อยากจะสื่อสารให้เข้าใจว่าต่างฝ่ายต่างคิดอะไรอยู่”
สุดท้าย ธนีดา หาญทวีวัฒา ผู้เขียนบท สไปร์ท และ ขวัญ ตอกย้ำว่า เมื่อเราไม่สามารถไปขีดอนาคตให้ใครได้ แต่เราแค่อยากตีแผ่ความจริงออกมา และไม่ต้องการให้ใครนำตัวละครตัวใดไปเป็นไอดอล
เมื่อบางอย่างจากเรื่องจริงถูกนำมาตีแผ่ผ่านตัวละครที่สะท้อนพฤติกรรมของวัยรุ่น ไม่ใช่แค่ดูเพื่อเพลิดเพลิน หรือตามกระแสเท่านั้น แต่วันนี้เราต้องดูเพื่อย้อนดูตัวเอง แล้วถามตัวเองว่า ...ละครสะท้อนอะไร แล้วเราได้อะไรจากละคร