“ชาวนามหาเศรษฐี”: ไอเดียสร้าง “ลูกชาวนามืออาชีพ”
“เพื่อน ร่วมชั้นเดียวกันเล่าว่า พ่อทำนามาตั้งแต่ผมเกิด จนตอนนี้พ่อก็ยังเป็นแค่ชาวนาจนๆเหมือนเดิม ถึงผมจะชอบไปนากับพ่อ แต่เพื่อนๆที่โรงเรียนชอบว่า ชาวนาน่ะ ยังไงก็จนไปทั้งชีวิต..”
--------------------------------
ข้างต้น คือหนึ่งบทสนทนาเพียงบางส่วน จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คการ์ตูนชาวนามืออาชีพ ที่ตัวละครได้สะท้อนถึงปัญหาหัวอกพ่อลูกชาวนาไทย ที่แม้ลูกชายจะเติบโตอย่างมีความสุขในท้องนา แต่สังคมกับคิดตรงข้าม
...เป็นชาวนา เป็นเกษตรกรแล้ว “เหนื่อย จน ไม่เท่ห์” ทำอย่างไรจะให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ เห็นว่า ชีวิต “ชาวนามหาเศรษฐี ทำได้จริงอย่างไร?”
ประเด็นการต่อสู้กันในทางความคิดนี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. ร่วมหาทางออกของปัญหาลูกชาวนา ลูกเกษตรกรละทิ้งไร่สวน เพราะมีค่านิยมที่ทำนา ไม่ได้นา ไว้บนเวที “โครงการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ชาวนามืออาชีพ” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้
อีกทั้งล่าสุด ยังมีข้อมูลชี้ชัดว่า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยพุ่งสูงขึ้นเป็น 55 ปี และจะสูงถึง 65 ปี หากปัญหาไม่ได้แก้ไขใน 10 ปีนี้ ขอให้นึกภาพ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
ยิ่งเมื่อมาดูข้อมูล ณ ปัจุจบัน ดร.อมรวิชช์ ชี้ว่า สถิติเยาวชนไทยเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 30 % ขณะเด็กส่วนใหญ่ 70% ทะยอยหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ป.6 ต้องเข้าสู่ระบบแรงงานแบบไม่ตั้งตัว ทำให้ไม่มีทักษะเพียงพอในการประกอบอาชีพ สร้างปัญหาการว่างงาน
ฉะนั้น เทรนด์การศึกษาไทยยุคใหม่ต้องเน้นเรื่อง "การมีงานทำ"
“ประเด็นสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้จากการถ่ายทอดเป็นการลงมือทำ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ขยายผลหลักสูตรทั้งในและนอกระบบ เพื่อส่งเสริมการเรียนทักษะอาชีพ และอาศัยความร่วมมือจากสื่อเพื่อต่อสู้กับกระบวนการความคิด"
ขณะที่รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ชาวนามืออาชีพ มองเห็นถึงความเสี่ยงของชาวนาไทย คือ การเผชิญกับความไม่รู้ และขาดทักษะการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการออกแบบหลักสูตรโรงเรียนลูกชาวนาเพื่อสร้างชาวนามืออาชีพ ประกอบด้วย ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และความรู้ในการดำเนินชีวิต เมื่อวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างชาวนาไทย ที่มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1. การแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น 2. การขาดทักษะและความรู้ ทั้งความรู้เท่าทันกลไกตลาด การลดต้นทุนการผลิตและการจัดการ จึงตกเป็นเหยื่อธุรกิจการผลิต การขายปุ๋ยและสารเคมี และ 3. ขาดวิถีชีวิตที่พอเพียงทั้งการส่งลูกเข้าเรียนในเมืองทำให้หมดตัวกับการศึกษา เป็นหนี้เงินกู้จากกับดักเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่
นอกจากนี้ รศ.จุฑาทิตย์ ยังเห็นว่า ชาวนาไทยยังถูกกระหน่ำจากปัจจัยภายนอก ทั้งการถูกนายทุนผูกขาดกดราคาตลาดทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย นโยบายรัฐที่แก้ปัญหาปลายเหตุโดยไม่แก้ที่ต้นเหตุ คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวนาไทยรุ่นใหม่
ด.ญ.อมรลักษณ์ คงขิม อายุ 14 ปี จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 2 หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมโรงเรียนลูกชาวนา จ.อยุธยา บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้จากโรงเรียนลูกชาวนาคือการเป็นเกษตรกรที่ดี เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากฮอร์โมนไข่ที่ทำจากไข่ นม น้ำตาล ฉีดรอบนาข้าวแทนยาฆ่าแมลง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและดีต่อสุขภาพทั้งพ่อแม่และผู้บริโภค
"การที่ได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนที่เป็นลูกชาวนาด้วยกันทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกชาวนา เพราะถ้าไม่มีชาวนาแล้วคนไทยก็ไม่มีข้าวกิน และในอนาคตก็อยากเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่มีการวางแผนการผลิต การแปรรูป และต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งสหกรณ์เพื่อมีอำนาจต่อรองจากทุนภายนอก"