สธ.ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ยกเลิกใช้สาร "เมททิลโบรไมด์" รมควันข้าว
วันที่ 18 กรกฎาคม นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการการะทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายแพทย์นิพนธ์ โพธิพัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจเยี่ยมบริษัทข้าวตราฉัตร ในเครือของบริษัทซี.พี ที่อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามด้านคุณภาพความปลอดภัยในการผลิตข้าวสารบรรจุเสร็จตามเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวสาร วัตถุดิบ จากบริษัทข้าวตราฉัตร ทั้งก่อนผลิต ระหว่างการผลิต และภายหลังบรรจุเสร็จแล้ว จำนวน 7 ตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์มาตรฐานความปลอดภัย ได้แก่ ยาฆ่าแมลง เศษแมลง ความชื้น เชื้อรา สารฟอสฟิน และเมทิลโบรไมด์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จะทราบผลภายใน1 สัปดาห์
นายแพทย์ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวสารให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานจีเอ็มพี ทั้งหมดภายใน 6 เดือนนี้ เพื่อให้เป็นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่342 พ.ศ. 2555 ว่า ด้วย เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูป ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย กำหนดให้สถานผลิตข้าวสารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ได้บริโภคข้าวอย่างมั่นใจ โดยได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดประชุมชี้แจงแนวทางและการอนุญาตข้าวบรรจุถุงแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 นี้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ภายใน 2 ปีนี้ จะยกเลิกการใช้สารเมททิล โบรไมด์ ( Methyl Bromide) รมควันข้าวเนื่องจากเป็นสารทำลายบรรยากาศ ไม่ได้ห้ามใช้เพราะความเป็นพิษ สารชนิดนี้มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว โดยจะให้ใช้สารฟอสฟิน (Phosphine) มาใช้รมควันแทน ซึ่งต้องใช้เวลาอบนานกว่า โดยกระทรวงสาธารณสุขจะปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่าตกค้างของสารรมควันในข้าวสารบรรจุถุงฉบับใหม่ อ้างอิงตามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (Codex) จากเดิมกำหนดค่าเมทิล โบรไมด์ ตกค้างในธัญพืชไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารฟอสฟีน ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัม /กิโลกรัม ตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ ( Codex) จะแก้ไขให้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งได้ผ่านมติที่ประชุมของคณะกรรมการอาหารแล้ว
โดยกำหนดให้ฟอสฟิน(ไฮโดรเจน ฟอสไฟต์ )มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร เมทิล โบรไมด์ กำหนดให้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม ของสารต่อ 1 กิโลกรัมของอาหาร (หรือ สารโบรไมด์ อิออนไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ) และฟลูออไรด์ กำหนดให้ 0.1 มิลลิกรัมของสารต่อ 1กิโลกรัมของอาหาร เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช โดยเร่งลงนาม ออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จที่จำหน่ายในท้องตลาดให้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันในเรื่องของคุณภาพความปลอดภัยของข้าวสาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ ไม่มีความชื้น ที่ทำให้เกิดเเชื้อราอัลฟ่าท็อกซิน ทำให้เป็นมะเร็ง ซึ่งผลการตรวจคุณภาพข้าวสารที่ผ่านมา มีค่าเป็นศูนย์เกือบทั้งหมด หรือหากพบ ก็พบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด