เสียงจากชายแดนสะเดา หลังถูกเหมาเป็นพื้นที่ความไม่สงบ
"คุณเคยเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไหนมีเซเว่นฯ (หมายถึงร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น) ถึง 11 แห่ง มีแม็คโดนัลด์ มีโรงแรมห้องพักเป็นร้อยแห่ง ดิสโก้ขนาดใหญ่ 6 แห่ง สถานบันเทิงขนาดเล็กและใหญ่อีกเป็นร้อยแห่ง มีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมมูลค่าเป็นพันล้านบาทบ้าง หากมาเจอเรื่องอย่างนี้ เศรษฐกิจในพื้นที่ก็พังกันพอดี"
เป็นเสียงจาก จรัส หมัดเสียะ กำนัน ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ที่กล่าวอย่างมีอารมณ์เกี่ยวกับข่าวถ้อยแถลงของทางการมาเลเซียที่สืบเนื่องจากความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อริเริ่มการยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเดือนรอมฎอน ซึ่งข่าวดีๆ ที่ว่านี้กลับทำให้ชาวสะเดาหงุดหงิด เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่หยุดยิง ลดการปิดล้อมตรวจค้น กลับมีชื่อ อ.สะเดา เข้าไปพ่วงอยู่ด้วย
กลายเป็นว่าพื้นที่ อ.สะเดา ซึ่งปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 ตำบล คือ ต.สะเดา ต.ปริก ต.พังลา ต.สำนักแต้ว ต.ทุ่งหมอ ต.ท่าโพธิ์ ต.ปาดังเบซาร์ ต.สำนักขาม และ ต.เขามีเกียรติ มีด่านศุลกากรบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียขนาดใหญ่ถึง 2 ด่าน คือ ด่านสะเดา หรือ ด่านไทยจังโหลน ที่บ้านด่านนอก ต.สำนักขาม และ ด่านปาดังเบซาร์ ต.ปาดังเบซาร์ มีมูลค่าสินค้าที่ส่งออกและนำเข้ารวมกว่า 5 แสนล้าน และไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเลยแม้แต่ครั้งเดียว กลับถูกเหมารวมเป็นพื้นที่ "ไฟใต้" ที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีมหาดไทยอ้างว่าส่งหนังสือทักท้วงไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือไม่ เพราะไม่มีใครเห็นหนังสือ แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังบอกไม่รู้เรื่อง
"มันเหมือนเป็นการโยนขี้ใส่คนสะเดา ชาวบ้านที่นี่อยู่กันมาดีๆ ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่กลับนำเข้าไปเหมารวมเป็นพื้นที่อันตรายแบบนี้ มันกระทบต่อความรู้สึกมาก" กำนันจรัส กล่าวต่อด้วยอารมณ์ที่ยังไม่คลายความขุ่นมัว
"อย่าลืมว่า อ.สะเดา โดยเฉพาะที่บ้านด่านนอก ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ชายแดน แต่เป็นพื้นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ปีๆ หนึ่ง 4-5 แสนล้านบาท เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ คุณเคยเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไหนมีเซเว่นฯถึง 11 แห่ง มีแม็คโดนัลด์ มีโรงแรมห้องพักเป็นร้อยแห่ง ดิสโก้ขนาดใหญ่ 6 แห่ง สถานบันเทิงขนาดเล็กและใหญ่อีกเป็นร้อยแห่ง มีการลุงทุนก่อสร้างโรงแรมมูลค่าเป็นพันล้านบาท หากมาเจอเรื่องอย่างนี้ เศรษฐกิจในพื้นที่ก็พังกันพอดี"
"คิดง่ายๆ ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ต้องเอาเงินมาใช้จ่ายอย่างต่ำหัวละ 3,000 บาทต่อวัน แล้ววันๆ หนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6,000-8,000 คนในช่วงปกติ ถ้าเป็นช่วงเทศกาลสูงถึง 15,000 คนต่อวัน มันสร้างรายได้ให้กับพื้นที่มากขนาดไหน อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าที่นี่เป็นแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลแค่ไหน คือราคาที่ดินในย่านท่องเที่ยว แค่ที่ดินเปล่า 1 ห้อง มาขอซื้อ 15 ล้าน เจ้าของที่ดินยังไม่ยอมขายเลย"
กำนันจรัส ตั้งคำถามด้วยว่า นำ อ.สะเดา ไปเหมารวมทำไม เขาเป็นกำนันมา 30 กว่าปีไม่เคยมีเหตุการณ์ความไม่สงบเหมือนพื้นที่อื่นๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ระเบิดก็ไม่เคยมี หากประกาศว่าสะเดาเป็นพื้นที่ความไม่สงบด้วย ต้องมีทหารตั้งด่านตรวจ ถือปืน มีรถฮัมวี่เหมือนในสามจังหวัด แล้วนักท่องเที่ยวที่ไหนจะมาเที่ยว เศรษฐกิจการท่องเที่ยวพังแน่นอน
ความเห็นของผู้นำท้องถิ่นอย่างกำนันจรัส ไม่แตกต่างจาก คุณลุงวัยล่วงเลย 60 ปีรายหนึ่งซึ่งประกอบอาชีพค้าขายในพื้นที่บ้านด่านนอก คุณลุงเล่าว่าเป็นคนดั้งเดิมที่นี่ อยู่มาตั้งแต่สมัยยังไม่มีความเจริญ ในอดีตพื้นที่ฝั่งบ้านสำนักขามจะเป็นด่านขนส่งและการค้า สถานบันเทิงต่างๆ ยังมีไม่มาก ส่วนฝั่งปาดังเบซาร์จะเป็นด่านที่มีสถานบันเทิงมาก ต่อมาภายหลังเริ่มมีการลงทุนสร้างที่พักและสถานบันเทิงต่างๆ ย่านด่านนอกมากขึ้นจนกลายเป็นเมืองเจริญ มีสถานบันเทิง โรงแรมที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเหมือน อ.หาดใหญ่ เลยทีเดียว
"การที่มาเลเซียอ้างรวม อ.สะเดา เป็นพื้นที่ความไม่สงบด้วยนั้น ผมมองว่าเป็นความพยายามทำลายเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเมืองชายแดนของสะเดา เพราะสถานบันเทิงบางประเภทในมาเลเซียเขาไม่มี คนของเขาก็มาเที่ยวบ้านเรา เราก็ได้เงินจากคนของเขา แต่เขาไม่เคยได้เงินจากคนของเรา จึงอยากให้รัฐบาลไทยไปพูดคุยทำความเข้าใจกับมาเลเซียและบีอาร์เอ็นให้ชัดเจน"
ขณะที่ พ.ต.ต.ชุมพล บัวชุม สารวัตรตรวจคนเข้าเมือง (สว.ตม.) สะเดา กล่าวว่า ด่านไทยจังโหลน (ด่านสะเดา) เป็นด่านที่มีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 6,000-8,000 คน แต่ในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ จะมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกอยู่ที่ 15,000 คนต่อวัน โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมากสุดถึง 70% รองลงมาก็จะเป็นนักท่องเที่ยวอินโดนิเซียและสิงคโปร์
"พื้นที่ชายแดนตรงนี้ไม่เคยเกิดปัญหาความไม่สงบ ส่วนความเป็นไปได้ที่ด่านสะเดาจะเป็นช่องทางเข้าออกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ทางตรวจคนเข้าเมืองก็ได้ดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเคร่งครัด เข้มงวด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่อาจมีผู้ก่อเหตุรุนแรงลักลอบปะปนเข้ามา เราก็มีการตรวจเอกสารอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองด้านนี้ เพราะเจ้าหน้าที่เข้มงวดมาก" พ.ต.ต.ชุมพล กล่าว
นี่คือเสียงจากอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่ชายแดนสะเดา...หลังถูกเหมาเป็นพื้นที่ความไม่สงบ!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ด่านสะเดา ชายแดนไทยกับรัฐเคดาห์
3 ร้านรวงหนาแน่นสะท้อนความเจริญทางวัตถุที่เฟื่องถึงขีดสุด
4 โรงแรมใหม่ขนาดหลายร้อยห้องที่กำลังก่อสร้าง