‘เปลี่ยนนักล่า เป็นนักสร้าง’ โมเดลชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา สู่ก้าวย่างที่ยั่งยืน
หมายเหตุ : เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเอสซีจี พาสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม "ก้าวย่างที่ยั่งยืนของชุมชนชาวเลรอบทะเลสาบสงขลา" ลงพื้นที่ ณ ชุมชนบ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และชุมชนบ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่เคยประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ โดยมูลนิธิเอสซีจีเข้าไปมีส่วนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนงบประมาณ และจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมง เพื่อให้ชุมชนตั้งต้นและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน...
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2553 เวลาราว 3 ทุ่ม ลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืน ที่กระแสลมพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 2 พ.ย. 2553 ได้เกิดพายุดีเปรสชั่นครั้งใหญ่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งและพัดถล่มชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา กินบริเวณเมืองหาดใหญ่ อ.จะนะ อ.สะเดา อ.นาหม่อม อ.สทิงพระ อ.สิง-หนคร อ.ระโนด และจ.พัทลุง อ.ปากพะยูน อ.เขาชัยสน อ.ควนขนุน และอ.เมืองพัทลุง
ช่วงเวลานั้น...ชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาได้รับความเสียหายอย่างหนัก เกิดน้ำท่วมพัดพาบ้านเรือน เรือประมง และเครื่องมือประมงจมน้ำสูญหาย
นับเป็นช่วงที่ 'วิกฤตที่สุด' ของ 'กลุ่มประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก' ชุมชนบ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และชุมชนบ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และความช่วยเหลือจากภาครัฐยังยื่นมือมาไม่ถึง
'บ้านช่องฟืน' มีสภาพเป็นที่ราบลาดต่ำ อยู่ในพื้นที่ทะเลสาบตอนกลาง มีจำนวนประชากร 1,070 คน รวม 221 ครัวเรือน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบ 124 ครัวเรือน รวม 434 คน
"สิ่งที่พวกเราชาวชุมชนบ้านช่องฟืนต้องการกลับคืนมามากที่สุด ไม่ใช่ ถุงยังชีพ เสื้อผ้า หรืออาหารสำเร็จรูปที่ได้มาแล้วหมดไป แต่เราต้องการฟื้นคืน 'อาชีพ' ต้องการเรือ และเครื่องมือประมงที่สูญหายไปกับพายุครั้งใหญ่กลับคืนมาทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ตามเดิมเพราะนั่นหมายถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านได้กลับคืนมาด้วย" สุภาภรณ์ พรรณราย ผู้นำชุมชนบ้านช่องฟืน เล่าย้อนความรู้สึกเมื่อครั้งที่ประสบวิกฤตครั้งใหญ่
"ชุมชนเราโชคดีที่มีการประชุม หารือกันบ่อย กระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางออกในชุมชนค่อนข้างเข้มแข็งและมีความคิดไปในทางเดียวกัน การกู้วิกฤตครั้งนี้และการพัฒนาชุมชนจึงประสบความสำเร็จ"
เมื่อทิศทางของชุมชนชัดเจนว่าต้องการฟื้นคืนวิถีชีวิต อาชีพและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืน กระบวนการชุมชนจึงเริ่มต้นขึ้น...
ผู้นำชุมชนให้ชาวบ้านเขียนรายละเอียดความเสียหาย และแสดงความจำนงขอความช่วยเหลือ เพื่อนำไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือจากผู้ที่เสียหาย หรือมีความจำเป็นมากที่สุดก่อน และลงสำรวจเครื่องมือประมงที่เสียหาย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจีมาใช้ในการซ่อมแซมเรือ และเครื่องมือประมง รวมถึงสร้างอู่ซ่อมเรือประมงถาวร
ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนากลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิม ตั้งขึ้นเป็น 'กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงยั่งยืน' เพื่อให้ชาวประมงกลับมาประกอบอาชีพ และมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยชาวบ้านมีพันธะสัญญาว่า จะต้องนำเงินมาคืนกองทุนเดือนละ 500 บาท ไปจนครบจำนวนเงินที่กู้ยืมตามสัญญาที่ทำไว้
'บังอูสัน แหละหีม' แกนนำประมงพื้นบ้าน สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง บอกเล่าถึงหลักการของกองทุนหมุนเวียนฯ ว่า เป็นอุบายในการใช้ 'เงิน' เป็น 'ตัวเชื่อม' ให้เกิดการพูดคุย สร้างความเข้มแข็ง และวางมาตรการชุมชนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอนุรักษ์และขยายพันธุ์กุ้ง กลุ่มออมน้ำยาง และกลุ่มทำงานอาสาเตือนภัยธรรมชาติ และด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น
'บังอูสัน' เล่าด้วยรอยยิ้มว่า ขณะนี้กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงยั่งยืน ชุมชนบ้านช่องฟืน มีเงินหมุนเวียนในกองทุน 14 ล้านบาท คุ้มครองตั้งแต่เกิด ป่วย ตาย สามารถบริหารจัดการปันผลกำไรคืนแก่สมาชิกได้ถึง 70% ทั้งนำไปพัฒนากลุ่มแพปลาชุมชน 5% ฟื้นฟูทะเลสาบและสังคม 10% และเป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่รับซื้อและทำบัญชี 15%
"จะยืมไปใช้สุร่ยสุร่ายไม่ได้หรอก มันโกหกกันไม่ได้ คนในหมู่บ้านเรา เรารู้ เราเห็นว่าใครจำเป็นมาก ใครจำเป็นน้อย นี่คือข้อดีของระบบชุมชน ทำให้การจัดสรรทำได้ง่าย ทุกอย่างเป็นมติจากคนทั้งชุมชน"
สำหรับเคล็ดลับที่ทำให้กองทุนหมุนเวียนยังดำเนินการต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง 'บังอูสัน' บอกว่า ต้องสร้างให้เป็นเงื่อนไขสังคม ต้องนึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น แต่ละคนต้องรู้หน้าที่ของตนเอง และการช่วยเหลือในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดความยั่งยืน และเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ที่สำคัญชาวบ้านจะมีส่วนเป็น 'เจ้าของเงิน' การใช้จ่ายจะระมัดระวัง นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมการออมไปในตัว
สอดคล้องกับความเห็นของ 'ศานติ มีจิตเกษม' ชาวบ้านชุมชนบ้านช่องฟืน ที่มองว่า การรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือผู้อื่นตลอดนั้นไม่ยั่งยืน ทั้งในยามเกิดภัยธรรมชาติและยามปกติ ควรต้องมีแผนตั้งรับภัยในอนาคตระดับชุมชน และมีเงินหมุนเวียนที่บริการจัดการกันเอง จะรู้จักคุณค่าของเงินและการเก็บออม เพราะที่ผ่านมางบสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐที่เข้ามาในชุมชน ได้รับแล้วก็หมดไป ไม่มีความยั่งยืน
"การช่วยเหลือในบางรูปแบบ เช่น กองทุนต่างๆ ที่ภาครัฐนำเข้ามาในชุมชน ล้วนเป็นกองทุนที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ผลที่ได้ล้วนก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ซึ่งต่างกับกองทุนหมุนเวียนในชุมชน ที่บริหารจัดการด้วยความสมัครใจ แนวทางมาจากมติชุมชนและเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนทั้งสิ้น เราจึงไม่สามารถตั้งความหวัง หรือรอความช่วยเหลือจากใครได้ แนวคิดของชุมชนบ้านช่องฟืนต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน"
ณ วันนี้ ชุมชนบ้านช่องฟืน จึงสามารถฟื้นคืนอาชีพ เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และมีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำในทะเลลสาบสงขลา ที่ทุกวันนี้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีข้อตกลงชุมชนในการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และตั้ง 'แพปลาชุมชน' เพื่อรับซื้อสัตว์น้ำจากสมาชิกและชาวประมง ในราคาที่ยุติธรรม ลดปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและนายทุน
----------------------------
เช่นเดียวกันที่ 'ชุมชนบ้านคูขุด' อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างหนักจากพายุดีเปรสชั่น
ผนวกกับกระแสน้ำในทะเลสาบที่ไม่ไหลเวียน เริ่มตื้นเขิน ทับถมและสัตว์น้ำเริ่มร่อยหรอ รวมถึงมีการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและคันกั้นคลื่นบริเวณปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาด้านใต้ ทำให้กระแสน้ำเกิดการชะลอตัว น้ำไหลขึ้นลงทางปากทะเลสาบที่เหลือเพียงปากเดียว รวมถึงมีการทำประมงในวิธีที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย ยิ่งทวีคูณปัญหาและกีดขวางการเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อนยิ่งขึ้น
'แพปลาชุมชนบ้านคูขุด' จึงเกิดขึ้น ภายใต้หลักคิด... แพปลาชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน จัดสรรแบ่งปันผล เงินไหลวน คนเบิกบาน เลสาบดั่งขุมทรัพย์ เสริมรายรับ สร้างกิจการ ทรัพยากรจะยืนนาน ร่วมจัดการ งานชุมชน
'นิทัศน์ แก้วศรี' ประธานแพปลาชุมชนบ้านคูขุด และประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านคูขุด เล่าเพิ่มเติมถึงหลักคิดของการบริหารแพปลาชุมชนว่า จากภัยธรรมชาติ และน้ำมือมนุษย์ที่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำ และเกิดความไม่มั่นคงในอาชีพประมง จึงสะท้อนชัดว่า...
จากนี้ชาวประมงจะเป็นแค่ 'นักล่า' ไม่ได้แล้ว แต่ต้องเป็น นักสร้าง นักอนุรักษ์ด้วย โดยแนวคิดนี้ต้องเริ่มแก้ที่ตัวเราเอง รอพึ่งภาครัฐไม่ได้!!
'วิกฤต' ที่เกิดขึ้น จึงเป็น 'โอกาส' ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนบ้านคูขุด
"วิถีชีวิตและการทำประมงของคนที่นี่เปลี่ยนไป ชาวประมงอนุรักษ์กุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชาวคูขุดมากขึ้น โดยหากจับแม่กุ้ง หรือแม่ปูได้จะยอมตัดอวน เพื่อรักษาแม่กุ้ง
ส่วนแม่ปูที่มีไข่ไม่ให้ช้ำจะนำไปปล่อย เพื่อให้แม่กุ้ง แม่ปูได้ไข่และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลสาบอย่างยั่งยืน ซึ่งผมว่านี่เป็นการสร้างสำนึกที่ 'ลึก' มาก"
'นิทัศน์' ยังเล่าถึงการต่อยอดการอนุรักษ์ โดยร่วมกับกรมประมงออกกฎระเบียบให้สมาชิกและคนในชุมชนใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ยาเบื่อ อวนลาก อวนรุน ขนาดตาอวน ตาข่ายดักจับสัตว์น้ำที่มีขนาดห่างของตาข่ายไม่ต่ำกว่า 5 ซม.เพื่อป้องกันการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการจัดทำธนาคารกุ้งไข่และกระชังอนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาให้มีมากขึ้นด้วย
จนปีที่แล้วชาวประมงมีรายได้ตกเดือนละ 20,000-30,000 บาท หรือ 500 บาทต่อวันเลยทีเดียว
ทุกวันนี้ความสำเร็จของแพปลาชุมชนบ้านคูขุด... สามารถแบ่งสันปันส่วนแก่สมาชิกแพปลากว่า 70% อีก 15% ให้แก่ผู้ทำหน้าที่รับซื้อและขายปลา และใช้ 10% ในการฟื้นฟูทะเล ซื้อพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อย ส่วนอีก 5% ใช้พัฒนากลุ่มแพปลาฯ
ที่สำคัญแพปลาแห่งนี้สามารถ 'ตั้งราคา' ได้เอง
- กุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ราคา 480 บาทต่อกิโลกรัม
-ปลาดุกทะเล ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม
- ปลาช่อน ราคา 75 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ปลากระบอก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาหัวโม่ง ปลากดเหลือง และกุ้งกุลาดำ ก็มีตลาดส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย
จากวิกฤตครั้งใหญ่ พลิกเป็นโอกาส สู่ 'ก้าวย่าง' แห่งความสำเร็จของของชุมชนชาวเลรอบทะเลสาบสงขลาอันเป็น 'ก้าวย่างที่ยั่งยืน' ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่ายล้วนผ่านกระบวนการชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง ผ่านการคิด กลั่นกรอง วิเคราะห์ปัญหา และพูดคุยกันภายในชุมชนอย่างใส่ใจ จนได้ฉันทามติในการแก้ปัญหา ดูแลรักษาชุมชนของตนเอง ด้วยตนเอง และแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย...