แนวทางปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนใหม่ เดือนละ 0.50 บาท/กก. เริ่ม 1 ก.ย.
วันที่ 16ก.ค.56 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2556 (ครั้งที่ 145) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า ขอขอบคุณกระทรวงพลังงานซึ่งวันนี้ได้นำเรื่องการแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเข้าหารือที่ประชุม กพช. โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ส่วนการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ นั้น ขอฝาก กพช. และกระทรวงพลังงานพิจารณาดูแลรวมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงถังแก๊ส เพื่อเสริมความปลอดภัยและป้องกันการนำมาจุดฉนวนระเบิดเพื่อก่อเหตุด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม กพช. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยผลการประชุมสรุป ดังนี้
ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาแนวทางการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน โดยเห็นชอบยกเลิกมติ กพช. เดิม(เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556) ที่ให้ปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนให้สะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กก. ภายในปี 2556 และเห็นชอบแนวทางปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนใหม่ โดยให้ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาท/กก. ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ที่ 24.82 บาท/กก.
พร้อมกับเห็นชอบเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือน โดยครัวเรือนรายได้น้อย ได้รับการช่วยเหลือตามการใช้จริงแต่ไม่เกิน 18 กก./3เดือน ส่วนร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ได้รับการช่วยเหลือตามการใช้จริงแต่ไม่เกิน 150 กก./เดือน โดยผู้ได้รับการช่วยเหลือสามารถเลือกใช้ถังขนาดใดก็ได้ แต่ไม่เกินขนาดถัง 15 กก.
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ เห็นชอบการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากแนวท่อสำหรับภาคขนส่ง เพื่อใช้จำหน่ายเฉพาะภายในกลุ่มของผู้ประกอบการขนส่งของตนเองเท่านั้น โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้พิจารณาค่าบริหารจัดการในการขนส่งก๊าซธรรมชาติต่อไป ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางไม่ทันกำหนดเวลาอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการให้บริการของสถานีบริการก๊าซ NGV
รวมทั้งที่ประชุม กพช. เห็นชอบการปรับค่าเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) หรือ AEDP ให้สอดคล้องตามแผนการบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เสริมสร้างการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนในรูปแบบชุมชนพลังงานสีเขียว ตลอดจนสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ
สำหรับการปรับเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า มีการปรับเป้าหมายใหม่ในการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภททั้งพลังงานลม เดิม 1,200 เมกะวัตต์ เป็น 1,800 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ เดิม2,000 เมกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกะวัตต์ พลังงานจากขยะ เดิม 160 เมกะวัตต์ เป็น 400 เมกะวัตต์ ชีวมวล เดิม 3,630 เมกะวัตต์ เป็น 4,800 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ เดิม 600 เมกะวัตต์ เป็น 3,600 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะจากหญ้าเนเปียร์ โดยแผนใหม่มีเป้าหมายรวมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า 13,927 เมกะวัตต์ คิดเป็นเป้าหมายรวมที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 4,726 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ พลังงานจากก๊าซชีวภาพมีการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุด 3,000 เมกะวัตต์ เป็นการปรับเพิ่มจากพืชพลังงานโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะจัดตั้งต้นแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 12 โรง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่เป้าหมาย
ส่วนพลังงานลมที่ปรับเป้าหมายรับซื้อเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเพราะผลการศึกษาระบุว่ามีพื้นที่ในหลายจังหวัดที่มีศักยภาพ อาทิ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี
สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีแผนจะส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร โดยมีเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน เป้าหมาย 800 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1. กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 10–250 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.55 บาท/หน่วย และ 3. กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง –ใ หญ่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง >250-1,000 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.16 บาท/หน่วย
ทั้งนี้จัดให้มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในปี 2556 รวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่อีก 100 เมกะวัตต์ โดยให้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2556 และมอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับไปออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงหลักเกณฑ์และการออกประกาศเชิญชวน พร้อมกำหนดอัตราการลดหย่อนค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเพื่อเป็นเกณฑ์ให้การไฟฟ้าลดหย่อนให้กลุ่มบ้านอยู่อาศัย
อีกทั้งที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษสำหรับโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสามารถดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน โดยเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนมีเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ และมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษ ดังนี้ ปีที่ 1-3 ระบบ FIT อัตรา 9.75 บาท/หน่วย ปีที่ 4-10 ระบบ FIT อัตรา 6.50 บาท/หน่วย ปีที่ 11-25 ระบบ FIT อัตรา 4.50 บาท/หน่วย ทั้งนี้ จะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2557
รวมทั้งที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อย่างเพียงพอ และมีความมั่นคงด้วยตนเองในภาวะปกติ โดยเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิต และให้พิจารณาใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อลดปัญหาด้านการขนส่งน้ำมันเตา โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและเพียงพอของระบบไฟฟ้าเป็นสำคัญ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และมอบหมายให้ กกพ.กำกับดูแลการดำเนินการ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้รายงานปัญหา อุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาปริมาณคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าที่มีมากกว่าเป้าหมายตามแผน AEDP ปัญหาการกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในแต่ละปีไม่สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตต่างๆ
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุม กพช.จึงเห็นชอบให้กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแต่ละปีให้ชัดเจนเพิ่มเติมจากปริมาณเสนอขายไฟฟ้าที่คาดว่าจะจ่ายเข้าระบบ และกำหนดวันเริ่มซื้อขายไฟให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภทเชื้อเพลิง โดยให้สอดคล้องกับแผน PDP ทั้งนี้ให้มีการเปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้ารายใหม่โดยรับการส่งเสริมในรูปแบบ Feed-in Tariff ตามปริมาณรับซื้อที่จะมีการประกาศเป็นรายเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป
พร้อมกับเห็นชอบให้ กกพ. ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หลักเกณฑ์และการออกประกาศเชิญชวน กำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือก รวมถึงการเร่งรัดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามเป้าหมาย AEDP และรายงานผลให้กระทรวงพลังงานทราบเป็นรายไตรมาส
รวมทั้งให้ กฟผ.ร่วมกับ กกพ. จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาซื้อขายแล้วอย่างเร่งด่วนและรายงานผลให้ กพช. ทราบ และให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ กฟผ. กฟน.(การไฟฟ้านครหลวง) และกฟภ.(การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จัดทำแผนการลงทุนระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid มาประกอบการจัดทำ ขณะเดียวกันให้ กกพ. เร่งรัดออกใบอนุญาตสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ One Stop Service และรายงานผลดำเนินงานให้ กพช. ทราบ