เปิดตัวเลขการค้า 2 ด่านสะเดาปีละ 5 แสนล้าน ปัจจัย BRN พ่วงพื้นที่หยุดยิง?
คำแถลงความตกลงยุติเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน 40 วันที่ชายแดนใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงการระบุขอบเขตพื้นที่ของความตกลงว่าครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ทั้งๆ ที่ อ.สะเดา ไม่ได้เป็นพื้นที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และรัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษไม่ว่าฉบับใด
ความเข้าใจของฝ่ายรัฐบาลและความมั่นคงไทยชัดเจนมาตลอดว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาความมั่นคงและมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีอาณาเขตติดต่อกันเท่านั้น โดยไม่รวมถึง อ.สะเดา
แต่บีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ กลับส่งสัญญาณเรื่อง "อำเภอที่ 5" มาตั้งแต่การแถลงผ่านคลิปวีดีโอ (รอบ 4) ในเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อ 24 มิ.ย.2556 แล้วว่า ดินแดนที่พวกเขาเรียกขานว่า "ปาตานี" และเรียกร้องให้ถอนกำลังทหาร-ตำรวจออกจากพื้นที่นั้น อยู่ในเขต จ.สงขลา 5 อำเภอ แต่ขณะนั้นยังไม่ได้เปิดเผยชื่อ "อำเภอที่ 5" ว่าคืออำเภออะไร
กระทั่งในถ้อยแถลงยุติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนที่แถลงฝ่ายเดียวโดย ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 12 ก.ค.2556 จึงมีการระบุชื่อ "อำเภอที่ 5" ชัดเจนว่าคือ อ.สะเดา
มูลค่าขนส่งสินค้าด่านสะเดาปีละ 3 แสนล้าน
ยังไม่มีเหตุผลหรือคำชี้แจงใดๆ จากทางฝั่งบีอาร์เอ็นในเรื่องนี้ ขณะที่ทางการไทยโดยฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมประสานรัฐบาลให้แสดงท่าทีทักท้วงกลับไป ส่วนในแง่ของสาเหตุได้มีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา
อย่างไรก็ดี จากการรวบรวมข้อมูลการขนส่งสินค้าผ่านด่านศุลกากรสะเดา พบประเด็นน่าสนใจ เนื่องจากเป็นด่านชายแดนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล สูงที่สุดของด่านชายแดนทุกด่าน ยกเว้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น
ชนิดสินค้าที่นำเข้าจำนวนมากจากมาเลเซียผ่านด่านแห่งนี้ ก็เช่น ฮาร์ดิสก์ เมมโมรีการ์ด ซีพียู ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ วงจรอิเลคทรอนิกส์ ยางสังเคราะห์ เครื่องสูบลม เป็นต้น
ส่วนชนิดสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางผสม ไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง แผ่นไม้อัด และซีพียู
มูลค่าสินค้าทั้งส่งออกและนำเข้ารายปี มีตัวเลขดังนี้
ปี 2553 นำเข้า 134,573.96 ล้านบาท ส่งออก 139,149.31 ล้านบาท รวม 273,723.27 ล้านบาท
ปี 2554 นำเข้า 144,579.16 ล้านบาท ส่งออก 162,273.71 ล้านบาท รวม 306,852.87 ล้านบาท
ปี 2555 นำเข้า 145,941.17 ล้านบาท ส่งออก 145,782.22 ล้านบาท รวม 291,723.39 ล้านบาท
ปี 2556 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 - 30 มิ.ย.2556) นำเข้า 129,055.19 ส่งออก 99,769.57 รวม 228,824.76
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ไทยจะได้ดุลการค้า คือมูลค่าการส่งออกมากกว่านำเข้า
เดินทางเข้า-ออกปีละ 4 ล้านคน
สำหรับสถิติคนเดินทางเข้า-ออก แยกเป็นรายปีได้ดังนี้
ปี 2553 ขาเข้า 2,034,772 คน ขาออก 2,077,893 คน รวม 4,112,665 คน
ปี 2554 ขาเข้า 2,223,323 คน ขาออก 2,259,339 คน รวม 4,482,662 คน
ปี 2555 ขาเข้า 2,099,402 คน ขาออก 2,123,717 คน รวม 4,223,119 คน
ปี 2556 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 - 30 มิ.ย.2556 ) ขาเข้า 1,775,067 คน ขาออก 1,780,679 คน รวม 3,555,746 คน
นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกปีละกว่า 3 แสนเที่ยว รถส่วนบุคคลและรถโดยสาร (ทัวร์ท่องเที่ยว) ราว 3-4 แสนเที่ยว
รวมด่านปาดังฯ 5 แสนล้าน-ชาวบ้านแหลงใต้
จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าด่านศุลกากรสะเดามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่พื้นที่ อ.สะเดา ไม่ได้มีด่านศุลกากรแค่แห่งเดียว ทว่ายังมีด่านปาดังเบซาร์อีกแห่งหนึ่งด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดสงขลา ระบุว่า ด่านปาดังเบซาร์มีมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าราว 2 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับด่านสะเดา หรือที่เรียกว่า "ด่านนอก" จะมีมูลค่ารวมปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯเลยทีเดียว โดยมูลค่าการค้าสูงกว่าด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และด่านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกด่าน
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ด่าน คือ ด่านศุลกากรสตูล ด่านศุลกากรวังประจัน จ.สตูล ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา ด่านศุลกากรบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ด่านศุลกากรเบตง จ.ยะลา ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และด่านศุลกากรตากใบ จ.นราธิวาส
ข้อมูลประชากรของ อ.สะเดา มีประมาณ 120,000 คน นับถือศาสนาพุทธประมาณ 70,000 คน นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 35,000 คน ที่เหลือเป็นศาสนาอื่นๆ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาใต้กับภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร แต่ก็มีหมู่บ้านที่ประชาชนอพยพมาจาก จ.ปัตตานี ประมาณ 1,000 คนที่ใช้ภาษายาวีเป็นหลักในการสื่อสาร คือ หมู่บ้านควนตานี ต.สำนักแต้ว
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่เกี่ยวกับ อ.สะเดา พื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ซึ่งทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าอาจกลายเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้อำเภอนี้ถูกผนวกรวมไปเป็น "พื้นที่หยุดยิง" ของบีอาร์เอ็น ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ปลอดเสียงปืน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟแท่งแสดงมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ด่านสะเดา
2 ด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซียทั้ง 9 ด่าน