เบื้องลึกแถลงหยุดยิงบีอาร์เอ็น กับ 4 ประเด็นกังขา – "สะเดา"มาจากไหน
แม้ถ้อยแถลง "ความเข้าใจร่วมกัน" ระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นว่าด้วยการหยุดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนและเดือนเซาวัล (เดือนต่อจากเดือนรอมฎอน) รวม 40 วัน จะเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการพูดคุยสันติภาพและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าตื่นเต้นยินดีที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษก็ตาม
ทว่าก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นคำถาม และบางประเด็นอาจส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ถกลับก่อนรุก
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจก่อนว่า การแถลงของทางการมาเลเซียเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการแถลงฝ่ายเดียวโดย ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ โดยไม่ได้มีตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วย
แหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ยอมรับว่า การแถลงดังกล่าวอยู่นอกแผนการพูดคุยเดิม แต่เพิ่งมีขึ้นหลังการหารือลับเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นการหารือก่อนการเปิดแถลงของ ดาโต๊ะซัมซามิน เพียงไม่กี่วัน
"ต้องยอมรับว่าเราคุยกันอย่างเป็นทางการมาแล้ว 3-4 ครั้งแต่ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. (ครั้งที่ 3) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม หนึ่งในคณะพูดคุยได้เสนอเรื่องหยุดยิงช่วงรอมฎอนขึ้นมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ตกผลึกมาจากทุกฝ่ายในเมืองไทยแล้ว เมื่อเสนอเข้าไปในวงพูดคุยก็ปรากฏว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นยอมรับ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจน มีการไปออกคลิปยูทิวบ์และยื่นเงื่อนไขใหม่มาอีก 7-8 ข้อ ทำให้สับสนกันไปหมด"
"ต่อมารัฐมนตรีกลาโหม (ในขณะนั้น) ได้แถลงอย่างเป็นทางการในนามรัฐบาลปฏิเสธเงื่อนไขทั้งหมดของบีอาร์เอ็น ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นเสียหน้า จากนั้นจึงมีการส่งทีมชุดเล็กไปหารือทางลับเพื่อต่อรอง ประกอบกับเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว (6 ก.ค.) ท่านนายกฯ (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ที่ประเทศตุรกีด้วย และทางโอไอซีก็สนับสนุนเรื่องหยุดยิงเดือนรอมฎอนเต็มที่ จึงกลายเป็นแรงกดดันให้กับฝ่ายบีอาร์เอ็นมากขึ้น"
"กระทั่งช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการหารือชุดเล็กกันอีกรอบ โดยมีผู้อำนวยความสะดวกเข้าด้วย ท่าทีของบีอาร์เอ็นก็อ่อนลงเยอะ สุดท้ายจึงตกลงกันให้มีการแถลงโดยผู้อำนวยความสะดวก"
นี่คือที่มาของการแถลงครั้งประวัติศาสตร์!
4 ปมน่ากังวล
อย่างไรก็ตาม หากพลิกดูคำแถลง (ซึ่งแถลงทั้งภาษาอังกฤษและภาษามาเลย์) โดยเฉพาะเอกสารเผยแพร่ที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษ จะพบอย่างน้อยๆ 4 ประเด็นที่น่าห่วงกังวล กล่าวคือ
1.หัวข้อของคำแถลง ใช้คำว่า "Common Understanding" ซึ่งหมายถึง "ความเข้าใจร่วมกัน" ไม่ใช่ "ข้อตกลง" อย่างเป็นทางการ แม้เนื้อหาจะอ้างถึงการพูดคุยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ก็อ้างถึงในลักษณะของ "ความเข้าใจที่เห็นพ้องต้องกัน" ว่าจะร่วมกันทำให้เดือนรอมฎอนปลอดเหตุรุนแรง
อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารคำแถลงไม่มีลายเซ็นของตัวแทนคณะพูดคุย ไม่มีตราประทับขององค์กรแต่อย่างใดทั้งสิ้น ผิดกับการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 ที่ยังมีการลงนามของหัวหน้าคณะพูดคุย และมีตราประทับขององค์กรทั้งไทยและบีอาร์เอ็น จึงกลายเป็นคำถามว่าถ้อยแถลงนี้มีน้ำหนักแค่ไหน
สอดรับกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงบางรายที่ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เนื้อหาในถ้อยแถลงเหมือนเป็นรายงานผลการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.มากกว่า เพราะไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับมาตรการ และยังไม่มีสภาพบังคับกับฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม นอกจากถ้อยคำในลักษณะที่ว่าใครไม่ปฏิบัติก็จะถูกประณาม คล้ายเป็นมาตรการทางสังคมเท่านั้น ทั้งๆ ที่น่าจะมีการระบุลงไปด้วยว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติ จะส่งผลต่อการพูดคุยหรือเจรจาในอนาคต
2.การเลือกใช้คำเกี่ยวกับมาตรการที่แต่ละฝ่ายรับว่าจะดำเนินการ แม้จะกำหนดไว้เพียงกว้างๆ แต่กลับเลือกใช้คำที่มีความหมายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยในฝ่ายของบีอาร์เอ็น ใช้คำว่า "put an effort" ซึ่งหมายถึง "พยายาม" และ "consideration" ซึ่งหมายถึง "การพิจารณา" หรือ "ให้ความสำคัญ" โดยทั้ง 2 คำใช้กับข้อเสนอสำคัญคือการไม่ก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ
แต่สำหรับฝ่ายไทยกลับใช้คำว่า "refrain" ซึ่งหมายถึง "ระงับ" หรือ "งดเว้น" ต่อการปฏิบัติการเชิงรุกต่างๆ รวมทั้งเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วย
เท่ากับว่าบีอาร์เอ็นแค่ "พยายามทำ" ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทย "ต้องทำ" ใช่หรือไม่ หรือการใช้คำแบบนี้เพื่อสื่อว่าบีอาร์เอ็นเองก็ยอมรับกลายๆ ว่าไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้ทั้งหมดหรือเปล่า
3.การกล่าวถึงอำเภอ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ที่อยู่ในขอบข่ายของคำแถลงนี้ ประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ปรากฏว่าในคำแถลงภาษาอังกฤษกลับใช้ตัวสะกดที่ออกเสียงชื่ออำเภอไม่ตรงกับภาษาไทยจำนวน 3 อำเภอ คือ อ.จะนะ ใช้คำว่า "Chenak" อ.เทพา ใช้คำว่า "Tiba" และ อ.สะบ้าย้อย ใช้คำว่า "Sebaya" ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นการออกเสียงแบบมาเลย์หรือมลายูหรือไม่
ในขณะที่ อ.นาทวี กลับใช้ภาษาอังกฤษที่ออกเสียงตรงกับภาษาไทย คือ "Nathawi" เช่นเดียวกับสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ตัวสะกดภาษาอังกฤษตรงตามชื่อจังหวัดอย่างเป็นทางการของไทย ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา คำถามคือเหตุใดจึงมีความลักลั่นเช่นนี้เกิดขึ้น
4.กรณีของ "อ.สะเดา" เหตุใดจึงติดกลุ่มพื้นที่ปลอดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยจะต้องไม่มีปฏิบัติการทางทหารในเชิงรุกด้วย ทั้งๆ ที่ อ.สะเดา ไม่ได้เป็นพื้นที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหมือนกับอีก 4 อำเภอที่เหลือของ จ.สงขลา และไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่มั่นคงแต่อย่างใด
สะเดา..ได้ไง?
ประเด็นของอำเภอที่ 5 ฝ่ายบีอาร์เอ็นเคยพูดถึงมาแล้วในคลิปวีดีโอคำแถลงของนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ยื่นเงื่อนไข 7-8 ประการแลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.2556 แต่ครั้งนั้นไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นอำเภออะไร แต่เป็นการขยายขอบเขตพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบเกินกว่าความเข้าใจของรัฐบาลไทยที่ขีดกรอบไว้ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ประเด็นเรื่อง อ.สะเดา หนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพอธิบายว่า ทราบเรื่องและได้หารือกันแล้วตั้งแต่ทางมาเลเซียส่งร่างคำแถลงมาให้พิจารณา ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ได้ดูแล้ว แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นแค่คำแถลง ไม่ใช่ข้อตกลงและไม่มีการลงนามใดๆ
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง มองต่างมุมว่า หากเป็นแค่คำแถลง ควรประกาศเฉพาะเจตนารมณ์ยุติความรุนแรง แต่ไม่ควรลงรายละเอียดพื้นที่หรือระบุชื่ออำเภอ เพราะขณะนี้ยังไม่อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติตามข้อตกลง
บัวแก้วไปไหน?
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง กล่าวเรื่องนี้ว่า กรณีความผิดพลาดลักลั่นที่เกิดขึ้นไม่ว่าเกิดโดยจงใจหรือไม่จงใจ ทางการไทยสมควรทักท้วง ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลยเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย มิฉะนั้นสุดท้ายหากข้อพิพาทบานปลายกลายเป็นเรื่องดินแดน จะกลายเป็นโดน "กฎหมายปิดปาก" เหมือนกรณีปราสาทพระวิหารหรือไม่
หรือหากสถานการณ์ไม่บานปลายไปขนาดนั้น เอาแค่รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นจะตกลงกันต่อไปในเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ก็สุ่มเสี่ยงที่บีอาร์เอ็นจะผนวกเอา อ.สะเดา เข้าไปรวมอยู่ด้วย เท่ากับเป็นการขยายพื้นที่พิพาทจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา กลายเป็น 3 จังหวัดและ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งต้องถามคนในพื้นที่ด้วยว่าคิดอย่างไร
ในขณะที่ อ.สะเดา เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีด่านชายแดนที่มีมูลค่าการขนส่งสินค้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และสูงที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง
"เรื่องแบบนี้ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะการใช้คำในภาษาอังกฤษ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะส่งผลถึงการเจรจาและข้อตกลงในอนาคต น่าแปลกที่ทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยจนถึงป่านนี้ยังไม่มีตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ (บัวแก้ว) เข้าร่วม และเท่าที่ทราบเอกอัครราชทูตไทยประจำกัวลาลัมเปอร์ ก็ไม่ค่อยได้มีส่วนเกี่ยวข้องสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก"
บท(ไม่ยอม)เรียน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า อย่าไปคิดว่าเนื้อความในเอกสารต่างๆ จะแปลหรือตีความอย่างที่เราคิดหรือเข้าใจ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่ได้คิดแบบเราก็ได้ การมีแถลงการณ์ร่วมแม้ไม่ได้ลงนามแต่ก็จะมีผลผูกมัดต่อไปในอนาคต หากเราปล่อยผ่าน ไม่ยอมท้วงติงให้เป็นหลักฐานเอาไว้ อาจเสียค่าโง่เหมือนกรณีปราสาทพระวิหาร
"เราเคยมีบทเรียนความผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่นำมาเรียนรู้ กลายเป็นบทไม่ยอมเรียน ในส่วนของคณะพูดคุยเจรจาเราเข้าใจว่ามีความปรารถนาดี อยากให้สันติภาพเกิด แต่ความปรารถนาดีต้องมีกึ๋นด้วย เพราะการพูดคุยเจรจาเป็นการชิงไหวชิงพริบและชิงความได้เปรียบกัน โดยมีความมั่นคงและชีวิตผู้คนเป็นเดิมพัน" แหล่งข่าวระบุ
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นอ่อนไหวที่คณะพูดคุยสันติภาพและรัฐบาลต้องมีคำตอบ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาคารเทศบาลเมืองสะเดา จ.สงขลา
2 เอกสารคำแถลงความเข้าใจร่วมกันเรื่องริเริ่มสันติภาพเดือนรอมฎอน
ขอบคุณ : ภาพอาคารเทศบาลเมืองสะเดาจากเว็บไซต์เทศบาลเมืองสะเดา http://www.sadaocity.go.th/th/infomation.php