ขานรับบีอาร์เอ็นหยุดยิงรอมฎอน - จี้รัฐทำ "โรดแมพ" หวั่นใช้ความรุนแรงต่อรอง
"บีอาร์เอ็นจะพยายามไม่สร้างความรุนแรง รวมไปถึงการทำร้ายโดยใช้อาวุธ การวางระเบิด ลอบโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และบีอาร์เอ็นพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่มีการลอบทำร้าย หรือสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินทางราชการหรือสาธารณะ รวมทั้งให้คำมั่นถึงสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยกับบุคคลศาสนาอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม"
เป็นตอนหนึ่งของคำแถลงจาก ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ได้แถลงถึง "ความเข้าใจร่วมกัน" ระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็นในการยุติความรุนแรงห้วงเดือนรอมฎอนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และห้าอำเภอใน จ.สงขลาของไทย ซึ่งได้ตกลงกันไว้ในการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการรอบที่ 3 เมื่อ 13 มิ.ย.2556
ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่ายินดี และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับ "โต๊ะพูดคุยสันติภาพ" ที่ถูกมองว่าง่อนแง่น ไม่น่าเชื่อถือจากหลายฝ่ายมาโดยตลอด
เสียงจากคนพื้นที่ชายแดนใต้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องขานรับอย่างคึกคัก นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีในเดือนถือศีลอดประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1434 และคำกล่าวใดๆ ในเดือนนี้อัลเลาะฮ์จะทรงรับด้วย ถือเป็นสิ่งดีงาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประตูนรกปิด ประตูสวรรค์เปิด เพราะฉะนั้นการพูดดี คิดดี และปฏิบัติดี จะเป็นที่ยอมรับของสังคม และจะเป็นที่ยอมรับของอัลเลาะฮ์
"ผมคิดว่าทุกคนจะชื่นชม มุสลิมเองก็จะถือศีลอด ละหมาด และขอพรจากพระเจ้าด้วยความสบายใจ ถูกต้องตรงตามประเพณีปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจว่าเราคุยกันได้ เราเจรจากันได้ และพวกเรายินดีที่จะสนับสนุนสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ด้วย หลังจากนี้คงต้องทดสอบดูว่าการพูดคุย การเจรจา หรือการแถลงที่ออกมาจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน" นายนิมุกล่าว และแสดงความคาดหวังว่า หากผู้เจรจาคือ "บีอาร์เอ็น" สามารถพูดคุยกับกลุ่มอื่นให้หยุดก่อเหตุรุนแรงในช่วงนี้ด้วยได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มองว่า กระบวนการสันติภาพได้ดำเนินมาอย่างเป็นลำดับ และจะก้าวต่อไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทุกฝ่ายต้องอดทน ยืนยันว่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ได้รับสัญญาณดีๆ จากในพื้นที่มากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองที่แตกต่างจากหน่วยข่าวความมั่นคงซึ่งได้ประเมิน "ฉากทัศน์" หรือ scenario ของสถานการณ์ชายแดนใต้และกระบวนการสันติภาพในห้วงเดือนรอมฎอนเอาไว้หลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ การยุติความรุนแรงได้เกิดขึ้นจริงในห้วงรอมฎอน ซึ่งหากแนวโน้มเป็นเช่นนั้น คืออาจไม่ถึงกับยุติเด็ดขาด แต่ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะทำให้บีอาร์เอ็นมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นบนโต๊ะเจรจา เพราะบีอาร์เอ็นได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้จริง
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยยอมรับเช่นกันว่า ผิดคาดที่บีอาร์เอ็นแสดงท่าทีแบบนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้รับเงื่อนไขใหม่ 8 ข้อ และข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ซึ่งทางแกนนำใช้เป็นเงื่อนไขในการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนตามที่แถลงผ่านคลิปวีดีโอในเว็บไซต์ยูทิวบ์ ฉะนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ที่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นเตรียมแผนไว้แล้วเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้สูงขึ้นไปอีก
แต่กระนั้น ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าข้อความต่างๆ เป็นการสื่อสารจากผู้อำนวยความสะดวก คือมาเลเซียเท่านั้น ในขณะที่บีอาร์เอ็นไม่ได้ปรากฏตัวแล้วแถลงด้วยตัวเอง
สอดรับกับ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นชาว จ.ปัตตานี ที่บอกว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่บีอาร์เอ็นส่งสัญญาณชัดเจน แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือการปฏิบัติว่าจะสามารถทำได้จริงตามที่ประกาศหรือไม่
"ในฐานะคนพื้นที่ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการแถลงข่าวโดยทางการมาเลเซีย และเป็นครั้งแรกที่ผู้อำนวยความสะดวกได้ออกมาแถลงต่อสาธารณะ และดีใจที่คู่เจรจาให้ความสำคัญกับเดือนรอมฎอน"
นายอนุศาสน์ เห็นว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ หลังจากเดือนรอมฎอน หรือผ่านพ้น 40 วันที่บีอาร์เอ็นกำหนดกรอบเวลาไว้แล้ว สถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร
"ต้องไม่ลืมว่าช่วงก่อนเดือนรอมฎอนสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ได้ทวีขึ้นอย่างผิดปกติ เหมือนเป็นการเร่งก่อเหตุก่อนถึงเดือนรอมฎอน จากนั้นก็มาประกาศยุติก่อเหตุเป็นเวลา 40 วัน เป็นการประกาศกรอบเวลาชัดเจน หลายคนสงสัยว่าทำไมต้อง 40 วัน ทำไมไม่ขยายต่อไปเรื่อยๆ เพราะบีอาร์เอ็นก็อยู่ในกระบวนการสันติภาพแล้ว"
"ฉะนั้นหากนำบทเรียนช่วงก่อนรอมฎอนที่มีเหตุรุนแรงมากผิดสังเกต โดยเฉพาะกรณีระเบิดทหาร 8 ศพมาพิจารณา ก็จะน่าห่วงว่าช่วงหลังเดือนรอมฎอน คนในพื้นที่ต้องหวาดผวากันอีกครั้งหรือไม่ ถ้าให้ผมพูดแทนคนในพื้นที่ก็ต้องบอว่าการยุติเหตุรุนแรง 40 วันช่วงเดือนรอมฎอนเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องมุสลิม และพี่น้องพุทธก็รู้สึกเหมือนกัน แต่คำถามคือในเมื่อเราร่วมกระบวนการสันติภาพกันแล้ว น่าจะปฏิบัติได้ต่อไปทุกๆ เดือนหรือไม่ เพื่อให้การพูดคุยเจรจาเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น"
นายอนุศาสน์ ย้ำว่า หากบีอาร์เอ็นยุติเหตุรุนแรงได้จริงก็ควรปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ เพราะชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่น่าจะต้องสูญเสียอีกแล้ว
"ผมกลัวว่าหลังจากนี้จะเอาความรุนแรงมาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเปล่า ซึ่งไม่มีใครรับได้ เพราะถ้าฝ่ายขบวนการควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก่อนถึงรอมฎอนก็เร่งก่อเหตุหนัก ก็เท่ากับเป็นยุทธวิธีของเขาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ผมห่วงเรื่องเอาเงื่อนไขความรุนแรงมาต่อรอง อย่าลืมว่าสากลไม่เคยยอมรับการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือกดดัน ผมกลัวจะมีสถานการณ์ในลักษณะ พรีรอมฎอน กับ โพสต์รอมฎอน เกิดขึ้น"
ส.ว.จาก จ.ปัตตานี ยังเรียกร้องให้ทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเร่งจัดทำ "โรดแมพ" หรือแผนที่เดินทางเพื่อนำไปสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพอย่างยั่งยืนร่วมกับบีอาร์เอ็น เพื่อให้มีกรอบการทำงานร่วมกันต่อไป ไม่ใช่ทำแค่สร้างภาพเฉพาะหน้าเหมือนที่หลายคนรู้สึกอยู่เท่านั้น
ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เสนอว่า สิ่งที่ควรทำอีกอย่างหนึ่งในขณะนี้ คือ การตั้งคณะกรรมการร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อร่วมตรวจสอบเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งน่าเชื่อว่าจะต้องมีบ้างอย่างแน่นอน
"ผมเสนอว่าอาจจะเป็นคณะกรรมการชุดไม่ใหญ่นัก ฝ่ายละ 5 คน เพื่อร่วมกันตรวจสอบเหตุรุนแรง มิฉะนั้นก็จะกล่าวหากันไปมาไม่จบ แต่เท่าที่ผมทราบยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ" พล.อ.เอกชัย ระบุ
ดูเหมือนในข่าวดีเรื่องการยุติเหตุรุนแรง ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพึงระวังอีกไม่น้อยเหมือนกัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตั้งด่านตรวจด่านสกัดช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะในเขตเมือง ฝ่ายความมั่นคงพยายามลดระดับการใช้กำลังทหารลง โดยเน้นใช้กำลังของ อส.และกองกำลังประชาชนมากขึ้น (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)