รู้จัก 'เค วอเตอร์' ผ่านบทเรียนโครงการสี่แม่น้ำ
บทความโดย พ.ต.ท.ปริญญา เจริญบัณฑิต นักเรียนปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลี (Urban and Regional Planing Seoul National University) โพสต์ผ่านเฟซบุส่วนตัวที่ชื่อ Lek Parinya
บทความนี้ เป็นกรณีศึกษาของโครงการที่เควอเตอร์ ทำในประเทศเกาหลีใต้ของเขาเอง ชื่อ Four Major Rivers Project โครงการ Four Major Projects เห็นชื่อไทยเริ่มเห็นตามข่าว ว่าเป็น "โครงการปรับแต่งแม่น้ำสายหลัก สี่สาย" ผมจะเรียกว่า โครงการ"สี่แม่น้ำ"
1.ที่มาของโครงการ "สี่แม่น้ำ"
โปรเจค "สี่แม่น้ำ" นี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ในปี 1965 เขาอายุเพียง 24 ปี เขาเริ่มงานกับบริษัท Hyundai Construction (Hyundai เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท แชโบล (จริงๆ ต้องอ่านว่า แจบอล) ที่รัฐถือว่าเป็นบริษัทเอกชนเรือธง ที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่เกาหลี บริษัทพวกนี้ ได้แก่ ซัมซุง ฮุนได แอลจี เป็นต้น)
งานแรกๆ ของลี ที่ได้รับมอบหมายคือ งานก่อสร้าง ทางหลวงสายปัตตานี นราธิวาส ในประเทศไทยเรานี่เอง ซึ่งเป็นงานก่อสร้างแรกๆ ที่นำบริษัทก่อสร้างเกาหลีออกไปสร้างงาน และทำเงินนอกประเทศ
ลีทำงานได้เก่ง ประสบความสำเร็จในงานด้านการก่อสร้างในต่างประเทศอีกหลายงาน ในอายุสามสิบห้า ลี ได้เป็น ซีอีโอ ที่ถือว่าอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น อายุสี่สิบเจ็ดได้ขึ้นเป็น ประธานบริษัทที่อายุน้อยสุด อายุห้าสิบเอ็ด เข้าสู่การเมือง ในพรรคอนุรักษ์นิยม ที่มักจะเอาใจคนรวยเป็นปกติ ในอายุหกสิบเอ็ด ลีลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงโซล และได้รับเลือกจากภาพลักษณ์ผู้บริหารเอกชนที่ประสบความสำเร็จ โปรเจคที่สร้างชื่อให้ ผู้ว่าลี คือ โครงการฟื้นลำธาร "ชองเก" (Cheong gye cheon) ที่ประสบความสำเร็จมาก ด้วยการรื้อทางด่วนออก เพื่อนำลำธารกลับมา (เทียบกับบ้านเรา คงประมาณลดผิวถนนพระรามสี่ เพื่อเอา "คลองถนนตรง" กลับมา)
ใครมาทัวร์เกาหลีสี่ห้าปีที่ผ่านมา หนึ่งในโปรแกรมก็ต้องไปที่ ลำธารชองเก นี้กันทุกคน ตอนเริ่มโครงการชองเก คนก่นด่ามากมาย เพราะอยู่ๆ ก็มารื้อถนนออกจากที่รถติดกันอยู่แล้ว แต่นี่เป็นการบังคับให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น สร้างแหล่งพักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยว ฟื้นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองโซล เป็นแนวคิดที่ทวนกระแสการพัฒนาเมืองที่ต้องสร้างผิวถนนให้มากๆ เข้าไว้
จนกระทั่งนิตยสาร Time เลือกให้เป็น 'Hero of the Environment' เทียบเท่า รองประธานาธิบดี Al Gore ในปี 2007 ความสำเร็จในชีวิตเอกชน และการเมือง กับภาพลักษณ์บวกด้านสิ่งแวดล้อม เป็นบันไดให้เขาตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2007
เป็นเรื่องแปลก แต่จริงที่ ผู้สมัครประธานาธิบดีเกาหลีทุกคน เวลาหาเสียง มักจะมีโครงการเมกะโปรเจคมาขาย เป็นเหมือนภาคบังคับที่ต้องมี ถ้าไม่มี เหมือนจะไม่มีวิสัยทัศน์ที่จับต้องได้ ประธานาธิบดีลี ได้เสนอโครงการเมกะโปรเจคชื่อ Korean Grand Canal ด้วยการจะเชื่อม แม่น้ำฮั่น ที่ไหลผ่านโซล กับแม่น้ำ นักดงที่ไหลผ่านเมืองบูซาน (เทียบเป็นไทยคงประมาณเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำมูล เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าจากอุบลฯ มาออกอ่าวไทยได้)
โครงการต้องขุดคลอง ขยายและขุดลอกแม่น้ำ แก้ไขสะพาน ทำอุโมงค์น้ำลอดภูเขา ทำเขื่อน ทำฝายมากมาย เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้านการขนส่งในประเทศ การบริหารน้ำ สร้างแหล่งท่องเที่ยว และสร้างงานกว่าสามแสนตำแหน่งและเมกะโปรเจคนี่เอง จะทำให้ประเทศประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเศรษฐกิจที่วางไว้ คือ นโยบาย 747
7% GDP โตขึ้นต่อปี 4 หมื่นดอลล่าร์ สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ลี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2007 และเริ่มงาน เดือนกุมภาพันธ์ในปี 2008 แน่นอนว่า เขาทำตามสัญญา คือโครงการ Korean Grand Canal ราคา หนึ่งหมื่นหกพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรากฏว่า มีนักวิชาการค้านมากมาย ประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกว่าร้อยละ 80 ประธานาธิบดีลี เลยต้องถอย ด้วยการสั่งระงับการสนับสนุนทีมที่ศึกษาโครงการตอนปลายปี 2008 แต่ตอนปลายปี 2008 เศรษฐกิจโลกเริ่มมีปัญหา จากวิกฤตในอเมริกา เศรษฐกิจเกาหลีที่ผูกอยู่กับสหรัฐอเมริกาอย่างแยกไม่ออก ก็โดนไปด้วย GDP ติดลบครั้งแรกหลังปี 2000 ตัวเลขผู้ว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ
รัฐบาลเกาหลีจึงใช้วิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ "การก่อสร้าง เมกะโปรเจค" กุมภาพันธ์ 2009 ประธานาธิบดีลี ประกาศโครงการ Green New Deal หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียว (ล้อชื่อมาจากโมเดลกระตุ้นเศรษฐกิจสมัย ประธานาธิบดีรูสเวลที่ชื่อ "New Deal" ตอนเศรษฐกิจถดถอยช่วงปีทศวรรต 1930 ในอเมริกา) โครงการ Green New Deal มีโครงการหลักคือ "Four Major Rivers Project" ผมขอเรียกชื่อง่ายๆ ว่า โครงการ "สี่แม่น้ำ"
โครงการนี้ จะยุ่งกับแม่น้ำหลักสำคัญสี่สายในประเทศเกาหลี คือ แม่น้ำฮัน แม่น้ำกึม แม่น้ำนักดง และแม่น้ำยองซัน (เปรียบกับบ้านเราน่าจะเป็น เจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำมูล แม่น้ำตาปี ประมาณนั้น) นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม ที่เคยคัดค้านโครงการ Korean Grand Canal บอกตรงกันว่า Four Major Rivers Project นี้ คือ Korean Grand Canal แบบไม่เชื่อมแม่น้ำนั่นเอง
2.โครงการสี่แม่น้ำ Four Major Rivers Project
บทความนี้ อยากให้ "เข้าใจเขา เข้าใจเรา" และการศึกษารู้จักกับโครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรสไตล์เกาหลี ที่เควอเตอร์เพิ่งทำเสร็จไปนั้น น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่บ้านเรา น่าจะเรียนรู้ไว้ เพราะมีสิ่งที่ผิดพลาด ทั้งแนวคิด และกระบวนการอยู่มากมาย อย่างน้อย เราไม่น่าจะเดินตามความผิดพลาดของเขา และตอนจบ จะเป็นเชิงคำแนะนำ ว่าเราไม่น่าทำอะไร และน่าจะทำอะไร
ผมรับรองว่า เรื่องโครงการสี่แม่น้ำนี้ จะไม่มีการด่าว่าใครให้เสียหาย ส่วนตัว ผมไม่ได้ไม่ชอบ หรือชอบรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง เป็นพิเศษ แต่ผมแค่ไม่ชอบ คนโกหก กับคนขี้โกง เท่านั้นเองจริงๆ
หลังจากประธานาธิบดีลี เมียงบัค ประกาศการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย Green New Deal ตอนต้นปี 2009 หนึ่งในเมกะโปรเจคในการนี้คือ โครงการสี่แม่น้ำ (Four Major Rivers Project) โครงการนี้จะทำคือ ขุดลอกแม่น้ำหลักสี่สาย ให้ได้ความลึก หกเมตรโดยเฉลี่ย รวมแล้วเกือบเจ็ดร้อยกิโลเมตร พร้อมสร้างอาคารพวกพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนริมแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้น สร้างทางจักรยานตลอดลำน้ำเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ สี่ข้อหลัก คือ
หนึ่ง-เพื่อเป็นที่กักเก็บน้ำยามแล้ง และป้องกันน้ำท่วม (คุ้นๆ นะครับ) ด้วยการสร้างเขื่อนและฝาย สิบหกจุด ในแม่น้ำสี่สาย
สอง-เพื่อสร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจทางน้ำ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน (เขาเขียนว่า "ชาวจีน" ในวัตถุประสงค์โครงการจริงๆ นะครับ)
สาม-เพื่อสร้างงานให้คนเกาหลีกว่า สองแสนตำแหน่ง จากงานก่อสร้าง และบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้าง สี่-เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในแม่น้ำ
แน่นอนว่า นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ขาประจำ เรียงหน้ากันออกมาคัดค้านเหมือนเดิม เริ่มจากคำทักท้วงว่า โครงการนี้คือ ภาคจำแลงของโครงการ Korean Grand Canal ที่พับไปก่อนหน้านี้ด้วยแรงต้านประชาชน ความเหมือนกัน เช่น การขุดลอก และขยายแม่น้ำ จำนวนและตำแหน่งเขื่อนที่จะสร้าง ยันไปถึงงบประมาณที่จะสร้าง คือประมาณ หมื่นหกพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนี่คือ โครงการ Korean Grand Canal เพียงแค่ไม่เชื่อมต่อแม่น้ำเท่านั้น
ตามด้วยการถล่มจากนักสิ่งแวดล้อมในเรื่อง การขุดตะกอนแม่น้ำ ให้ได้ลึก หกเมตร ต้องขุดตะกอน 570 ล้านลูกบากศ์เมตร ออกจากแม่น้ำสี่สาย (ตะกอนที่ว่า เอาไปถมสนามบินดอนเมืองได้สูงประมาณร้อยเมตร) ตามด้วยการรื้อตลิ่งธรรมชาติออก แล้วสร้างคันขอบหินและคอนกรีตขนาดใหญ่ แล้วปลูกต้นไม้ปิดทับหน้า สุดท้าย แม่น้ำธรรมชาติ จะถูกหั่นออกเป็นท่อนทะเลสาบเล็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถเรียกว่า "ฟื้นฟู" แม่น้ำ แต่เป็นการ "ฆ่า" แม่น้ำทั้งสี่สาย
ตามด้วยข้อท้วงติงของนักวิชาการเรื่องการที่โครงการ ไม่มีการศึกษาความคุ้มทุนของโครงการ (การคำนวณ สัดส่วนระหว่าง Cost and Benefit ที่ใช้บ่อยๆ คือ วิธี Cost-Benefit Analysis (CBA) โดยรัฐบาลไม่ยอมประกาศความคุ้มทุนของโครงการสี่แม่น้ำ เหมือนโครงการอื่นๆ อย่างโครงการ Korean Grand Canal ที่พับไป รัฐประกาศว่า ความคุ้มทุนอยู่ที่ 2.3 (คือ ประโยชน์ 230 จากการลงทุน 100)
อาจารย์ผมท่านหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ที่คัดค้าน โครงการ Grand Canal ท่านทั้งออกดีเบตทางฟรีทีวี และเป็นพยานในศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ท่านคำนวณด้วยหลักวิชาการอย่างไม่ลำเอียง เปิดเผยวิธีคิด (ไม่เหมือนฝั่งรัฐบาลที่ทุกอย่างเป็นความลับหมด) ได้ตัวเลขออกมาเทียบกับรัฐบาล แต่ได้ผลแค่ 0.05~0.28 เท่านั้น (คือ ประโยชน์ แค่ 5-28 ส่วน จากการลงทุน 100 ส่วน) เพราะว่า รัฐบาล จงใจตัดค่าบำรุงรักษา และค่าเสื่อมต่างๆ จากการคำนวณ
สำหรับโครงการสี่แม่น้ำนี้ แม้รัฐไม่ได้ประกาศตัวเลขที่ว่า แต่จากการคำนวณจากอาจารย์ท่านนี้ ตัวเลขออกมาแค่ 0.16-0.24 (คือ ได้ประโยชน์ แค่ 16-24 ส่วน จากการลงทุน 100 ส่วน) เห็นง่ายๆ คือ ไม่น่าคุ้ม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามด้วยไม้ตายคือ การท้วง และฟ้องร้องเรื่อง "การขาดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA" (คุ้นๆ ใช่ไหมครับ)
การที่ประธานาธิบดี ลี ประกาศว่า โครงการสี่แม่น้ำ จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2009 ทำให้มีเวลาจริงๆ ในการทำ EIA แค่ประมาณสี่สิบวัน ในเอกสาร EIA หลายพันหน้า ประกอบด้วยข้อมูลเก่าอายุมากกว่ายี่สิบปี ทั้งไม่มีการลงพื้นที่ รีบเร่งสรุปผลฯลฯ
การเคลื่อนไหวนี้ ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ และนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะ เรื่องการทำโครงการที่มีผลกระทบขนาดใหญ่กับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ "ไม่ควรรีบเร่ง" แต่สุดท้าย รัฐบาลมีการออกกฏหมายเพื่องดเว้นสำหรับโครงการนี้เป็นพิเศษในบางเรื่อง ทำให้โครงการสามารถเริ่มสร้างได้ตามที่ ประธานาธิบดีลี ประกาศไว้ตรงเวลา และ เควอเตอร์ คือผู้รับเหมาหลักในการดำเนินการทั้งหมด
เควอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจของเกาหลี ถือหุ้นโดยรัฐบาลเกาหลีมากกว่าครึ่ง ที่เหลือส่วนใหญ่ๆ เป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มบริษัท แชโบล (ตามที่อธิบายไว้ในตอนที่หนึ่ง) แน่นอนว่า เควอเตอร์ คือบริษัทรับเหมาก่อสร้างกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน ที่ทำตัวเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างด้านน้ำ รับงานทั้งใน และนอกประเทศ ภาระกิจหลักคือ การสร้างงานให้คนในประเทศเกาหลี หาเงินตราเข้าประเทศ ด้วยการเอาเทคโนโลยีการก่อสร้าง การจัดการน้ำ ออกไป
ผมอยากเปรียบเทียบกับ เทคโนโลยีไฟฟ้านิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ เสียงต่อต้านเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่ค่อยมี เนื่องจาก หนึ่งคือเขาไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว สองคือ เกาหลี มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นำเงินมาค้ำจุนเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นการค้านเทคโนโลยีไฟฟ้านิวเคลียร์ของคนเกาหลีเอง ก็เท่ากับการทำให้ชีวิตลำบาก ประเทศก็ลำบากไปด้วย
แม้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะมองข้ามๆ บางประเด็นเช่น ผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมไปก่อน ในแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการสี่แม่น้ำเอง ก็บอกตรงๆ ว่า นี่เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งออกไปทำเงินในต่างประเทศได้ ใครทำเงินให้เกาหลี ก็พระเอก เควอเตอร์ แน่นอนว่า รัฐบาลเกาหลี และบริษัทใหญ่ๆ จะได้ประโยชน์ก่อนใครเพื่อน ซึ่งตรงกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีตั้งแต่หลังสงคราม คือ "โตก่อน แล้วค่อยแบ่ง" คือให้บริษัทหัวๆ เช่น แชโบล โตก่อน และเชื่อว่า พวกนี้ จะดึงให้เศรษฐกิจที่เหลือในประเทศโตตามได้ และมีงานให้คนในประเทศทำ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีจริง และไม่จริง
จบตอนที่สองนี้ด้วยภาพลางๆ ถึงความลงตัวว่า รัฐบาลไทยอยากให้มีการลงทุน แก้ปัญหาเรื่องน้ำ รัฐบาลเกาหลีโดยเควอเตอร์ ก็อยากส่งออกเทคโนโลยีนี้มาให้ได้ มีผลประโยชน์ ทั้งบนโต๊ะ และใต้โต๊ะ(หรือเปล่า?) นักวิชาการไทยหลายท่านที่พอจะรู้ข้อมูลพวกนี้ ก็เดาได้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เควอเตอร์ จะได้ชิ้นใหญ่จากการประมูลโครงการจัดการน้ำในไทย ก็มัน Win Win ซะแบบนี้ ทำไมผลถึงจะไม่ออกมาเป็นแบบนี้
ตอนต่อไป จากความ Win Win นี้ มีอะไรที่ Lose Lose บ้าง ตอนต่อไปคือ "ผลกระทบจากโครงการ สี่แม่น้ำ"
3.ผลกระทบจากโครงการ สี่แม่น้ำ
โครงการสี่แม่น้ำ เริ่มต้นอย่างตรงเวลา ในเดือนพฤศจิกายน 2009 ด้วยการเริ่มการขุดลอกแม่น้ำให้ได้เฉลี่ยลึกหกเมตร ซึ่งรวมแล้ว ต้องขุดตะกอนประมาณ 570 ล้านลูกบากศ์เมตร ออกจากก้น และริมตลิ่งของแม่น้ำสี่สาย (มีนักเรียนเกาหลีท่านหนึ่งมากระซิบว่า ตะกอนถูกนำไปขายต่อราคาถูกให้กับโครงการถมทะเล อีกโครงการหนึ่ง โดยบริษัทแชโบลเอง ผมตามหลักฐานจากเขา แต่ยังไม่มีเป็นเอกสาร จึงเป็นแค่ข่าวลือที่น่ารับฟังไว้เฉยๆ)
ตามด้วยการรื้อตลิ่งธรรมชาติ ที่มีทั้งสาหร่าย พืชน้ำ กอหญ้าต่างๆ ออก แล้วสร้างคันขอบหินและคอนกรีตขนาดใหญ่ เพื่อให้รองรับการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่แน่นอน แน่นอนว่า แม่น้ำมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำมากขึ้น บวกกับการบริหารจัดการดีๆ น้ำจะไม่ท่วม น้ำจะไม่แล้ง ตลอดกาล
แปลกที่ การทำโครงการเหล่านี้ เขาลืมเรื่องง่ายๆ ไป นั่นคือ แม่น้ำ ไม่ได้มีแต่น้ำ ตะกอนและตลิ่ง แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า "ระบบนิเวศน์" อยู่ด้วย นี่คือสาเหตุที่นักสิ่งแวดล้อม มาบอกพร้อมๆ กันว่า โครงการนี้ไม่สามารถเรียกว่า "ฟื้นฟู" แม่น้ำ แต่เป็นการ "ฆ่า" แม่น้ำทั้งสี่สาย
เพราะการขุดแม่น้ำให้ลึกขนาดนั้น น้ำจะเปลี่ยนทั้งความเร็ว และอุณหภูมิ ซึ่งปลาจะเดือดร้อนที่สุด เมื่อปลาไม่มีตลิ่งให้พัก ไม่มีที่วางไข่ และเดินทางผ่านแม่น้ำที่ถูกหั่นเป็นท่อนๆ ไม่ได้ มันจะลดจำนวนลง และสูญพันธุ์ไปในที่สุด นกน้ำ เช่น นกกระเรียน Hooded Crane เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชีหนึ่งและสองของไซเตส สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ สำหรับพักอาศัย วางไข่ และหากิน ผลคือ การลดจำนวนจาก สามพันตัว เหลือแค่พันตัวหลังโครงการเสร็จ จำนวน นก และปลา ยังไม่กระทบตรงกับคนเกาหลีที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่ เข้าไปสู่ในภาคบริการ และอุตสาหกรรมแล้ว ประมงพื้นบ้าน กับระบบนิเวศน์ที่เสียไป จึงไม่เดือดร้อนมาก คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้ค่าชดเชย แถมด้วยมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น จากศักยภาพนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีมากขึ้น เกษตรกร ก็ไม่เดือดร้อน เพราะได้ผลดีจากเรื่องน้ำท่วม และภัยแล้ง
ผมเรียนมาปีนิดๆ ที่เกาหลี เท่าที่ลองคุยกับนักเรียนเกาหลี แม้หลายคนเป็นนักเรียนด้านสิ่งแวดล้อม เขาไม่ค่อยรู้จักคุณค่าของคำว่า "ความหลากหลายทางชีวภาพ" กันสักเท่าไหร่ อันนี้ต้องเท้าความไปถึงสังคมเกาหลี ที่สังคมส่วนใหญ่กลายเป็นสังคมเมือง (Urbanized) และสังคม
อุตสาหกรรม(Industrialized) ไปนานแล้ว เกาหลีไม่มีสัตว์ใหญ่ในป่า ตั้งแต่ต้นๆ ศตวรรตที่ยี่สิบ ปัจจุบัน นักล่าใหญ่สุดตามธรรมชาติคือ หมูป่า ตัวนาก พังพอน เทียบไม่ได้กับบ้านเรามีเสือ มีช้าง มีกระทิง มีกวาง ฯลฯ
เมื่อเขาไม่เคยเห็น "ความหลากหลายทางชีวิภาพ" มันก็ง่ายมากที่เขาจะไม่เห็นคุณค่ามัน เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของมนุษย์ คือความสำคัญอันดับหนึ่ง นก ปลา แมลง ต้นไม้ จะเดือดร้อน จะสูญพันธุ์เพื่อความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ เป็นสิ่งที่แลกกันได้ แลกกันแล้วคุ้ม ก็พร้อมจะแลก ปัญหาอย่างเดียวที่คนเมืองคิดว่าเดือดร้อนจากโครงการสี่แม่น้ำ คือ ปรากฏการณ์ Algae Blooms ในหน้าร้อนและฝนขาดช่วงนานๆ น้ำในแม่น้ำจะไหลช้าลง ทำให้สาหร่ายขนาดเล็ก เติบโตได้เร็วขึ้น เกิดปรากฏการณ์ Algae Blooms แม่น้ำทั้งสาย กลายเป็นเหมือน "ชาเขียวลาเต้" ที่ใช้บริโภค อุปโภคไม่ได้เลย
เมืองโซลต้องออกมาเตือนผู้ใช้น้ำประปาให้ต้มก่อนดื่ม และต้องลงทุนมากมาย เพื่อซื้อสารเคมี และโรยลงในน้ำเพื่อฆ่าสาหร่ายดังกล่าว คนที่ไปแวะชมโครงการสี่แม่น้ำ จะพบกับความสวยงามผ่านสายตา ที่เห็นท้องน้ำกว้างใหญ่ ต้นไม้ ทุ่งหญ้า มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม สนุกกับการขี่จักรยานริมทะเลสาบ แต่ในบางฤดู ถ้าเดินไปใกล้ๆ น้ำ น้ำจะมีกลิ่นเหม็นเน่าๆ เพราะระบบนิเวศน์พังไปเกือบหมดแล้ว ผมคุยกับอาจารย์ผังเมืองอีกท่านหนึ่ง ท่านเพิ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้กู้ชีพเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง ข้างๆ เขื่อนในแม่น้ำฮั่น เพราะแม่น้ำได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นทะเลสาบ วิถีประมงท้องถิ่น การเดินข้ามน้ำสายเล็กๆ ไปมาหาสู่ระหว่างชุมชน พังทลายลง
ผมถามอาจารย์ว่า ท่านจะทำอะไรได้? ท่านตอบแบบลอยๆ ว่า คงทำได้วางผังเมือง ให้รองรับนักท่องเที่ยว เพิ่มภูมิทัศน์และสวนสวยๆ ให้รองรับนักท่องเที่ยว และคนในเมืองนั้น ระลึกถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบที่มีแม่น้ำที่มีชีวิตอยู่ให้ได้ สายน้ำที่มีชีวิต มันตายไปแล้ว มันได้พลีกาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ไปแล้ว เศรษฐกิจ กับความเป็นอยู่คนนั้น Win Win ธรรมชาติ กับสายใยสังคม กลับเป็นผู้แพ้
ผมแค่ปิดตานึกภาพว่า สายน้ำที่บ้านเรานั้น มีความหลากหลายทางชีวภาพกว่าเกาหลีกี่ร้อยเท่า มีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน มากกว่าเมืองแน่ๆตึกๆ และโซนอุตสาหกรรมแบบเกาหลีกี่ร้อยเท่า แล้วการนำเทคโนโลยีสไตล์เกาหลี ที่แม้แต่ใช้ในประเทศเขา ยังมีปัญหาขนาดนี้ มาใช้กับบ้านเรา จะเหมาะจริงๆ เหรอ?
อาจารย์เดชา บุญค้ำ บรมครูแห่งภูมิสถาปัตยกรรม อดีตคณะบดีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยให้แนวคิดเรื่องผังเมืองของบ้านเราว่า "เราเปลี่ยนนาดีๆ เป็นเมืองเลวๆ" กันมามากแล้ว นี่เราจะเปลี่ยนสายน้ำดีๆ เป็นแอ่งน้ำนิ่งๆ เลวๆ กันอีกเหรอ?
จบตอนที่สามกันด้วยคำถามแบบนี้แล้วกันครับ ตอนต่อไป ตอนสุดท้าย จะเป็นข้อสรุปสำหรับคนขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ว่าเราน่าจะทำอะไร และไม่น่าจะทำอะไร
4.ทำไงดี?
การโจมตีบริษัทเควอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง หนี้สิน ประสบการณ์ เส้นสายกับคนใหญ่โตในรัฐบาล ความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะไร้ประโยชน์ เหมือนเล่นเกมการเมืองกันมากกว่า หนี้สินที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา หลักๆ ก็น่าจะมาจาก โครงการสี่แม่น้ำที่เล่าไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะรัฐบาลมีวัตถุประสงค์จะใช้เงินในเพื่อสร้างงานในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว
แต่ต้องไม่ลืมว่า เควอเตอร์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลเกาหลี เรียกง่ายๆ ว่า ไม่มีทางเจ๊ง เหมือนโครงการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เป็นการร่วมทุนเอกชนกับรัฐบาลของเกาหลี เช่น โครงการรถไฟเชื่อมสนามบินอินชอน รถไฟความเร็วสูงKTX ฯลฯ เมื่อมีทีท่าว่าไปไม่รอด รัฐก็จะเข้าอุ้มไว้เองหมด ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะมีเส้นสายกับผู้มากบารมีของรัฐบาลเราหรือไม่ เกาหลีเขาวางเป้าหมายที่จะส่งออกเทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบนี้ ออกไปหาเงินเข้าประเทศอยู่แล้วครับ
ถ้าตามไปดูตามเวบไซต์ของเควอเตอร์เองก็จะเห็นการโฆษณาผลงานที่ผ่านมา ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ เคนย่า รวันด้า อิรัก อัฟกานิสถาน เนปาล ศรีลังกา มองโกเลีย จนถึงภูมิภาคอาเซียน อย่าง ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จนล่าสุด คือ มาได้งานที่ประเทศไทย
จากกรณีศึกษาโครงการสี่แม่น้ำ อาจสรุปเป็น "เรื่องๆ" ได้ดังนี้
โครงการใหญ่ มีผลกระทบมากมาย ต้องไม่รีบเร่ง
จากโครงการสี่แม่น้ำ ความผิดพลาดที่ชัดเจนและร้ายแรงที่สุดคือ "การทำอย่างรีบเร่ง"
การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการขนาดใหญ่ ด้วยเวลาอันสั้น ผมคุยกับอาจารย์ชาวเกาหลีอีกท่านหนึ่ง ท่านนี้ออกจะเห็นด้วยกับโครงการสี่แม่น้ำ แต่ท่านบอกว่า ไม่น่ารีบทำ น่าจะทำอะไรเล็กๆ ก่อน ทดลองดูผลกระทบของมันก่อน เก็บข้อมูลทางวิชาการ ศึกษาให้เยอะๆ จากนั้นค่อยขยายผลเป็นลุ่มน้ำ และสี่ลุ่มน้ำ ผลกระทบทางลบจะน้อยกว่านี้
รัฐต้องคำนวณ และแจกแจงความคุ้มค่าของโครงการ
ที่ไม่ชัดเจนที่สุดของโครงการสี่แม่น้ำ คือการไม่เปิดเผยผลการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งนโยบายสาธารณะโดยทั่วไปแล้ว รัฐต้องทำการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เช่น การทำ Cost-Benefit Analysis (CBA) เป็นวิธีหนึ่ง และจำเป็นต้องเปิดเผย การคำนวณสัดส่วนของ Cost และ Benefit (ตัวอย่างอยู่ในตอนที่สองนะครับ)
กรณีเกาหลี รัฐเขามักจะคิดคำนวณฝั่ง Benefit ออกมาได้มากมาย แต่เมื่อถามถึงที่มาของรายละเอียดตัวเลข กลับเป็นความลับ และฝั่ง Cost กลับเป็นแค่ค่างานก่อสร้าง ค่าปูนซิเมนต์ ค่าเหล็ก ค่าชดเชยคนอยู่อาศัย ซึ่งจริงๆ แล้ว Cost ต้องรวมถึงความสูญเสียของระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป การเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ พันธุ์ปลาดั้งเดิม ดินตะกอนที่หายไปจากก้นแม่น้ำ การฟื้นความอุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนธรรมชาติ ฯลฯ
Cost ที่ว่าก็ต้องรวมการบำรุงรักษาระยะยาว ค่าเสื่อมของวัสดุ ฯลฯ Cost ที่ว่ายังต้องรวมถึงผลกระทบของผู้ถูกย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมืองเนื่องจากสูญเสียที่ทำกิน เป็นภาระกับเมืองในอนาคต แม้จะประเมินยาก แต่ประเมินได้ตามหลักวิชาการเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
รัฐต้องเสนอทางเลือกทางอื่นด้วย
ทางเลือกที่ว่า ไม่ใช่การที่รัฐ บอกจะทำฟลัดเวย์ แล้วให้ทางเลือกว่า จะทำฟลัดเวย์ผ่านทางใด? หรือเลือกกันว่า คันขอบคลองควรจะเป็นหิน หรือคอนกรีต?
คำว่า "ทางเลือก" ในที่นี้คือการตอบคำถามว่า ถ้าไม่ทำฟลัดเวย์ แล้วต้องทำอย่างอื่นเพื่อบริหารน้ำ จะทำอะไรได้อีก? ซึ่งการหาทางเลือกนี่เอง มันต้องย้อนกลับไปที่คำถามแรกๆ กันก่อนว่า ทำไมน้ำท่วม??
มันอาจเกิดจาก... การใช้ที่ดินเปลี่ยนจากป่าต้นน้ำกลายเป็นเขาหัวโล้น มีการปลูกพืชเชิงเดียวมากขึ้น พอฝนตกก็เกิดน้ำผิวดิน (Runoff) มาก? การใช้ที่ดินเปลี่ยนจากทุ่งน้ำหลาก (Flood Plain) กลายเป็นบ้านคน ถนน โรงงาน? แม่น้ำตื้นเขิน? เขื่อนคำนวณผิด? โลกร้อน? อื่นๆ อีกมากมาย
ทำไมน้ำแล้ง?? มันอาจเกิดจาก... ไม่มีป่าต้นน้ำ? ระดับน้ำใต้ดินลดลง? Demand ใช้น้ำภาคเกษตรมากเกินกว่าธรรมชาติจะSupply? การตั้งถิ่นฐานผิดที่? การปลูกพืชผิดฤดูกาล? โลกร้อน? อื่นๆ อีกมากมาย
ถ้าตอบว่า ใช่! น้ำท่วม น้ำแล้ง ก็ต้องสร้างเขื่อน ต้องทำฟลัดเวย์ ต้องขุดแก้มลิงเพิ่ม เหมือนตอนนี้เรา มี "ทุกข์" แล้ว ก็ไปหา "มรรค" เลย "สมุทัย" "นิโรธ" มันหายไป ซึ่งถ้าเรารู้ต้นเหตุกันจริงๆ ว่าทำไมน้ำท่วม น้ำแล้งเรื้อรังกันแบบนี้ ที่คำตอบมันได้จากงานวิจัย ต่างๆ งานสำรวจ ลงพื้นที่ เก็บเข้าฐานข้อมูล ทำระบบ GIS และแผนที่ที่สมบูรณ์ ฯลฯ
ซึ่งถ้าได้คำตอบแล้ว เราอาจไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม หรือฟลัดเวย์อะไรใหม่เลยก็ได้ ทางแก้อาจจะเป็น การปลูกป่าชะลอน้ำ, นโยบายลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว, หรือการทำป่าชายน้ำ ที่ช่วยลดภาระน้ำผิวดิน ฝายขนาดเล็ก? การปรับปรุงลำน้ำเดิม?
การให้ Incentive กับการทำเกษตรที่เหมาะกับพื้นที่ และเวลา? การวิจัยพืชที่ใช้น้ำน้อยลง? การสร้างเมืองให้ถูกพื้นที่? การสร้างบ้านเรือนให้อยู่กับน้ำได้? ออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน? อื่นๆ อีกมากมาย สำคัญคือ "เรา" รู้สาเหตุ "จริงๆ" กันแล้วเหรอ??
ซึ่งมาพูดกันแบบนี้ ตอนนี้ มันอาจจะสายไปแล้ว เพราะกระบวนการไปถึงการเลือกผู้รับเหมาเสียแล้ว... ผมไม่ได้ป่วนนะ แต่เราต้องคิด
ภารกิจของบริษัทแบบ เควอเตอร์ ที่เราควรจะเข้าใจอย่างยิ่งคือ เป้าหมาย ที่ เควอเตอร์ (และบริษัทรับเหมาะอื่นๆด้วย) ว่าคืออะไร? ง่ายๆ คือ ภารกิจเขาคือ ทำก่อสร้างให้เสร็จเร็วๆ ได้เงินเร็วที่สุด ได้กำไรกลับไปเยอะที่สุด ด้านข้อกำหนดต่างๆ แน่นอนว่าเขาจะทำทุกอย่างที่มัน Minimal ที่สุด
Minimal ในระดับที่สามารถผ่าน EIA และกม.สิ่งแวดล้อมเราที่มีอยู่ วิธีที่เขาทำงานง่ายที่สุดคือ เอา กม.และ EIA มากางเป็นคู่มือการทำโครงการซะเลย ทุกอย่างจะออกมาในรูปแบบที่ว่า "ทำแค่ผ่าน" เขาไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือสังคมที่อยู่นอกเหนือจากนั้นแน่ๆ
ยกตัวอย่างที่ใกล้ๆ ตัวผมเองคือ ผมเองเป็นสถาปนิก รัฐมีกฏหมายความคุมอาคาร เป็นกฏหมายป้องกันไม่ให้ผมทำเลว ไม่ออกแบบอาคารที่คนเข้าไปใช้แล้วจะอันตราย ถ้าสถาปนิก เอากฏหมายอาคารเป็นคู่มือออกแบบอาคารเมื่อไหร่ แสดงว่าอาคารนั้น มันปริ่มกับการก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คนเหลือเกิน หากมีความผิดพลาดในการก่อสร้าง หรือการใช้งานเพียงนิดเดียว ผู้ใช้อาคารจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายนั้นๆ ทันที
ฉะนั้น การทำเพียงแค่ผ่านกฏหมาย คือ ความเสี่ยง เมื่อเขาจะทำแค่ผ่าน ให้เสร็จๆ ไป ดูจากกรณีศึกษาโครงการสี่แม่น้ำแล้ว สิ่งแวดล้อมและสังคม จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ประกอบกับ ประชาชน และสายใยทางสังคมบ้านเรา ยังอยู่กับสายน้ำ และพึ่งพาธรรมชาติ มากกว่าเกาหลีหลายร้อยเท่า ยิ่งไปกว่านั้น ระบบนิเวศน์ ที่สมบูรณ์ และซับซ้อนกว่าประเทศเขตอบอุ่นอย่างเกาหลีใต้เป็นพันๆ เท่า
ฉะนั้น โครงการที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จะมีผลกระทบทางสังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จะรุนแรงขนาดไหน?
แล้วประเทศเรา ควรจะทำคืออะไร? หน้าที่ของรัฐเราสำคัญมากในงานนี้ ฝ่ายรัฐต้องปกป้องผลกระทบเรื่องพวกนี้ ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การบังคับให้เขาต้องศึกษา หาผลกระทบ เอานักวิชาการ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้าร่วม บทบาทของรัฐ คือ "ต้องอยู่ข้างประชาชน" ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เป็นฐานการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนขอพวกเราทั้งหมด และต้องอยู่ตรงข้ามกับ บริษัทแบบ เควอเตอร์ คอยตรวจสอบ คอยทักท้วง อย่างไม่ยืดหยุ่นปล่อยผ่าน
แต่หากรัฐบาล กับเควอเตอร์เป็นพวกเดียวกันแล้ว จะเป็นจุดเริ่มของความหายนะ เริ่มตั้งแต่การหรี่ตาในการบังคับใช้กฏหมาย แย่เข้าไปอีกคือ การช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การออกกฎหมายงดเว้นความเข้มด้านสิ่งแวดล้อมบางตัว เหมือนกรณีโครงการสี่แม่น้ำ และที่แย่ที่สุดคือ คนในภาครัฐเอง ตักตวงผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทรับเหมา
สำคัญที่สุดคือ รัฐเอง ต้องฟังความเห็นต่าง การไม่รับฟังความเห็นต่าง เสียงทักท้วง ไม่ว่าจากประชาชน นักวิชาการ จนถึงนักสิ่งแวดล้อม ยิ่งความคิดว่าทุกความเห็นขัดแย้ง ทุกเสียงทักท้วงเป็นการเมืองไปหมด อันนี้จะเข้าสู่หายนะของจริง อันความเสียหายทางธรรมชาติ และสังคม ที่เกิดจากโครงการสี่แม่น้ำ ในเกาหลีนั้น
จริงๆ แล้วจะโทษเควอเตอร์ทั้งหมดไม่ได้ คนที่น่าจะโทษคือ
หนึ่งคือ นักการเมือง ไม่ฟังคำทักท้วงของนักวิชาการและประชาชน มัวแต่คำนึงถึงแต่ผลดีด้านเศรษฐกิจ ลืมผลเสียที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมไป (ส่วนมีโกงกินกันหรือไม่ ก็กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบอยู่ตามข่าว)
และสองคือ ตัวประชาชนเอง ที่ไม่สนใจอะไรที่มันนอกเหนือจากประโยชน์ตรงหน้า นอกจากไม่มีข้อมูลแล้ว ก็ยังไม่สนใจที่จะหาข้อมูล ไม่ตั้งคำถามกับรัฐบาลตัวเอง ความเสียหายอย่างโครงการสี่แม่น้ำของเกาหลี มันพร้อมจะเกิดขึ้น และถ้ามันเกิดขึ้น มันเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว