น้ำไหลลงอ่างฯ น้อย กรมชลฯ เร่งเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(9 ก.ค. 56) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 32,139 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 17,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,168 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,200ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,147 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 177 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 760 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 5,800 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 198 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 279 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนอื่นๆ ยังรับได้รวมกันอีกกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 690 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 180 ล้านลูกบาศก์เมตร
อนึ่ง จากการติดตามสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลาง พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯน้อยตามไปด้วย กรมชลประทาน จึงให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยเน้นการใช้น้ำจากน้ำฝนให้มากที่สุด เพื่อลดการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งนี้ จะทำการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ +15 เมตร(รทก.) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้