โต๊ะเจรจาบีอาร์เอ็นที่ยังเปราะบาง กับข้อมูลสวนทาง "เป้าหมายอ่อนแอ" ลด
ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมากกับกระบวนการสันติภาพที่ชายแดนใต้ เพราะแม้แต่การแถลงข่าวยุติการก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน (เริ่มวันแรกวันที่ 10 ก.ค.) โดยผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการพูดคุยอย่างมาเลเซีย ก็ยังถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 9 ก.ค.2556 มีข่าวที่เปิดเผยจากทางฝ่ายความมั่นคงไทยเองว่า ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับแกนนำผู้เห็นต่างจากรัฐ ขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ได้นัดแถลงข่าวช่วงเย็นวันเดียวกันเกี่ยวกับมาตรการลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันจากการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ข่าววงในแจ้งว่า ตามแผนจะมีการแถลงร่วมกันระหว่างแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน กับผู้แทนคณะพูดคุยฝ่ายไทย โดยมี ดาโต๊ะซัมซามิน นั่งตรงกลาง ซึ่งมีข่าวว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เตรียมบินไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียแล้ว เพื่อไปร่วมโต๊ะแถลงข่าวในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย
ทว่าจู่ๆ ก่อนถึงเวลานัดก็มีการแจ้งยกเลิกการแถลงข่าวอย่างฉุกละหุก ขณะที่สื่อไทยบางสำนักจองตั๋วเครื่องบินเดินทางไปมาเลเซียแล้วด้วยซ้ำ
จึงมีเสียงวิจารณ์ให้ได้ยินว่าทำเหมือนเล่นขายของอย่างไรก็ไม่รู้...
มีข่าวว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ยินยอมเข้าร่วมโต๊ะแถลงข่าว เพราะยังไม่มั่นใจมาตรการลดการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมของฝ่ายความมั่นคงไทยที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพิ่งส่งรายละเอียดเป็นเอกสารไปให้เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้
หลายฝ่ายกังขากับเหตุผลตามที่เป็นข่าว เพราะเคยมีการระบุว่าแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันถูกทางการมาเลเซียบังคับให้ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่เต็มใจ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เนื่องจากแกนนำเหล่านี้ล้วนพำนักอยู่ในมาเลเซีย ทว่ากับกรณีล่าสุดที่ไม่ยอมเข้าร่วมแถลงข่าว เหตุใดแกนนำบีอาร์เอ็นจึงกล้าปฏิเสธรัฐบาลมาเลเซียได้
ทั้งๆ ที่หากการแถลงเกิดขึ้นจริง จะเป็นก้าวย่างอันสวยงามของมาตรการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยซึ่งเกิดเหตุรุนแรงรายวันมาร่วม 10 ปีเต็ม เพราะ นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เพิ่งมีคำแถลงอย่างเป็นทางการผ่านทางเว็บไซต์ของโอไอซี สนับสนุนข้อตกลงหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ภายหลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พาคณะพูดคุยสันติภาพเข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการโอไอซี ที่สำนักงานในประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งหมดคือความพยายามอีกครั้งของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยที่ต้องการให้สังคมไทยและสังคมโลกได้มองเห็นความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพ ท่ามกลางความคลางแคลงใจว่าการหยุดยิงหรือการลดเหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นจริงได้หรือ เนื่องจากช่วงเช้าของวันอังคารที่ 9 ก.ค. (ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน 1 วัน) ยังมีกลุ่มคนลึกลับนำป้ายผ้านับร้อยผืนเขียนข้อความเป็นภาษามลายู ตัวอักษรรูมี โจมตีรัฐไทยว่าโกหก หลอกลวง ใส่ร้าย โดยเรียกประเทศไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" ติดทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เลย
ขณะที่เงื่อนไขใหม่ 8 ข้อแลกกับการยุติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนตามที่นายฮัสซันแถลงเป็นคลิปวีดีโอผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.และส่งเป็นเอกสารให้รัฐบาลไทยในเวลาต่อมา เช่น ให้รัฐบาลไทยถอนกำลังทหารและตำรวจจากภาคอื่นออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอของ จ.สงขลานั้น ก็เพิ่งถูก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) แถลงปฏิเสธอย่างเป็นทางการในนามรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. กระทั่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพส่อเค้ามืดมน
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่จัดทำโดยหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่บางหน่วย ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ความสูญเสียในส่วนที่เป็น "เป้าหมายอ่อนแอ" ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป ครู เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ปี 2447-2556 พบว่าปี 2550 มีประชาชนเสียชีวิตสูงสุด 471 คน ส่วนในปีอื่นๆ สถิติการเสียชีวิตของประชาชนอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยปีละ 200 รายขึ้นไป ยกเว้นปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (นับถึงวันที่ 4 ก.ค.2556) มีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือ 69 ราย ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของทุกปีตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบยอดผู้เสียชีวิตกลุ่มต่างๆ ที่ตกเป็นเป้าหมายของสถานการณ์ความไม่สงบในห้วงเวลาเดียวกัน ระหว่างก่อนกับหลังกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น คือเทียบระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 กับเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 พบว่าช่วงหลังพูดคุยสันติภาพเป็นช่วงที่ความสูญเสียของประชาชนทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บลดต่ำลงกว่าตำรวจ ทหาร และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีไฟใต้ด้วย โดยสามารถแยกแยะข้อมูลได้ดังนี้
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 มีตำรวจเสียชีวิต 7 นาย ทหาร 13 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 20 นาย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 81 ราย
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 มีตำรวจเสียชีวิต 8 นาย ทหาร 47 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 55 นาย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 43 ราย
สำหรับยอดผู้ได้รับบาดเจ็บก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 19 นาย ทหาร 92 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 111 นาย ขณะที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 401 ราย
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 25 นาย ทหาร 140 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 165 นาย ขณะที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 97 ราย
จากตัวเลขทั้งหมดนี้ หน่วยงานความมั่นคงที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ตั้งสมมติฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบเปลี่ยนเป้าหมายจากประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธแทน ซึ่งก็คือตำรวจ ทหาร เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยที่ให้งดโจมตี "เป้าหมายอ่อนแอ"
และหากสมมติฐานนี้เป็นจริง ย่อมหมายความว่าบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ มีตัวตนและสามารถสั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง จึงมีความชอบธรรมที่จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป
ส่วนข้อสันนิษฐานนี้จะเป็นจริงหรือไม่เมื่อพิจารณาร่วมกับบริบทอื่นๆ ด้วย...เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่ยังคงถูกตั้งคำถาม