เปิดวิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ‘บ้านเขวาชี’ ผู้นำเกษตรอินทรีย์อีสาน
‘บ้านเขวาชี’ ชุมชนเล็ก ๆ ในจ.ร้อยเอ็ด ที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้นำโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิถีเกษตรอินทรีย์ดินแดนอีสานของไทย สิ่งใดทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ยิ่งใหญ่อย่างมีความสุขได้...
ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ป้อนให้กับประชาชน เพื่อมุ่งหวังคะแนนเสียงทางการเมือง อาทิ โครงการบัตรเครดิตเกษตรกร โครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก ส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี
ซึ่งจากรายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ระบุว่า ครัวเรือนไทยร้อยละ 64 มีหนี้สินเฉลี่ยรวม 188,774.54 บาท/ครัวเรือน ขยายตัวกว่าปี 2555 ถึงร้อยละ 12
แต่สำหรับ ‘ชุมชนบ้านเขวาชี’ หมู่ 1, 2 และ 3 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด กลับไม่ประสบปัญหาดังกล่าวมากนัก ด้วยชาวบ้านที่นี่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ ‘หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ มาครั้นแต่อดีต ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเพียงใดก็ตาม จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับชาติ
"ฤทธิพงศ์ เยี่ยมโกสีย์" ผู้ใหญ่บ้านเขวาชี หมู่ 2 เปิดเผยว่า ชาวบ้านดำรงชีวิตด้วยวิถีความพอเพียงมานานแล้วตามอัตภาพของแต่ละครัวเรือน แต่ระยะหลังเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในชุมชนจริงจัง โดยเริ่มจากบ้านเขวาชี หมู่ 3 ริเริ่ม ‘โครงการหน้าบ้านหน้ามอง’ ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษในครัวเรือน โดยการนำเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น เช่น กระถิน ใบชะพลู มะระ ขี้เหล็ก ต้นหอม หรือแมงลัก มาปลูกในกระถางและพื้นที่ว่างบริเวณบ้าน
เมื่อดำเนินการได้ไม่นาน พบว่าสามารถลดรายจ่ายบางส่วนในครัวเรือนได้ ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เข้ามาสนับสนุนโครงการและผลักดันจนเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จ.ร้อยเอ็ด
“ต่อมาได้ขยายโครงการมายังบ้านเขวาชี หมู่ 2 และหมู่ 1 โดยจะเน้นการปลูกพืชผักสวนครัวในกระถางบริเวณหน้าบ้านคล้ายโครงการสวนผักคนเมือง เพราะการปลูกพืชในกระถางหน้าบ้านจะสร้างความสวยงามแก่บ้านเรือน” ผู้ใหญ่บ้านเขวาชี หมู่ 2 บอกเล่า พร้อมยกอีกเหตุผลหนึ่ง คนในชุมชนจะได้กินผักสด ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากปลูกหัวไร่ปลายนากว่าจะเก็บมาถึงบ้านพืชผักคงเฉาและสารอาหารลดลงเรื่อย ๆ
นอกจากความต้องการให้คนในชุมชนได้บริโภคพืชผักปลอดสารพิษแล้ว ยังคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนอื่นได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว จึงมีแนวคิด ‘ปลูกผักสวนครัวกึ่งธุรกิจ’
เริ่มต้นจากผักหวาน โดยเราจะมีแปลงเกษตรสาธิตให้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะทดลองเข้าสู่ระบบธุรกิจเข้ามาเรียนรู้ฟรี แต่จะต้องมีข้อตกลง คือ ห้ามใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น
เขายังยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ปลูกพืชผักสวนครัวแทนไม้ประดับไว้บริเวณบ้าน เพื่อถึงเวลาประกอบอาหารจะได้เดินไปเก็บผักสด ๆ มาใช้หรือนำมาบริโภคสด ๆ เป็นสาเหตุทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืน เพราะต่างดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่สงบและปลอดจากสารเคมีนั่นเอง
“บ้านเขวาชีทั้ง 3 หมู่ มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 2 จังหวัด เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ มุกดาหาร หนองคาย ราชบุรี มหาสารคาม” ผู้ใหญ่บ้านเขวาชี หมู่ 2 เล่าอย่างภาคภูมิใจ และว่าหลายครั้งที่คณะศึกษาดูงานมองบ้านเขวาชีเป็นชุมชนโบราณในอดีต เพราะมีวิถีชีวิตประจำวันไม่เร่งรีบ ที่สำคัญมีการปลูกพืชผักสวนครัวทุกครัวเรือน และสิ่งพิสูจน์ได้อีกหนึ่งอย่าง คือ
รถพุ่มพวงที่เข้ามาขายในพื้นที่ไม่สามารถจะขายผักได้เลย !
ผู้ใหญ่บ้านเขวาชี ยังวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลด้วยว่า ไม่มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงจริงจัง แต่กลับส่งเสริมให้ชุมชนใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยแทน ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ และต่อให้มีโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน ก็ไม่สามารถจะช่วยให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นได้ เพราะของกินของใช้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวแล้ว
ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงคือทางออกที่ดีที่สุดในสังคมปัจจุบัน เช่น เกษตรกรเลี้ยงวัวไว้ขาย ส่วนมูลวัวสามารถนำเป็นปุ๋ยในนาแทนปุ๋ยเคมี หรือนำมาทำเป็นก๊าซชีวภาพ
“รัฐบาลควรจริงจังกับการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชอินทรีย์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังพบกรมวิชาการเกษตรนำเข้าสารเคมีเกษตรจำนวนมาก จึงกังวลอาจส่งผลต่อสุขภาพคนในประเทศได้” ผู้ใหญ่บ้านเขวาชี หมู่ 2 ทิ้งท้าย
ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุตัวเลขการนำเข้าสารเคมีเกษตรปี 2554 ทั้งสิ้น 164,383 ล้านตัน มูลค่า 22,044 ล้านบาท นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมปีเดียวกัน พบการตรวจเลือดเกษตรกรมีสารเคมีตกค้างสูงถึงร้อยละ 32
นอกจากนี้รายงานการเฝ้าระวังโรค สํานักระบาดวิทยา มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันกําจัดแมลงศัตรูพืชระหว่าง พ.ศ.2545-2554 เฉลี่ยปีละ 1,840 ราย เฉพาะปี 2554 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารป้องกันกําจัดศัตรูพืชจากการทํางานและสิ่งแวดล้อม 2,046 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 41.06
"หนูพิณ วงศ์จันทร์เรือง" ชาวบ้านเขวาชี หมู่ 1 กล่าวว่า แม้ชุมชนจะขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงจริงจังได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดี อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษบริเวณหน้าบ้านแล้ว ยังร่วมมือกันสร้างอุโมงค์ผักไว้ที่เส้นทางสัญจรด้วย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับบุคคลภายนอก
เมื่อถามถึงสิ่งที่กังวล หนูพิณ เผยว่า ปัจจุบันปุ๋ยคอกหายากมาก เพราะชาวบ้านเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเพื่อการเกษตรน้อยลง แต่หันมาใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแทน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปุ๋ยคอกค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญ
"ลำดวน เถื่อนแสง" ชาวบ้านเขวาชี หมู่ 1 กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ไม่จำกัดเฉพาะการปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้าน แต่หมายรวมถึงการทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งหลายครอบครัวได้นำปุ๋ยคอกที่มีอยู่หว่านใส่นาข้าวและพืชผักสวนครัว หากเหลือจะขายกระสอบปุ๋ยละ 20 บาท แม้รายได้ไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้
“อดีตในชุมชนใกล้เคียงเคยมีวัวกินหญ้าที่ถูกฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าไว้จนตาย ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างกังวลและลดใช้สารเคมี สำหรับตนเองเคยกินแตงโมที่มีรถมาเร่ขาย เพียงไม่ถึง 30 นาทีก็รู้สึกแน่นหน้าอก และอาเจียน จนต้องหามส่งโรงพยาบาล” นางลำดวน กล่าว และแสดงความเห็นว่า หากจะส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาใช้วิถีแบบพอเพียงนั้น จะหวังพึ่งผู้นำหมู่บ้านคนเดียวไม่ได้ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
.............................................
‘บ้านเขวาชี’ ถือเป็นหนึ่งในชุมชนไทยที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง อันเกิดจากความร่วมมือของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งเชื่อว่าแบบอย่างข้างต้นคงจะสร้างแรงบันดาลใจแก่ชุมชนอื่นให้ตระหนักถึงความพอเพียง ภายใต้คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้...เอวัง .