เบื้องลึกลอบยิงครูสาวตาดีกา สะท้อนสารพัดปัญหาสุมไฟชายแดนใต้
เหตุร้ายรายวันหลายๆ เหตุการณ์ที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะเหตุยิงด้วยอาวุธปืนนั้น ถ้าเป้าหมายไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธแล้ว มักสรุปยากว่ามีสาเหตุจากอะไรแน่ เพราะแม้หลายกรณีชาวบ้านจะรู้อยู่แก่ใจหรือพอคาดเดาได้ แต่ทุกคนก็เลือกที่จะปิดปากเงียบเนื่องจากเกรงอำนาจมืด หลายเรื่องจึงถูกฉวยประโยชน์จากขบวนการข่าวลือ ก่อความขัดแย้งเข้าใจผิดให้บานปลายมากขึ้นไปอีก
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วในพื้นที่แห่งนี้ คู่ขัดแย้งและเลือกใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น ทว่ายังมีอีกหลายกลุ่มหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพลเถื่อน ลักขโมยขี้ยาง ค้ายาเสพติด น้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าหนีภาษี รวมไปถึงนักการเมืองที่ทำตัวเป็น "อภิสิทธิ์ชน" ทั้งดีกรีท้องถิ่นและสูงกว่านั้น
หลายๆ ครั้งบางกลุ่มบางฝ่ายเหล่านี้ก็จับมือกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หลายๆ ครั้งบางกลุ่มบางฝ่ายก็ขัดแย้งกัน ทั้งขัดแย้งกันโดยสภาพ เช่น เจ้าหน้าที่กับโจร และขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์...
แต่ไม่ว่าความขัดแย้งจะเกิดจากนิยามไหน คนที่เคราะห์ร้ายย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านตาดำๆ
ดังเช่นกรณีของ คอลีเยาะ กาเร็ง หญิงสาววัย 22 ปี ที่ถูกคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม-ฝ่าย ยิงเสียชีวิตเมื่อตอนบ่ายของวันที่ 29 มิ.ย.2556 ที่บ้านบือแนสือแต ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา โดยที่ในช่วงเช้าวันเดียวกันเพิ่งเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถยูนิม็อกของทหารที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ทำให้ทหารเสียชีวิตถึง 8 นาย จึงมีข่าวลือในท่วงทำนองป้ายสีเผยแพร่ทันควัน
ไม่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจจุดเกิดเหตุสังหารคอลีเยาะ รู้หรือไม่ว่าสาววัย 22 ปีรายนี้ตั้งครรภ์ได้หลายเดือนแล้ว เพราะในเอกสารสรุปข่าวของฝ่ายราชการไม่มีระบุว่าเป็นหญิงมีครรภ์ แต่คนในพื้นที่ ต.จะกว๊ะ รู้ดี และยังรู้จักเธอในฐานะครูตาดีกาที่ช่วยสอนหนังสือเด็กๆ ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย
บ้านปูนชั้นเดียวเลขที่ 9/1 ในหมู่บ้านลีเซ็ง หมู่ 5 ต.จะกว๊ะ คือบ้านสามีของคอลีเยาะ ผนังบ้านที่ก่ออิฐแบบหยาบๆ ไม่มีกระทั่งปูนฉาบ บ่งบอกถึงฐานะของผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดีว่าอยู่ในฐานะลำบากแค่ไหน แต่หลังจากคนในบ้านต้องเจอกับเหตุร้าย วันนี้ประตูบ้านได้ถูกปิดตาย...
ผู้ทราบเหตุการณ์เล่าว่า คอลีเยาะถูกยิงต่อหน้าต่อตา ด.ญ.อามานี สะแต ลูกเลี้ยงวัย 3 ขวบของเธอเอง เพราะเธอเพิ่งขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านเพื่อไปสอนหนังสือที่โรงเรียนตาดีกา เมื่อเสียงปืนดังขึ้นและรถจักรยานยนต์ของคอลีเยาะล้มลง ด.ญอามานี ได้วิ่งร้องไห้เข้าไปกอดแม่ ชาวบ้านที่ได้ยินเสียงปืนพากันวิ่งออกไปดู แต่เมื่อทุกคนเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุก็พบว่าคอลีเยาะเสียชีวิตแล้ว
ญาติของคอลีเยาะ เล่าว่า คนร้ายไม่ได้พรากชีวิตคอลีเยาะไปเท่านั้น แต่ยังพรากชีวิตลูกน้อยๆ ในครรภ์ของเธอไปด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านรับไม่ได้
จากปากคำของผู้คนในหมู่บ้าน ทำให้ทราบว่าชีวิตของคอลีเยาะต้องเผชิญแต่เรื่องเจ็บปวด และจำต้องฝืนทนกับแรงกดดันที่เข้ามากร้ำกรายชีวิตของเธอโดยที่ไม่ได้เชื้อเชิญ
"สามีของคอลีเยาะชื่อ ยูโซ๊ะ สะแต อายุราวๆ 27 ปี เขาไม่กล้าอยู่บ้านเพราะพี่ชายถูกยิง ทำให้คอลีเยาะต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง และเลี้ยงอามานีซึ่งเป็นลูกสาวของยูโซ๊ะกับภรรยาคนเก่า" ญาติคนหนึ่งของคอลีเยาะบอก
สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงรายวันมาร่วม 10 ปี ถูกตีตราว่าเป็นพื้นที่ "ไม่มั่นคง" อำนาจรัฐไม่อาจแผ่คลุมทุกตารางนิ้วได้ ทำให้ "คนถือปืน" มีอยู่ไม่น้อย ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช่เจ้าหน้าที่ และทำให้หลายๆ ความขัดแย้งถูกตัดสินด้วยปืนอย่างง่ายดาย
เหตุร้ายที่เรียกกันว่า "ยิงรายวัน" เกิดขึ้นดาษดื่นในสามจังหวัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ตำรวจต้องปิดคดีเพราะมิอาจหาสาเหตุที่เป็นเบื้องหลังการตายได้ และนั่นได้ทำให้ความหวาดกลัวแผ่คลุมไปทั่ว ดังเช่นที่เกิดกับยูโซ๊ะ สามีของคอลีเยาะ
ข้อมูลจากญาติๆ ของทั้งสองฝ่ายทำให้เรื่องราวบางส่วนแจ่มชัดขึ้น ปัญหาเริ่มจากครอบครัวของยูโซ๊ะถูกกดดันอย่างหนักจาก "คนถือปืน" ในพื้นที่ เมื่อก่อนเขาก็อยู่กับอามานีและภรรยาเก่าซึ่งเป็นแม่ของอามานี แต่จู่ๆ พี่ชายของเขา นายอายุ สะแต ก็ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางปี 2554 ทำให้ยูโซ๊ะรู้สึกกดดัน บางช่วงต้องหนีหายไปจากบ้าน กระทั่งฝ่ายหญิงทนไม่ไหว ตัดสินใจเก็บข้าวของจากไป ทิ้งอามานีไว้ให้ยูโซ๊ะเลี้ยง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอามานีอายุได้แค่ 2 ขวบเท่านั้น
ยังดีที่ยูโซ๊ะได้คอลีเยาะมาช่วยดูแลทั้งตัวเขาและลูก ทั้งคู่แต่งงานกันท่ามกลางเสียงคัดค้านของญาติๆ ฝ่ายคอลีเยาะ แต่เสียงทัดทานของผู้ใหญ่ก็ไม่อาจห้ามหัวใจของคนสองคนได้ ทั้งคู่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา โดยคอลีเยาะทำหน้าที่ดูแลอามานีอย่างดี จนอามานีรักและผูกพันไม่ต่างจากแม่ของเด็กน้อยเอง
ยูโซ๊ะตั้งใจเริ่มชีวิตใหม่กับครอบครัวใหม่ แต่เขาก็มีความสุขอยู่ได้ไม่นานก็ถูกกดดันจาก "คนถือปืน" ในพื้นที่ซ้ำอีก สุดท้ายเขาไม่กล้าอยู่บ้าน ต้องหนีหายไปจากหมู่บ้านจนคอลีเยาะต้องเลี้ยงอามานีตามลำพังอย่างยากลำบาก
แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำเมื่อคอลีเยาะถูกยิงเสียชีวิตไปอีกคน...
"อามานีเห็นเหตุการณ์ขณะที่คอลีเยาะถูกยิง คิดว่าภาพยังคงติดตาแกอยู่ ทำให้แกกลัวทุกครั้งที่เห็นปืน กลัวจนตัวสั่น ทุกๆ วันแกเอาแต่ร้องจะไปหาคอลีเยาะในป่าบริเวณจุดเกิดเหตุ เพราะแกเชื่อว่าแม่ของแกซ่อนตัวอยู่ในป่า" ญาติฝ่ายคอลีเยาะเล่า
ญาติคนเดิมเอ่ยต่อพร้อมด้วยเสียงทอดถอนใจว่า คอลีเยาะเป็นครูสอนตาดีกา ไปสอนทุกวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันอื่นๆ เธอรับจ้างกรีดยาง รายได้วันละไม่ถึง 200 บาท แค่พออยู่พอกินไปวันๆ เท่านั้น หากขาดเหลืออะไรญาติฝ่ายสามีก็จะหยิบยื่นให้บ้าง ช่วงไหนที่แม่สามีทำกับข้าวเยอะก็จะแบ่งมาให้กิน แต่ก็ไม่ใช่ทุกวัน
"คอลีเยาะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่คิดว่าจะต้องมาจบชีวิตแบบนี้ อยากรู้เหมือนกันว่าทำไมคนร้ายต้องทำเขาด้วย คอลีเยาะไปทำอะไรให้ใคร ที่ผ่านมาพื้นที่นี้ก็เป็นแบบนี้ ชาวบ้านถูกยิงทิ้งอย่างไร้ค่าตลอด สมัยก่อนเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ไม่ดีขึ้นเลย"
"ฉันเคยเดินทางไปพื้นที่อื่นแล้วรู้สึกดีใจที่เห็นเขาใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติสุข แต่ที่บ้านเราต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ กลัวอำนาจมืดที่รัฐเข้าไม่ถึง ก็แปลกใจเหมือนกันเพราะคิดว่ารัฐเองก็รู้ว่าพื้นที่นี้เป็นอย่างไร แต่กลับไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาเลยสักคน" ญาติของคอลีเยาะบอก
ชาวบ้านหลายคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ บอกว่า จะกว๊ะมีสารพัดปัญหา ทั้งอิทธิพล การเมือง ยาเสพติด และความไม่สงบ เมื่อขัดแย้งกันก็จะยิงตอบโต้กันไปมา เฉพาะช่วงเดือน พ.ค.ถึง มิ.ย.ก็ 4 ศพเข้าไปแล้ว ถ้านับคอลีเยาะด้วยก็เป็นศพที่ 5 เหยื่อบางรายเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ แต่บางรายก็เป็นเหยื่อของความขัดแย้งเรื่องอื่น
นอกจากนั้นสภาพพื้นที่ ต.จะกว๊ะ อ.รามัน ยังเปรียบเสมือนไข่แดงที่อยู่ตรงกลางของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเส้นทางทะลุไปได้ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลุ่มอำนาจเถื่อนจึงมักใช้เป็นพื้นที่หลบซ่อนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย เพราะก่อเหตุง่าย หนีไปพื้นที่อื่นก็ง่าย ทั้งหมดทำให้ปัญหาซับซ้อนและแก้ไขยากมากขึ้นไปอีก
นี่คืออีกหนึ่งความจริงจากชายแดนใต้...ความจริงที่ชาวบ้านผู้เผชิญปัญหารู้อยู่แก่ใจว่าหนทางสู่สันติภาพสำหรับพวกเขานั้นยังคงมืดมน!
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของคอลีเยาะ
2 ภาพเก่าๆ ของหญิงสาว
3 ถนนในหมู่บ้าน
4 เอกสารฝากครรภ์