แกะรอยเส้นทาง "ทักษิณ" ก้าวสู้ตำแหน่งที่ปรึกษาทรัพย์สินฯ แค่ "คิด" ก็ยากแล้ว (ทั่น)?
"..ข้อมูลที่ระบุว่าคนจากแดนไกล สนใจที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนในสำนักงานทรัพย์สิน เพราะรู้กันดีในสำนักงานว่า เป็นไปได้ยากมาก.."
“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะชนอีกครั้ง!!
เมื่อถูกระบุจากบุคคลในคลิปสนทนาลับ ว่า ต้องการเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
“ ..สมมุตินะ เอาอย่างนี้ดีกว่าพี่ พอเรื่องจบปุ๊บเนี่ย พอผมกลับบ้าน ก็ประกาศตั้งตรงนี้ไปเลย มันเท่ากับว่าพอประกาศมาปุ๊บนี่ กลายเป็นคนของ เท่ากับในวังเอาไปหนีบไว้แล้ว จบ! ไม่ต้องทำอย่างอื่น แค่เป็นที่ปรึกษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มันก็เหมือนโดนหนีบไว้ทางอ้อม เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมากี่ตำแหน่งก็ได้ เงินเดือนไม่ต้องมีก็ได้อยู่แล้ว...”
น่าสนใจว่า ทำไมตำแหน่งนี้ ถึงอยู่ในความสนใจของ "คนจากแดนไกล" ซึ่งถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในเจ้าของคลิปเสียงปริศนาขนาดนั้น?
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479
เดิมมีสถานะเป็นหน่วยราชการระดับกองในสังกัดกระทรวงการคลัง ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2481 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 30 มกราคม 2481, หน้า 886-888) และยกสถานะขึ้นเป็นนิติบุคคลเมื่อปี พ.ศ. 2491
มีหน้าที่ดูแลรักษาและบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำหนดให้แยกต่างหากจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งดูแลโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และจะทรงแต่งตั้งหนึ่งคนในจำนวนนี้ ให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ
ปัจจุบัน คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
เชาวน์ ณ ศีลวันต์ เป็นกรรมการ
สุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นกรรมการ
พนัส สิมะเสถียร เป็นกรรมการ
เสนาะ อูนากูล เป็นกรรมการ
นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นกรรมการ
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานฯ
วรรณวิมล ศุภประเสริฐ เป็นเลขานุการ
ข้อมูลระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นหุ้นใน 3 บริษัทหลัก คือ
1. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นประมาณร้อยละ 30 จำนวนประมาณ 360 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 72,000 ล้านบาท
- บจก.ทุนลดาวัลย์ - ถือหุ้นประมาณร้อยละ 2 จำนวนประมาณ 23 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 4,600 ล้านบาท
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นประมาณร้อยละ 21 จำนวนประมาณ 723 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 72,300 ล้านบาท
- บจก.ทุนลดาวัลย์ - ถือหุ้นประมาณร้อยละ 2 จำนวนประมาณ 80 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 8,000 ล้านบาท
3. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) (SET:DVS) - ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท
- สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นประมาณร้อยละ 87 จำนวนประมาณ 10 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 87 ล้านบาท
- การประมาณทรัพย์สินคร่าวๆของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในส่วนของสำนักงานมีประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยไม่รวมถึงทรัพย์สินอื่นอีกนับล้านล้านบาท
และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีทรัพย์สินในความดูแล เป็นที่ดินกว่า 54 ตารางกิโลเมตรในกรุงเทพมหานคร และ 160 ตารางกิโลเมตรในจังหวัดอื่น โดยทำสัญญาให้เช่าแก่หน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ และบุคคลทั่วไป
ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในความดูแลประมาณ 37,000 สัญญา ในจำนวนนี้มีการจัดประโยชน์หลายรูปแบบ ทั้งเพื่ออยู่อาศัยหาประโยชน์พอยังชีพ ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและสมาคม องค์กรที่ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจ แยกเป็นที่ดินในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 25,000 สัญญา และในส่วนภูมิภาค อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดลำปาง จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี รวมประมาณ 12,000 สัญญา
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังดำเนินการจัดตั้งบริษัทในเครือขึ้น 2 แห่ง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างๆ คือ 1. บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด – ทำหน้าที่บริหารการลงทุนในหุ้นอื่นๆ 2.บริษัท วังสินทรัพย์ จำกัด – ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่
ทรัพย์สินจึงมีมากมายมหาศาล!!
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า หลังจากที่คลิปเสียงสนทนาลับ ระหว่างชายสองคน ได้ถูกเผยแพร่ออกมา พร้อมความเห็นของชายคนหนึ่ง ที่ระบุว่า ต้องการจะเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาดังกล่าว
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคม ว่า นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านการเมือง ในเรื่องการส่งสัญญาณบ้างอย่างแล้ว ปัจจัยเรื่องทรัพย์สินก็เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้คนจากแดนไกล สนใจที่จะเข้ามานั่งทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้วย?
อย่างไรก็ตาม นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นหนึ่งในเจ้าของเสียงในคลิปปริศนาดังกล่าว
ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ตนไม่เคยได้ยินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความประสงค์ที่จะทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
"ส่วนใครจะดำรงตำแหน่งนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสำนักงานทรัพย์สินฯ"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พบว่า การแต่งตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยหลักการก็เหมือนกับองค์กรหรือบริษัททั่วๆ ไป อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งอยู่ที่ผู้อำนวยการสำนักงาน เมื่อแต่งตั้งใครแล้ว ก็จะมีการประกาศแจ้งเวียนให้รู้กันเป็นการภายใน ไม่ต้องเปิดเผยให้คนภายนอกรับรู้
"การแต่งตั้งที่ปรึกษาเป็นอำนาจของผู้อำนวยการโดยตรง"
ผู้สื่อข่าวยังได้รับการยืนยันว่า ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ปรึกษาจำนวนหลายสิบคน เข้ามาช่วยงานด้านต่างๆ ตามที่แต่ละคนมีความถนัด ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพราะเป็นเรื่องของการเสียสละเข้ามาทำงานมากกว่า
“ ข้อมูลที่ระบุว่าคนจากแดนไกล สนใจที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนในสำนักงานทรัพย์สิน เพราะรู้กันดีในสำนักงานว่า เป็นไปได้ยากมาก และเท่าที่ฟังข้อมูลจากในคลิปเสียง แล้วทุกคนก็รู้ดีว่าเขาต้องการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้เพราะอะไร” แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เกิดวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เป็นบุตรของ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี กับท่านผู้หญิงอรอวร อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกจาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นายจิรายุ เริ่มต้นทำงานครั้งแรกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายจิรายุได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2524
ต่อมาได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สืบแทนนายอบ วสุรัตน์ ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2528 และในรัฐบาลถัดมา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530
และได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกิดขึ้นในสมัย ในสมัยรัฐบาล "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์"
เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ เส้นทางการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนทรัพย์สินฯ จึงอาจเป็นเรื่องที่ "คิดได้" แต่ดูเหมือนจะ "เป็นไปได้ยาก" สำหรับคนชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน "ช่วงเวลา" และ"สถานการณ์" ที่ไม่เป็นใจแบบนี้
--------
อ่านประกอบ :
ดูชัดๆ (อีกครั้ง) “ถั่งเช่า”ยาบำรุงตัวใหม่ “ทักษิณ” แก้อ่อนเพลีย –ฟื้นฟูพลังเพศ ?