ป.ป.ช.ส่งหนังสือแนะนายกฯ อีกรอบ จี้เร่งระบายข้าวในโกดังรัฐ เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส
คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาศึกษาการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ปีการผลิต ๒๕๕๔/๒๕๕๕ ตามที่คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการการแทรกแซงราคาพืชผลและผลิตผลการเกษตรเสนอ และมอบหมายให้สำนักมาตรการป้องกันการทุจริต ดำเนินการสรุปข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเนื้อหาบางส่วนดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เข้าไปมีบทบาทในโครงการฯดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งในเรื่องของการป้องกันการทุจริต โดยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ตามนัยมาตรา ๑๙(๑๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ในเนื้อหาได้ลำดับให้เห็นถึงการดำเนินการ ตั้งแต่ ข้อเสนอแนะสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน ข้อเสนอแนะสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี... (ดูรายละเอียดได้จากเอกสาร โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลกับมาตรการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป.ป.ช. ) โดย ป.ป.ช. ได้เสนอ กรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ว่า หากรัฐบาลยังคงต้องการดำเนินการโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่สำคัญ ซึ่งได้หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงต่อรัฐสภา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรที่ได้เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และมีผลกระทบต่อการแข่งขันการส่งออกข้าวไทย เห็นสมควรให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
๑.การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรได้พิจารณา
๑) กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนดารผลิตที่เกาตรกรแบกรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และไม่บิดเบือนกลไกตลาด
๒) มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว
๓) ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
๒. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
(๑) การขึ้นทะเบียนรับรองเกษตรกร
๑) นอกเหนือจากการกำหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองเกษตรกรแล้ว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาให้มีและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริตที่จะได้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐ
๒) กำหนดให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมและจริงจังกับเกษตรกรที่ไม่สุจริต
(๒) การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล
๑) เพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี ๒๕๕๔/๕๕ ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก ที่มีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจะเกิดขึ้นได้ จึงเป็นการสมควรที่มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการฯ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาโดยเร็ว และต่อเนื่อง
๒) หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์กรการคลังสินค้า (อ.ค.ส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส
๓. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ได้พิจารณาและยืนยันว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการยกระดับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรในชนบทตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาทุประการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีมาตรการและกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีระบบการตรวจสอบให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) สั่งการให้หน่วยงานในกำกับ ดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือ หากตรวจสอบพบกรณีทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
๔.การตอบสนองของรัฐบาลต่อข้อเสนอแนะของป.ป.ช. รัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการไปหลายส่วน อาทิ กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรแบกรับภาระอยู่ การมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณา แนวหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลวกข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตร เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริง และสุจริตที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอแนะของกรรมการป.ป.ช. ประการสำคัญ คือ ในเรื่อของการระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส รัฐบาลยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
-
file download