ปฏิวัติสภามหาวิทยาลัย แสงสว่างปลายอุโมงค์? การศึกษาไทยสู่ระดับโลก
'ความเป็นสากล' ในการศึกษา เป็นประเด็นที่กำลังมีการพูดถึงและถกเถียงอยู่ในสังคมปัจจุบัน และประเด็นสำคัญนี้ มูลนิธิและสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและจัดเสวนาวิชาการในการประชุมสามัญ ประจำปี 2556 ในหัวข้อเรื่อง "มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเป็น World Class Universities ได้อย่างไร" ณ โรงแรมเรเนซองส์ (ราชประสงค์) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาร่วมเสวนาเปิดมุมมอง และหาคำตอบที่ว่า...
มหาวิทยาลัยระดับโลก หมายถึงอะไร ประเทศไทยควรจะเป็นไปทำไม มีเกณฑ์การวัดอย่างไร และรัฐบาลควรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่?
เปิดเวทีเสวนา... ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ เริ่มต้นตั้งข้อสังเกตว่า แวดวงการศึกษาไทย ไม่เคยมีการตั้งคำถามว่า เราจะเป็นมหาวิทยาทลัยระดับโลกกันหรือไม่ และมีคนจำนวนมากไม่อยากเป็น
"ครั้งหนึ่งผมไปประชุมที่ประเทศฝรั่งเศส มีการถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่ระดับโลกได้มากขึ้นหรือไม่ ช่วยให้นักศึกษาเลือกมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นหรือไม่ และช่วยให้ภาครัฐนำไปวางนโยบายส่งเสริมมหาวิทยาลัยชั้นดีอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งวันนี้มีผู้แย้งว่า... การจัดอับดับมหาวิทยาลัยโลกในปัจจุบันเป็นเหมือน 'เชื้อโรค' ชนิดหนึ่ง ที่มาทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกไปไม่ถึงไหน"
ผมว่าปัญหานี้ ต้องทำให้ชัด เพราะนิยามของคำว่า "มหาวิทยาลัยระดับโลก" ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ถ้ามองภาพที่ทำกันอยู่ในไทย มักจะเน้นแค่เรื่องวิจัย และการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ทั้งที่ควรจะเป็นแหล่งสร้างคน สร้างบัณฑิตไปรับใช้และทำประโยชน์เกื้อกูลสังคมจนเป็นที่ประจักษ์
แต่กลายเป็นการประเมินการสร้างความรู้เป็น 'ค่าน้ำหนัก' มากเกินไป จนทำให้เกิดการบิดเบื้ยวทางการศึกษา ซึ่งสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
การจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ศ.ดร.วิจิตร บอกว่า ต้องมุ่งสร้าง 3 ประการ คือ
1.สร้างคนคุณภาพ 2.สร้างความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนาอุตสาหกรรมและด้านต่างๆ 3.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ สิ่งที่ยากคือการประเมิน โดยเฉพาะประเมินเรื่องการสอน หากจะแก้จากการเป็นเชื้อโรค ต้องคิดเกณฑ์เพิ่มเติมที่มีตัวบ่งชี้ ดัชนีชี้ชัดเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ยืมมือใครมาวัด
อย่างไรก็ตาม การที่แวดวงการศึกษาไทยมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง พยายามและเฉียดเข้าไปในการจัดอันดับโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็แสดงให้เห็นว่าสำหรับประเทศไทยการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก คงไม่ไกลเกินเอื้อม
ส่วนจะก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้อย่างไรนั้น อดีต รมว.ศึกษาธิการ ชี้ว่า ลักษณะเฉพาะของระดับโลก ต้องไม่ใช่แค่วิจัยเท่านั้น!!
แต่ต้องเป็นแหล่งรวมอุดมปัญญาของอาจารย์ นักศึกษา มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการที่กำกับโดยสภามหาวิทยาลัยลงมาจนถึงองค์กรบริหารระดับต่างๆ มีเสรีภาพทางวิชาการ ผู้นำมีวิสัยทัศน์ มีวัฒนธรรมและมีทรัพยากรที่พอเพียง ทั้งการอุดหนุนของรัฐเพื่อสร้างงานวิจัย และสร้างคน
"การมีงบประมาณที่จำกัด คือปัญหาหลักของประเทศไทย เนื่องจากเป็นสังคมที่กำลังมีการพัฒนาในหลายด้าน ต้องลงทุนการศึกษามากขึ้น แต่การใช้เงินเพื่อการศึกษาในทุกระดับของเรายังไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย นอกจากใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ส่วนที่ควรได้รับการสนับสนุนก็ไม่ได้รับ เช่นกรณี การตัดงบวิจัยของมหาวิทยาลัย 9 แห่ง"
ที่สำคัญการจะก้าวสู่ระดับโลก แวดวงการศึกษาต้องเป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่ภาพรวมมหาวิทยาลัย 100 กว่าแห่งในไทย กลับมีอาจารย์ระดับปริญญาเอกรวมแล้วไม่ถึง 30% และระดับศาสตราจารย์ไม่ถึง 1% ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริการกว่า 100% เป็นอาจารย์ระดับปริญญาเอกทั้งหมด
และหากจะวัดที่ตัวเด็ก... ศ.ดร.วิจิตร บอกว่า มี 'ภาพลวงตา' ในการสอบแข่งขันแต่ละปี ว่ามีการดึงดูดเด็กเก่ง มีการแข่งขันกันมากนั้น แท้จริงแล้วแข่งขันกันเพียงไม่กี่สาขา เนื่องจากเด็กจะเลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับตนเอง และขอแค่สอบติด จึงไม่ใช่การแข่งขันทั้งระบบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ผนวกกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนเกิดน้อยลง เด็กประถมลดลงมาก
ในอนาคตคงต้องมี "นโยบายยุบมหาวิทยาลัย" กันบ้าง
ศ.ดร.วิจิตร มองแผนการศึกษาของรัฐด้วยว่า เป็นปัญหาของแวดวงการศึกษามาตลอด และเห็นด้วยกับแผน 15 ปีของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ระบุว่า...
ต้องปฏิรูปสภามหาวิทยาลัย เพราะหากสภามหาวิทยาลัยไม่ดี โอกาสในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่ระดับโลกก็ไม่มี ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งมีสภาฯ เป็นของอธิการบดีด้วยซ้ำ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์และไม่เกิดการตรวจสอบกันเองใดๆ
ขณะที่รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการ สกอ. บอกชัดว่าการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เป็นสิ่งที่แวดวงการศึกษาไทยทำได้ และต้องทำ ยกเว้นว่าจะน่าไม่อาย เพราะเป็นเทศเพื่อนบ้านกำลังนำหน้าไปไกล
อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่ระดับโลกไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีศิษย์เก่าประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือสังคมก็สามารถเป็นได้ แม้จะไม่ได้ถูกจัดอันดับในมหาวิทยาลัยระดับโลก
"การศึกษาระดับโลก กับการจัดอันดับการศึกษา อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คิดว่า ถ้าสร้างวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่ใครๆ ก็อยากมาเรียนเพราะชื่อเสียงที่ศิษย์เก่าสร้างไว้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว"
ทั้งนี้ เห็นว่า มาตรฐานการอุดมศึกษาของไทยต่ำเกินไป และมักมีการต่อรองขอให้ต่ำกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกที่จะขอให้มาตรฐานต่ำลง ซึ่งมุมมองเช่นนี้ เป็นปัญหาของวงการศึกษาไทยที่เป็นประเทศติดค่าเฉลี่ย เห็นใครได้คะแนนสูงไม่ได้ ขณะนี้จึงต้องการคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นสมอง เป็นต้นความคิดของชาติ
สำหรับเรื่องงบประมาณสนับสนุน รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา เห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยทุกแห่งพึ่งพางบประมาณรัฐ แต่แท้จริงแล้ว แต่ละแห่งควรมีงบประมาณเป็นของตนเอง ปลอดจากอิทธิพลใดๆ พึ่งพาตนเองได้ ผ่านร้อนผ่านหนาวได้โดยไม่ตาย อย่างในประเทศอินเดียได้รับงบสนับสนุนน้อยกว่าไทย แต่ก็ก้าวสู่ระดับโลกได้
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา หยิบยก หน้าที่ 4 ประการของมหาวิทยาลัยที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เคยรับสั่งไว้ว่ามีความสอดคล้องกับความเป็นระดับโลก ได้แก่
1.เป็นแหล่งให้กุลบุตรได้เสาะหาวิชา แหล่งเลี้ยงดู ทำนุบำรุงนักปราชญ์ผู้เสาะหาวิชา และใช้ผลนั้นมาสอนกุลบุตรได้ เป็นกิจสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยที่ต้องเป็นต้นความคิดของชาติ เป็นสถานเลี้ยงคนดีของชาติ
2.ผลของการเสาะหาวิชานี้ต้องวางเป็นแบบแผนการประพฤติของชาติ ทั้งทางธรรมและวิทยาศาตร์ เป็นเครื่องวัด เครื่องเก็บรวบรวม จำหน่ายเผยแพร่ความคิดของชาติ
3.มีกิจสอนศิลปะวิทยาศาตร์ เพื่อทำให้ผู้มาเรียนมีความรู้กว้างขวาง เห็นเหตุใกล้ไกล และใช้ความคิดที่ได้บังเกิดขึ้นด้วยการเรียน เป็นผลประโยชน์แก่คณะและอาจตั้งโรงเรียนฝึกฝนวิชาชีพบางชนิด ที่ต้องมีพื้นศิลปะวิทยาศาสตร์
4.มีกิจสอบไล่ เพื่อวัดความรู้ความสามารถและรับรองเป็นพยาน โดยให้ปริญญาแก่ผู้ที่สมควร
ด้านศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกแห่ง และการจะก้าวสู่ระดับโลกได้ จะต้องปฏิวัติระบบสภามหาวิทยาลัยใหม่
"อาศัย ร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปลอดจากฝ่ายการเมืองมากที่สุด มีระบบกองทุนอุดมศึกษา มีการดูแลพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาทั้งระบบ รวมถึงวางระบบธรรมาภิบาลในการบริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสภามหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ควรร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพราะจะเห็นได้ว่าขณะนี้ภาคเอกชนรายใหญ่ๆ ต่างตั้งสถาบันอุดมศึกษาผลิตกำลังแรงงานด้วยตนเองแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยไทยได้ จะต้องโน้มน้าวให้ รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยตามแนวทาง ช่วยวางนโยบายที่ชัดและร่วมผลักดัน